เงินดิจิทัล 10,000 บาท คลังยอมถอยยืมเงิน ธ.ก.ส. หันใช้งบปี 67-68

เงินดิจิทัล 10,000 บาท คลังยอมถอยยืมเงิน ธ.ก.ส. หันใช้งบปี 67-68

เงินดิจิทัล 10,000 บาท คลังยอมถอยยืมเงิน ธ.ก.ส. หันใช้งบปี 67-68
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท คลังไม่ยืมเงิน ธ.ก.ส. แล้ว หันใช้งบปี 67-68 พร้อมปรับวงเงินเหลือ 4.5 แสนล้านบาท

เว็บไซต์สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตว่า ที่ประชุมวันนี้ได้ข้อสรุป และปรับเปลี่ยนเงื่อนไขหลายด้าน เช่น การลงทะเบียนของประชาชน ร้านค้าเข้าร่วมโครงการ การทบทวนรายการสินค้า รูปแบบการใช้งานแอปพลิเคชัน กรอบวงเงิน เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ ซึ่งมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 15 ก.ค. 67 จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะแถลงรายละเอียดโครงการทั้งหมดในวันที่ 24 ก.ค. 67 ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ในวันที่ 30 ก.ค. 67

นอกจากนี้ ที่ประชุม ได้นำข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.และสำนักงบประมาณ มาหารือ รวมทั้งผลการศึกษาเพิ่มเติมของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยไม่ให้ตั้งงบประมาณมารองรับเอาไว้มากเกินไป เพื่อนำไปใช้พื้นฟูเศรษฐกิจด้านอื่น จึงกำหนดกรอบวงเงินรองรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 450,000 ล้านบาท จากกรอบเดิม 500,000 ล้านบาท แบ่งเป็น

  1. งบประมาณปี 2567 จำนวน 1.65 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท และงบประมาณจากการการบริหารจัดการในปีงบ 2567 อีก 4.3 หมื่นล้านบาท
  2. งบประมาณปี 2568 จำนวน 2.85 แสนล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณที่จัดสรรให้โครงการดิจิทัล วอลเล็ตไว้แล้ว 152,700 ล้านบาท และ ที่บริหารจัดการเพิ่มเติมในปีงบ 2568 อีก 132,300 ล้านบาท

โดยรัฐบาลยังกำหนดกลุ่มเป้าหมาย 50 ล้านคน เมื่อรัฐบาลเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์ไม่เกิน 30 กันยายน 67 ต้องดูยอดสรุปชัดเจนว่า ประชาชนสนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนเท่าใด หากครบตามเป้าหมาย 50 ล้านคน พยายามจัดสรรงบมารองรับให้ครบ 5 แสนล้านบาท ภายหลัง คาดระบบทุกด้านทำแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ของปีนี้

ข้อกำหนดการใช้จ่ายของประชาชนกับร้านค้ารายย่อย ที่ลงทะเบียนร่วมโครงการ ต้องใช้เงินภายในอำเภอตามบัตรประชาชน ใช้จ่ายซื้อสินค้าภายใน 6 เดือน ประชาชนไม่สามารถโอนให้ผู้อื่นหรือแลกเป็นเงินสด ใช้สำหรับซื้อของอุปโภคบริโภคเท่านั้น ไม่สามารถซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ ห้ามซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่สามารถซื้อสินค้าอบายมุข เช่น เหล้า บุหรี่ ไม่สามารถซื้อบัตรกำนัล บัตรเงินสด เพชร พลอย ทองคำ อัญมณี เพื่อให้เกิดการจ้างงาน และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่

ส่วนการซื้อขายสินค้ารอบที่ 2 ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ให้ขยายพื้นที่เป็นซื้อขายสินค้าได้ทั่วประเทศ และซื้อกับห้างขนาดใหญ่ได้ โดยร้านค้านำเงินดิจิทัลมาขึ้นเงินบาทต้องอยู่ในฐานภาษี และร้านค้าขึ้นเงินบาท ต้องผูกเบอร์มือถือลงทะเบียนรายเดือน ห้ามใช้ซิมการ์ดเติมเงิน รองรับระบบรักษาความปลอดภัย ส่วนการยืมเงินจาก ธ.ก.ส.ขึ้นอยู่กับที่ประชุมบอร์ดชุดใหญ่จะเลือกทางเดิมหรือไม่

คุณสมบัติผู้รับโอนเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นคนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป (นับอายุ 30 ก.ย. 67) ยกเว้นผู้มีรายได้เกิน 70,000 บาทต่อเดือน รายได้ต่อปี 840,000 บาท หรือมีเงินฝากมากกว่า 5 แสนบาท (ยอดเงินฝาก ณ 31 มี.ค. 67) ครอบคลุมคนไทย 50 ล้านคน ส่วนการลงทะเบียน หรือยืนยันตัวตนผ่านระบบ หรือแอปฯ ใด ขณะนี้หน่วยงานรัฐได้สร้างระบบเอาไว้รองรับเรียบร้อยแล้ว รอให้นายกรัฐมนตรีประกาศให้ชัดเจน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook