คลัง เฉลยสาเหตุหั่นงบ เงินดิจิทัล 10,000 บาท เหลือ 4.5 แสนล้านบาท เพราะอะไร?

คลัง เฉลยสาเหตุหั่นงบ เงินดิจิทัล 10,000 บาท เหลือ 4.5 แสนล้านบาท เพราะอะไร?

คลัง เฉลยสาเหตุหั่นงบ เงินดิจิทัล 10,000 บาท เหลือ 4.5 แสนล้านบาท เพราะอะไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คลัง เผยหั่นงบ แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เหลือ 4.5 แสนล้านบาท เหตุประเมินผู้รับสิทธิ 80-90% มั่นใจกระตุ้นเศรษฐกิจได้สูงสุด 1.8%

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการกำหนดวงเงินโครงการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ตไว้ที่ 4.5 แสนล้านบาทนั้น สืบเนื่องมาจากในการประเมินโครงการเก่าๆ ที่ภาครัฐได้ดำเนินการ อาทิ เราเที่ยวด้วยกัน ชิมช้อปใช้ พบว่า ประชาชนไม่ได้มาลงทะเบียนใช้สิทธิเต็ม 100% โดยจะอยู่ที่ราว 80% เท่านั้น ดังนั้นจึงเห็นว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็ควรตั้งงบประมาณให้เพียงพอและสอดคล้องข้อเท็จจริง จึงออกมาเป็นงบประมาณที่ 4.5 แสนล้านบาท อีกทั้งเนื่องจากมีข้อกังวลจากหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐ ที่มองว่ารัฐบาลไม่ควรจะตั้งงบประมาณสูงเกินไป เพราะจะทำให้เป็นการเสียโอกาสของประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของผลต่อเศรษฐกิจนั้น ยืนยันว่าตั้งแต่แรกรัฐบาลได้ใช้ตัวเลขคาดการณ์ผู้มาใช้สิทธิในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ 40 กว่าล้านคน เป็นตัวเลขเพื่อประเมินผลต่อเศรษฐกิจอยู่แล้ว ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ราว 1.3-1.8% แต่หากท้ายสุด มีผู้มาใช้สิทธิมากกว่าที่ประเมินไว้ ก็เชื่อว่าจะมีผลดีกับเศรษฐกิจมากขึ้นด้วยเช่นกัน

“ตัวเลขกรอบคนที่จะเข้าโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ที่ 80-90% เป็นตัวเลขที่อยู่ในฐานการประมาณการอยู่แล้ว เวลาเราประมาณการเศรษฐกิจ เราไม่ได้ประมาณการว่าจะเข้าโครงการทั้ง 50.7 ล้านคน มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และถ้าใครประเมินเศรษฐกิจจากสิ่งนี้ ก็ต้องถือเป็นการประเมินจากสิ่งที่เว่อร์เกินกว่าความเป็นจริง เราประเมินจากสิ่งที่ควรจะเป็น สิ่งที่เป็นกรอบการศึกษามาอยู่แล้ว เพียงแต่ครั้งนี้ สิ่งที่เปลี่ยน คือ เราก็ไม่ตั้งงบประมาณเกิน เพื่อไม่เป็นการเสียประโยชน์ของประเทศ แต่ถ้ามีคนมาลงทะเบียนเกิน กลไกงบประมาณก็สามารถรองรับได้” นายเผ่าภูมิ กล่าว

สำหรับประเด็นเรื่องผลกับเศรษฐกิจนั้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า อยู่ที่เงื่อนไขว่าจะต้องทำให้เงื่อนไขมีผลเชิงบวกกับเศรษฐกิจมากที่สุด อย่างที่เห็นก็ได้มีการเปลี่ยนเงื่อนไขเรื่องเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือสื่อสาร ซึ่งต้องยอมรับว่าทำให้ประชาชนใช้ยากขึ้น จุดนี้เป็นข้อเสีย แต่ข้อดี คือ เงินจะถูกหมุนในประเทศมากขึ้น เพราะสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้า Import Content สูง เงินไหลสู่นอกประเทศทันที ไม่ก่อให้เกิดการจ้างงานและการผลิตในประเทศ

ดังนั้นคณะอนุกรรมการกำกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จึงมีการเปลี่ยนเงื่อนไข เพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ในวันที่ 15 ก.ค. นี้ พิจารณาตัดกลุ่มสินค้าเหล่านี้ออก เพื่อให้เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศสูงสุด

ส่วนเรื่องการใช้เงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อรองรับโครงการนั้น นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า หากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ในวันที่ 15 ก.ค.นี้ มีมติเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการฯ เสนอเรื่องการใช้งบประมาณปี 2567-2568 แทน ดังนั้น เรื่องนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ธ.ก.ส. แต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook