ค่าเงินบาทวันนี้ 12 ก.ค. 67 เปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.09 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นมาก
ค่าเงินบาทวันนี้ 12 ก.ค. 67 เปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.09 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นมาก จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.27 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.25 บาทต่อดอลลาร์ โดยต้องระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าธนาคารกรุงไทย ระบุ ค่าเงินบาทวันนี้เปิดเช้าที่ 36.09 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นมาก จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.27 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 36.05-36.32 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวลดลงราว -10bps ของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนมิถุนายนของสหรัฐฯ ออกมา +3.0%y/y (-0.1%m/m) ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ก็ชะลอลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.3% (+0.1%m/m) ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า เฟดก็มีโอกาสราว 44% ที่จะลดดอกเบี้ย “3” ครั้งในปีนี้ จากเดิมที่ตลาดเคยมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในช่วงก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI นอกจากนี้ เงินบาทยังพอได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ (XAUUSD) ทะลุระดับ 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท
แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะเริ่มเชื่อว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ 3 ครั้งในปีนี้ จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ล่าสุดที่ออกมาต่ำกว่าคาด ทว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับเผชิญแรงเทขายทำกำไรบรรดาหุ้นเทคฯ อาทิ Tesla -8.4%, Nvidia -5.6% ก่อนที่ผู้เล่นในตลาดจะเข้าซื้อหุ้นขนาดเล็กที่อาจได้รับอานิสงส์จากการทยอยลดดอกเบี้ยของเฟดและช่วงที่ผ่านมาราคายังไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปมาก เมื่อเทียบกับบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นขนาดเล็ก Russell 2000 พุ่งขึ้น +3.57% ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -1.95% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.88%
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทในช่วงหลังรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ล่าสุด อาจชะลอลงบ้าง เนื่องจากเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นเข้าใกล้โซนแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน แถว 36.10 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งที่ผ่านมาเงินบาทก็ยังไม่สามารถหลุดจากโซนแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน ได้อย่างชัดเจนและต่อเนื่อง ทำให้เราประเมินว่า เงินบาทก็อาจแกว่งตัวแถวเส้นค่าเฉลี่ยดังกล่าวไปก่อน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ที่ทำให้ตลาดมั่นใจมากขึ้นว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ 3 ครั้งในปีนี้ (อาจต้องรอช่วงปลายเดือน) นอกจากนี้ เรามองว่า เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันบ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้า และโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) หลังเงินเยนเริ่มมีทิศทางแข็งค่าขึ้น อีกทั้งควรระวังแรงขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ หากตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นตามบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยง ส่วนบอนด์ยีลด์ก็อาจปรับตัวลดลง ตามบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้ผู้เล่นต่างชาติอาจทยอยขายทำกำไรสถานะการลงทุนในสินทรัพย์ไทยได้
อนึ่ง ควรระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย จนถึงช่วง 21.00 น.
เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.25 บาทต่อดอลลาร์ โดยต้องระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ