ประกันสังคม ม.33-ม.39-ม.40 เสียชีวิตได้เท่าไหร่ ได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง
![ประกันสังคม ม.33-ม.39-ม.40 เสียชีวิตได้เท่าไหร่ ได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง](http://s.isanook.com/mn/0/ud/185/926199/benefit.jpg?ip/crop/w1200h700/q80/jpg)
ประกันสังคม "ม.33-ม.39-ม.40" แจงสิทธิประโยชน์กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต เช็กเงื่อนไขได้ที่นี่
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีตาย เสียชีวิต ของผู้ประกันตนประกันสังคม มาตรา 33 และมาตรา 39 ในระบบกองทุนประกันสังคม โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนถึงแก่ความตาย สำนักงานประกันสังคมจ่ายค่าทำศพให้แก่ผู้จัดการศพ จำนวน 50,000 บาท
ผู้ประกันตน ประกันสังคมมาตรา 33 และ 39 เสียชีวิต
เงื่อนไข : ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 1 เดือนภายใน 6 เดือนก่อนเสียชีวิต
ค่าทำศพ : จ่ายให้แก่ผู้จัดการศพจำนวน 50,000 บาท
เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต
- ถ้าระบุชื่อผู้รับเงินสงเคราะห์ไว้ จะจ่ายให้บุคคลนั้น
- ถ้าไม่ระบุชื่อ จะแบ่งให้ผู้มีสิทธิตามกฎหมาย ได้แก่ บิดามารดา สามีหรือภรรยา และบุตร โดยหารเฉลี่ยเท่ากัน
- การคำนวณเงินสงเคราะห์
- ส่งเงินสมทบตั้งแต่ 36 เดือน แต่ไม่ถึง 120 เดือน ได้รับ 50% ของค่าจ้างคูณ 4
- ส่งเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป ได้รับ 50% ของค่าจ้างคูณ 12
ผู้ประกันตน ประกันสังคมมาตรา 40 เสียชีวิต
ทางเลือกที่ 1 และ 2
- ค่าทำศพ : 25,000 บาท
- เงินสงเคราะห์กรณีตาย : ถ้าส่งเงินสมทบมาแล้ว 60 เดือน ได้รับเพิ่ม 8,000 บาท
ทางเลือกที่ 3
- ค่าทำศพ : 50,000 บาท
- เงื่อนไขการเกิดสิทธิ : ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 ใน 12 เดือน ยกเว้นกรณีอุบัติเหตุ มีการจ่ายเงินสมทบ 1 ใน 6 เดือนก่อนเสียชีวิต
นอกจากนี้ ทายาทของผู้ประกันตนที่เสียชีวิตจะได้รับเงินสงเคราะห์ กรณีตาย ในกรณีที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุชื่อให้เป็นผู้รับเงินสงเคราะห์ไว้ สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายให้กับบุคคลที่มีชื่อระบุในหนังสือ
กรณีที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำหนังสือระบุไว้ ว่าให้ใครเป็นผู้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายให้ผู้มีสิทธิตามกฎหมาย คือ บิดามารดา สามีหรือภรรยา และบุตร โดยหารเฉลี่ยในอัตราคนละเท่าๆ กัน ดังนี้
- กรณีผู้ประกันตนส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน ได้รับอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง คูณ 4
- กรณีผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป ได้รับอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง คูณ 12
ประกันสังคม เสียชีวิตได้เท่าไหร่
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวถึงสิทธิกรณีตายผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 และทางเลือก 2 สำนักงานประกันสังคมจ่ายค่าทำศพ 25,000 บาท และหากกรณีส่งเงินสมทบมาแล้ว 60 เดือน ก่อนเดือนที่ตายจะได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตายเพิ่มอีก 8,000 บาท สำหรับทางเลือกที่ 3 กรณีตาย จะได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท โดยมีเงื่อนไขการเกิดสิทธิ คือ ผู้ประกันตนมาตรา 40 ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 ใน 12 เดือน ยกเว้น กรณีอุบัติเหตุมีการจ่ายเงินสมทบ 1 ใน 6 เดือน ก่อนเดือนที่ตาย จะมีสิทธิได้รับเงินค่าทำศพด้วย
เอกสารยื่นประกันสังคม กรณีเสียชีวิต
-
แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01 และ สปส.2-01/ม.40)
-
บัตรประชาชนของผู้จัดการศพ
-
หลักฐานจากฌาปนสถานหรือมัสยิด
-
สำเนาใบมรณบัตร
-
สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร
ทายาทผู้มีสิทธิสามารถขอรับประโยชน์ทดแทนได้ภายใน 2 ปี โดยผู้มีสิทธิสามารถนำหลักฐาน คือ แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม สปส.2-01 และ สปส.2-01/ม.40 บัตรประชาชนของผู้จัดการศพ หลักฐานจากฌาปณสถานหรือมัสยิดที่แสดงว่าเป็นผู้จัดการศพ สำเนาใบมรณบัตร สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้จัดการศพ (กรณีรับเงินทางธนาคาร)
สอบถามเพิ่มเติม
-
ติดต่อสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง
-
สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขาที่สะดวก
-
สายด่วน 1506 (ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง)
อ่านเพิ่มเติม