สรรพากร รู้ได้ยังไงว่า มีรายได้เท่าไหร่
สรรพากร รู้ได้อย่างไรว่าเรามีรายได้เท่าไหร่ เปิดช่องทางที่กรมสรรพากรใช้ตรวจสอบรายได้
"ถ้าไม่ยื่นภาษี สรรพากรก็ไม่รู้รายได้หรอก" ใครที่คิดแบบนี้ ขอให้เปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะกรมสรรพากรไม่ได้รับรู้รายได้ หรือเงินได้ของเราแค่ช่องทางการยื่นภาษีเท่านั้น แต่สรรพากรมี วิธีตรวจสอบรายได้เราหลายวิธีด้วยกัน เราจึงขอหยิบยกบทความดีๆ จากเว็บไซต์ inflowaccount มีแชร์ให้ผู้อ่านได้ทราบกัน
กรมสรรพากร รู้ได้ยังไงว่า มีรายได้เท่าไหร่?
1. มีเงินโอนเข้าบัญชีหลายครั้ง และเป็นเงินจำนวนมาก
การฝาก หรือโอนเงินเข้าบัญชี ผ่านสมาร์ทโฟน บัตรเครดิต ผู้ให้บริการด้านการเงิน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่รายงานธุรกรรมให้กรมสรรพากร โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
- มีเงินเข้าบัญชี 3,000 ครั้งต่อปี ไม่ดูจำนวนเงินว่าแต่ละครั้งมีมูลค่าเท่าไหร่?
- มีเงินเข้าบัญชี 400 ครั้งต่อปี และจำนวนเงิน (นับเฉพาะฝั่งเงินรับฝากเข้า) รวมเกิน 2 ล้านบาท
โดยนับรวมเป็นรายปี ตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. ของปีนั้นๆ ซึ่งกรมสรรพากร จะรับรู้ข้อมูลรายได้ของผู้มีเงินได้ แต่ยังไม่สามารถนำมาเก็บภาษี ต้องเอไปร่วมกับข้อมูลอื่นๆ ด้วยว่าถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นภาษี และเสียภาษีด้วยหรือเปล่า
2. ข้อมูลการรับเงิน (ภาษีหัก ณ ที่จ่ายใบกำกับภาษี)
ได้รับเงินสดโดยไม่ผ่านธนาคาร แต่ผู้จ้างเป็นนิติบุคคลได้ทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ผู้ประกอบการต้องนำส่งเงินภาษีที่หักให้กรมสรรพากร รวมถึงแจ้งข้อมูลผู้ได้รับเงิน คือ ชื่อ เลขบัตรประชาชนในแบบนำส่งภาษีที่หักไว้ดังกล่าวด้วย
ถ้าบริษัทผู้จ่ายเงินถูกสรรพากรตรวจสอบเอกสาร ผู้ประกอบการต้องส่งรายการบันทึกค่าใช้จ่ายของบริษัทให้กรมสรรพากร ซึ่งบันทึกนั้นจะต้องระบุค่าใช้จ่ายต่างๆ ไว้โดยละเอียด ส่งพร้อมเอกสารที่ใช้เป็นหลักฐานถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริง เช่น ใบกำกับภาษี ใบเสร็จรับเงิน
ฉะนั้น แม้เราจะรับเป็นเงินสด แต่กรมสรรพากรก็ยังมีโอกาสที่จะเห็นข้อมูลรายได้ของผู้มีรายได้อยู่ดี
3. รับรู้รายได้ผ่านช่องทาง www.rd.go.th
เว็บไซต์ www.rd.go.th เป็นช่องทางสืบค้นข้อมูลรายได้ โดยเปิดเมนู "การแจ้งเบาะแส/ข้อมูลแหล่งภาษี" ขึ้น เพื่อให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบกิจการหรือธุรกิจที่เสียภาษีไม่ถูกต้อง
4. สุ่มตรวจ
เป็นวิธีที่กรมสรรพากรสุ่มจากหน้าเว็บไซต์ต่างๆ เช่น Facebook ที่มีการโพสต์โชว์เงินโอนเข้ารายได้จากการขายสินค้าจำนวนมาก หรือไลฟ์สดขายของ กรมสรรพากรจะสุ่มตรวจว่ามีการยื่นแบบฯ เสียภาษีหรือไม่ ถ้าไม่มี หรือไม่เสียภาษีเลยอาจถูกเรียกพบได้
5. ดึงข้อมูลจากเว็บไซต์ หรือ Web Scraping
กรมสรรพากรนำเทคโนโลยีดึงข้อมูลจากเว็บเพจต่างๆ หรือ Web Scraping เข้ามาช่วยตรวจสอบกลุ่มผู้ค้าออนไลน์ ทั้งในรูปแบบที่ค้าขายปกติ และรูปแบบไลฟ์สดเพื่อขายสินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น สรรพากรจะดึงข้อมูล ราคา และจำนวนสินค้าที่ขายได้ตามเว็บ e-commerce ทั้งหลาย เช่น Shopee, Lazada
หรือรู้ข้อมูลของผู้จ่ายเงินได้ให้เรา เช่น เราขายของผ่านเว็บ e-commerce เช่น Shopee, Lazada ทางเว็บ e-commerce จะหักค่าบริการในอัตราที่กำหนดจากยอดขายของเรา เช่น 20% หรือ 30% ของยอดขาย พร้อมกันนั้นทางเว็บ e-commerce ก็จะส่งใบกำกับภาษีให้กับเราและส่งให้สรรพากรด้วย
6. เข้าร่วมโครงการของรัฐ
โครงการต่างๆ ของรัฐบาล เช่น ชิมช้อปใช้, ช้อปดีมีคืน, เราชนะ รวมถึงคนละครึ่ง รายได้ และยอดขายของผู้ประกอบการร้านค้าจะถูกส่งให้กับกรมสรรพากร
7. พนักงานประจำ
พนักงานประจำที่บริษัทจ่ายเงินเดือนผ่านธนาคาร นอกจากผู้มีรายได้จะต้องเป็นคนนำข้อมูลจากใบ 50 ทวิ (หนังสือรับรองเงินได้หัก ณ ที่จ่าย) ซึ่งเป็นใบแจ้งรายได้ทั้งปีที่ทางบริษัทออกให้ไปยื่นภาษีเงินได้แล้ว ทางบริษัทก็จะมีเอกสารชี้แจงเงินได้ของเราส่งทางกรมสรรพากรด้วยอีกทางหนึ่ง (ภงด.1, ภงด.1ก) จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่กรมสรรพากรตรวจสอบรายได้ของเราได้
8. ใช้ระบบ Big Data & Data Analytics
กรมสรรพากรใช้ระบบ Big Data & Data Analytics คัดกรองว่าผู้ประกอบการใดจัดอยู่ในกลุ่มเลี่ยงภาษี และกลุ่มใดจัดอยู่ในกลุ่มดี หรือตัวอย่างของการใช้ระบบ Data Analytic เช่น สรรพากรเชื่อมข้อมูลกับการไฟฟ้า การประปา ถ้าพบการใช้ไฟฟ้ากับการใช้น้ำประปาของเราใกล้เคียงกับคนที่ทำธุรกิจแบบเดียวกับเรา แต่เขาแจ้งรายได้สูงกว่า สรรพากรก็อาจสงสัยว่าเราแจ้งรายได้ไม่ครบถ้วนได้
ดังนั้น กรมสรรพากร รับรู้รายได้ของคนไทยได้หลายช่องทาง หากคิดว่าจะไม่ยื่นภาษีเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้อง ครบถ้วน ถ้าเวลาผ่านไปแล้วบังเอิญกรมสรรพากรเข้ามาตรวจสอบ (สามารถตรวจสอบย้อยหลังได้นานถึง 10 ปี) นอกจากจะต้องจ่ายภาษีแล้ว อาจจะต้องจ่ายค่าปรับที่ทำให้เราต้องเสียภาษีมากกว่าค่าภาษีไปอีกบานเลย