วิธีคิดเงินเดือนเพิ่มไม่ให้ขาดทุน เมื่อย้ายงานใหม่

วิธีคิดเงินเดือนเพิ่มไม่ให้ขาดทุน เมื่อย้ายงานใหม่

วิธีคิดเงินเดือนเพิ่มไม่ให้ขาดทุน เมื่อย้ายงานใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เปลี่ยนที่ทำงานใหม่ทั้งที ต้องเรียกเงินเดือนเพิ่มเท่าไหร่ถึงจะสมเหตุสมผล

เงินเดือน เป็นหนึ่งเรื่องสำคัญที่ทำให้คนตัดสินใจเปลี่ยนงาน บางคนอาจรู้สึกว่างานที่ทำอยู่ไม่คุ้มค่ากับผลตอบแทนที่ได้รับเลยแม้แต่น้อย เรียกง่ายๆ ว่า งานเยอะ แต่เงินน้อย บ้างก็ทำเกินขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ บางทีการเปลี่ยนงานใหม่อาจจะเป็นโอกาสในการเติบโตด้านตำแหน่ง และการเพิ่มเงินเดือนด้วย แล้วอะไรล่ะที่จะทำให้เราสามารถเรียกเงินเดือนเพิ่มขึ้นได้

Sanook Money มีข้อมูลดีๆ จาก jobsdb ที่จะมาเฉลยถึง 5 ปัจจัยที่จะทำให้เราเรียกเงินเดือนเพิ่มขึ้นได้มาฝากผู้อ่านทุกท่านกัน

รวม 5 ปัจจัยที่จะเรียกเงินเดือนเพิ่มได้

1. เรตเงินเดือนพื้นฐานของตำแหน่งที่คุณทำ

“เรตเงินเดือนพื้นฐาน” ในสายงานที่ทำ ถ้าไม่รู้ให้ลองดูราคากลางในตลาดทั่วไปว่า ปกติจะมีเรตอยู่ที่ประมาณเท่าไร ถ้าตั้งสูงไปจะทำให้ทางบริษัทที่เรายื่นสมัครงานไปเกิดความลังเลได้ ถ้าตั้งน้อยไปเราเองจะเป็นฝ่ายเสียโอกาส

ดังนั้น การเรียกเงินเดือนยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องนำมาพิจารณาควบคู่กันไปด้วย ไม่ได้มีสูตรอะไรตายตัว ถึงเรียกเงินไปสูง แต่ถ้าเรามีประสบการณ์ แล้วงานๆ นั้นต้องอาศัยความเฉพาะด้านแบบลงลึก มีสกิลต่างๆ แบบพร้อมทำงาน เราเองก็สามารถเอา “จุดแข็ง” ส่วนนี้ มาใช้เรียกเงินได้สูงกว่าราคาตลาดได้

2. สวัสดิการต่างๆ ของบริษัทใหม่

สวัสดิการ และค่าตอบแทนส่วนต่างๆ ต้องนำมาคิดประกอบกัน บางที่อาจจะแลกมากับระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น เน้นการ Work from home หรือทำงานแบบ Hybrid เข้าออฟฟิศ 2-3 วัน เบิกค่าเดินทางและค่าอินเทอร์เน็ตได้ หรือมีอาหารกลางวันให้ทานฟรี รวมถึงเบิกค่าเรียนคอร์สต่างๆ เพื่อพัฒนาตัวเองได้ ทั้งหมดนี้เมื่อนำมาคำนวณรวมๆ แล้ว น่าจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายบางส่วนได้ เราก็อาจจะลดตัวเลขเงินเดือนที่เรียกไปลงได้

3. ค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ ที่เพิ่มเข้ามา

เป็นค่าใช้จ่ายแฝงที่บางคนอาจมองข้าม การย้ายที่ทำงานใหม่ เสมือนเป็นการเปลี่ยนสังคมใหม่ไปในตัว สังคมที่ว่านั้นเป็นเรื่องของค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าภาษีสังคม ค่ากินค่าอยู่ต่างๆ ถ้าออฟฟิศนั้นมีทำเลอยู่ย่านใจกลางเมือง ค่าครองชีพต่างๆ ย่อมสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว แน่นอนว่าไลฟ์สไตล์ และการใช้ชีวิตย่อมเปลี่ยนไป ทั้งเพื่อนร่วมงาน การสังสรรค์ต่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็น Fix cost ที่ควรนำมาคิดด้วย เพราะมีผลต่อการคิดคำนวณการขึ้นเงินเดือน

4. ค่าประสบการณ์และความเก๋า

ใครที่เพิ่งจบใหม่หรือทำงานมาได้ไม่กี่ปี อาจจะให้น้ำหนักในการพิจารณาข้อนี้น้อยหน่อย เพราะส่วนนี้เป็นเรื่องของประสบการณ์ ความช่ำชองในสายงานล้วนๆ ยิ่งมีทักษะมาก คลุกคลีกับงานจนพร้อมเริ่มงานได้ทันทีแบบไม่ต้องเรียนรู้อะไรมาก ยิ่งเป็นจุดแข็งในการเรียกเงินเดือนเพิ่ม

ทั้งนี้ การเรียนเพิ่มเติม และฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ รวมถึงผลงานชิ้นโบแดงอันสุดแสนจะภูมิใจ สามารถนำมาพิจารณาแปรเปลี่ยนเป็นค่าเงินได้เช่นเดียวกัน เพราะทั้งหมดนั้นแสดงถึงคุณค่าและความสามารถของเรา ทั้งยังเป็นการแสดงให้เจ้านายใหม่เห็นว่า เงินเดือนที่เราเรียกไปนั้นเหมาะสมกับความสามารถที่เรามี

5. ลักษณะงานใหม่และความท้าทายที่ต้องทำ

เงินเดือนที่เพิ่มขึ้นย่อมตามมาด้วยภาระงานที่มากขึ้น ยากขึ้นและชาเลนจ์กว่าเดิม คงไม่มีใครเพิ่มเงินเดือนให้เราง่ายๆ โดยไม่แลกกับอะไร ฉะนั้นอย่าลืมพิจารณาและสอบถามถึงสโคปงานให้ชัดเจนถี่ถ้วน ก่อนที่จะตัดสินใจย้ายไป

เนื้องานเป็นอย่างไร มีทีมซัพพอร์ตหรือไม่ หรือเราเป็นคนเดียวที่ต้อง Hold งานนี้เองทั้งหมด ดูแล้วต้องใช้ความทุ่มเทในการทำงานสูงกว่างานเก่ามากน้อยแค่ไหน เพราะรายละเอียดเหล่านั้น เป็นสิ่งที่คุณต้องนำมาประเมินถึงความคุ้มค่ากับเงินเดือนที่จะเรียกไปด้วย ในทางกลับกัน หากมองว่าความท้าทาย หรืออะไรที่ชาเลนจ์ เป็นสิ่งที่ทำให้คุณเติบโตในสายงาน หรือเป็นโอกาสที่ดีได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อาจจะพอมองข้ามเรื่องเหล่านี้ได้

วิธีคำนวณเงินเดือนใหม่ที่ควรเรียกเพิ่ม

ปกติอัตราการเรียกเงินเดือนเมื่อย้ายงานใหม่จะอยู่ที่ราว 10-30% ของเงินเดือนเก่า เงินเดือนเก่าที่ว่านั้นรวมรายได้ทั้งหมดที่เราได้รับ ทั้งฐานเดือน และค่าคอมมิชชั่น หรือรายได้อื่นที่ควรจะได้รับจากบริษัท ซึ่งเว็บไซต์ jobsdb มีสูตรที่น่าสนใจมานำเสนอ คือ เงินเดือนปัจจุบัน x 12 (เดือน) กรณีมีโบนัสประจำ ให้นำมาคำนวณรวมกับเงินเดือน

  • ตัวอย่าง เงินเดือน 20,000 บาท มีโบนัสประจำ 3 เดือน เท่ากับว่า 20,000 x 15 = 300,000 บาท ซึ่งเป็นเงินเดือนทั้งปีของเรา

ถ้ามีเงินพิเศษ เบี้ยเลี้ยงอื่นๆ ที่จ่ายไม่เท่ากันในแต่ละครั้ง ให้นำเงินพิเศษส่วนนี้มารวมกันทั้งหมดแล้วหารจำนวนปีที่เราทำงาน

  • ตัวอย่าง นาย ก. ทำงาน 3 ปี มีโบนัสพิเศษตามนี้
    • 10,000 + 20,000 + 20,000 = 50,000 บาท แล้วหาร 3 จะได้ 16,667 บาท จากนั้นนำยอดที่ได้มารวมกับเงินเดือนทั้งปีของเรา แล้วหารด้วย 12 เดือน ตามนี้
    • 300,000 บาท (รายได้หลักแต่ละปี) + 16,667 บาท (รายได้พิเศษ) = 316,667 บาท หาร 12 = 26,388 บาท

ดังนั้น เงินเดือนขั้นต่ำที่เราควรได้รับจากที่ใหม่เท่ากับ 26,388 บาท เท่ากับว่า เงินเดือนเพิ่มขึ้นราว 31.94%

อย่างไรก็ตาม ก็อย่าลืมนำค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเข้ามา เช่น ค่าเดินทาง ค่ากิน ค่าอยู่ ค่าภาษีสังคมอื่นๆ รวมถึงสวัสดิการ และค่าตอบแทนต่างๆ ที่จะได้เพิ่ม มาหักลบเพิ่มเติมในตัวเลขของเงินเดือนที่เรียกเพิ่มไปด้วย แล้วก็ดูว่าเราพอใจที่ตัวเลขเท่าไหร่ก่อนจะยื่นสมัครงานกับที่ใหม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook