ราชกิจจานุเบกษา ประกาศคงภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อีก 1 ปี
ราชกิจจานุเบกษาประกาศคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม อีก 1 ปี มีผลถึง 30 ก.ย. 2568
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 790) พ.ศ.2567 อาศัยอำนาจคามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2534 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตรามพ.ร.ฎ.ขึ้นไว้ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
มาตรา 2 พ.ร.ฎ.นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 4 แห่งพ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 646) พ.ศ.2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีเพิ่ม (ฉบับที่ 780) พ.ศ.2566 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 4 ให้ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บให้อัตราร้อยละ 6.3 สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2560 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568”
หมายเหตุท้ายพ.ร.ฎ. ระบุว่า เหตุผลในการประกาศใช้พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ คือ โดยที่พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 646 ) พ.ศ.2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 780) พ.ศ. 2566 ได้กำหนดให้ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร เหลืออัตราร้อยละหกจุดสามเป็นการชั่วคราว สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2567 เพื่อรักษาระดับการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมาย สมควรขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือร้อยละหกจุดสามออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2568 จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ฎ.นี้
สรุป ราชกิจจานุเบกษาประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) คงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไว้ที่ 6.3% สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ และการนำเข้า มีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567 ถึง 30 กันยายน 2568 การขยายเวลานี้เพื่อส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศและสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยให้เป็นไปตามเป้าหมาย