คลังปรับเกณฑ์ Soft Loan ช่วยรายย่อยประสบภัยน้ำท่วม ให้เข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ

คลังปรับเกณฑ์ Soft Loan ช่วยรายย่อยประสบภัยน้ำท่วม ให้เข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ

คลังปรับเกณฑ์ Soft Loan ช่วยรายย่อยประสบภัยน้ำท่วม ให้เข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คลังปรับเกณฑ์ Soft Loan เปิดกว้างช่วยรายย่อยประสบภัยน้ำท่วม เข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และปรับเงื่อนไข บสย. ค้ำประกันผ่อนปรน

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ได้เสนอเรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up ของธนาคารออมสินและรับทราบโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยปี 2567

ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 11 (โครงการ PGS 11) เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 มีมติเห็นชอบแล้ว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. จัดสรรวงเงินจำนวน 50,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up เพื่อนำมาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย โดยขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมทั้งผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบอาชีพอิสระ

infogsb_0

โดยธนาคารออมสินสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจในอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ที่ได้ผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3.5% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี วงเงินต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาทรวมทุกสถาบันการเงิน

ภายใต้วงเงินดังกล่าวธนาคารออมสินสามารถปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ที่ได้ผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยโดยตรงภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเดียวกัน ทั้งนี้ สามารถยื่นขอสินเชื่อได้จนถึงวันที่ 30 ธ.ค. 67

2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยปี 2567 ภายใต้โครงการ PGS 11 ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยให้ได้รับสินเชื่อได้อย่างเพียงพอและช่วยให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อ

infotcg_0

โดย บสย. จะจ่ายค่าประกันชดเชยตลอดโครงการนี้เพิ่มขึ้นเป็นไม่เกินร้อยละ 40 จากเดิมเฉลี่ย 30% โดยรัฐบาลจะจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทนผู้ประกอบการใน 3 ปีแรก หลังจากนั้น บสย. คิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันจากผู้ประกอบการ 1.25% ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี รับคำขอค้ำประกันถึงวันที่ 30 เม.ย. 68

กระทรวงการคลังเชื่อมั่นว่าการดำเนินการดังกล่าวจะสามารถให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยให้สามารถฟื้นฟูกิจการเพื่อกลับมาประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ภายหลังจากที่สถานการณ์คลี่คลายลง ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที เพื่อไม่เกิดผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook