Easy E-Receipt คลังปักหมุดเริ่มใช้จ่ายกลางเดือน ม.ค.-ก.พ. 68
Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท คลังปักหมุดให้เริ่มใช้จ่ายกลางเดือน ม.ค.-ก.พ. 68
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุ กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย Easy E-Receipt เข้าสู่ที่ประชุม ครม. ในสัปดาห์หน้า (24 ธ.ค. 67) โดยให้ประชาชนซื้อสินค้า-บริการเพื่อนำมาลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงได้ สูงสุด 50,000 บาท คาดเริ่มดำเนินการได้ในช่วงกลางเดือน ม.ค.-ก.พ. 68 ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากถึง 70,000 ล้านบาท และรัฐบาลจะสูญเสียรายได้ราว 10,000 ล้านบาท
ส่วนเงื่อนไขมาตรการ Easy E-Receipt แบ่งเป็นดังนี้
วงเงิน 30,000 บาทแรก
- ใช้จ่ายได้กับสินค้า-บริการ (เหมือนกับปีก่อน) เพิ่มเติมคือใช้จ่ายได้กับด้านการท่องเที่ยวภายในประเทศ
- ค่าแพ็คเกจท่องเที่ยว
- ค่าโรงแรม
- ค่าร้านอาหาร
วงเงิน 20,000 บาทที่เหลือ
- ใช้จ่ายได้กับสินค้า-บริการของวิสาหกิจชุมชน
- สินค้า OTOP
เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในกลุ่ม SMEs วิสาหกิจชุนชน สนับสนุนให้เกิดการเติบโตอย่างเข้มแข็ง
สินค้าและบริการที่ยกเว้น ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษี ตามมาตรการ Easy E-Receipt ได้
- สุรา เบียร์ และไวน์
- ยาสูบ
- รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
- ค่าน้ำมัน และก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
ร้านค้า-วิสาหกิจชุมชนที่สามารถเข้าร่วมโครงการ Easy E-Receipt ได้
- ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
- จดทะเบียนในระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม นายจุลพันธ์ ระบุว่า ประชาชนสามารถใช้จ่ายผ่านมาตรการ Easy E-receipt ได้ ถ้าจะใช้กับวิสาหกิจชุมชน หรือ สินค้ากลุ่ม OTOP เต็มวงเงิน 50,000 บาทเลยก็สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นระบบ e-Tax Invoice ทั้งหมด หากใช้สิทธิเต็มตามวงเงินที่กำหนด 50,000 บาท จะได้สิทธิลดหย่อนภาษีที่ 10,000 บาท โดยที่ผ่านมามาตรการดังกล่าวได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบมากขึ้นราว 20% และเชื่อว่าในปีหน้าจะมีจำนวนผู้ประกอบการจะเข้าร่วมโครงการมากขึ้นด้วย