ผุด17เมืองใหม่แนวไฮสปีดเทรน โยธาชง"ยิ่งลักษณ์"เคาะ เวนคืน-ก่อสร้างแสนล้าน
เปิดโผเฟสแรกจุดที่ตั้ง 17 เมืองใหม่รอบสถานีไฮสปีดเทรน กรมโยธาธิการและผังเมืองชงรัฐบาลยิ่งลักษณ์เคาะ 4 สายทาง 4 ภูมิภาค "พิษณุโลก-โคราช-หัวหิน-ระยอง" โมเดลตัวอย่างขนาด 5,000 ไร่ จัดวางผังพัฒนาพื้นที่เฉพาะ กำหนดโซนนิ่งชัดเจน ที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม เล็งดึงเอกชนร่วมลงทุน 100,000 ล้าน ค่าก่อสร้าง-เวนคืน
นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กรมได้นำเสนอแนวคิดการพัฒนาเมืองใหม่รัศมีโดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงในเฟสแรก เพื่อเป็นโมเดลเบื้องต้นที่จะนำร่องให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา และได้รับความเห็นชอบในหลักการแล้ว จากนั้นจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
เฟสแรก 17 สถานี 4 ภูมิภาค
สำหรับรูปแบบที่กรมโยธาธิการและผังเมืองนำเสนอ จุดที่ตั้งพื้นที่เมืองใหม่จะมีทุกสถานีที่รถไฟความเร็วสูงจอด โดยเฟสแรกอยู่ในแนว 4 สายทาง มี 17 แห่ง ประกอบด้วย 1)สายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก
5 แห่ง ได้แก่ อยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก 2)สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา 3 แห่ง ได้แก่ สระบุรี ปากช่อง นครราชสีมา 3)สายกรุงเทพฯ-หัวหิน 4 แห่ง ได้แก่ นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี หัวหิน และ 4)สายกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง 5 แห่ง ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา ระยอง "เราพยายามจะเริ่มทำเป็นตัวอย่างก่อนที่สถานีปลายทางของทั้ง 4 ภูมิภาค คือ พิษณุโลก หัวหิน โคราช และระยอง"
นายมณฑลกล่าวอีกว่า การพัฒนาจะเป็นรูปแบบเมืองขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่อยู่ที่ศักยภาพของแต่ละสถานี ล่าสุดยังไม่ได้ข้อสรุปกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ถึงจุดที่ตั้งสถานีแต่ละสายทาง แต่มีอยู่ 2 ทางเลือกคือ อยู่ที่ตัวสถานีเดิม หรือเลือกพื้นที่ใหม่
ยึดญี่ปุ่นต้นแบบโมเดล
สำหรับการพัฒนาเมืองใหม่ควรจะเป็นพื้นที่โล่งขนาด 2,000-5,000 ไร่ขึ้นไป อยู่ห่างจากในเมืองประมาณ 5-10 กิโลเมตร เพื่อให้มีพื้นที่ในการพัฒนามาก ๆ อยู่ที่การตัดสินใจของ สนข.และรัฐบาลจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่กรมโยธาธิการฯเสนอในมุมมองด้านการวางผังเมืองเป็นหลักโดยแนวคิดการพัฒนาจะนำโมเดลเดียวกับที่ประเทศญี่ปุ่นดำเนินการมาเป็นต้นแบบ ด้วยการเพิ่มมูลค่ารอบสถานีรถไฟความเร็วสูงให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากเพื่อการเดินรถไฟฟ้าแล้ว จะต้องวางกรอบการพัฒนาพื้นที่รอบ ๆ สถานีเพื่อสร้างรายได้
ทั้งนี้แนวทางการพัฒนาจะมี 2 วิธีการ คือ 1) จัดวางผังพัฒนาพื้นที่เฉพาะ ภายในจะกำหนดโซนนิ่งผังการพัฒนาครบถ้วน อาทิ โซนที่อยู่อาศัย โซนสาธารณูปโภค เช่น ถนน สวนสาธารณะ โซนพาณิชยกรรม มีศูนย์การค้า ใช้เวลาประมาณ 1 ปีกับ 2) การจัดรูปที่ดิน คาดว่าจะใช้เวลาสักระยะ เนื่องจากจะต้องมีกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และจัดแบ่งเฟสที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการ แนวทางนี้กรมจะร่วมกับหน่วยงานของรัฐตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมารองรับ หรืออาจจะให้รัฐและเอกชนร่วมกันลงทุนรูปแบบ PPP ก็ได้
เปิดโผทางเลือกจุดที่ตั้ง
แหล่งข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมืองกล่าวว่า ขณะนี้กรมรอความชัดเจนจุดที่ตั้งสถานีจาก สนข.ที่อยู่ระหว่างคัดเลือกทำเล เบื้องต้นกรมได้กำหนดพื้นที่เสนอเป็นทางเลือกพร้อมขนาดสถานี (ดูตารางประกอบ) โดยสายเหนือ "กรุงเทพฯ-พิษณุโลก" ประกอบด้วย 1)พระนครศรีอยุธยา ขนาดพื้นที่ 5,000 ไร่ มีพื้นที่ 4 ทางเลือก คือ สถานีชุมทางบ้านภาชี สถานีรถไฟอยุธยาเดิม สถานีบ้านม้า และห่างจากสถานีเดิมไปทางด้านใต้ 2 กิโลเมตร 2)ลพบุรี ขนาดพื้นที่ 5,000 ไร่ มีพื้นที่ 3 ทางเลือกคือ สถานีรถไฟลพบุรีเดิม หรือห่างจากสถานีเดิมลงมาทางใต้และทางเหนือในรัศมี 5 กิโลเมตร
3)นครสวรรค์ ขนาดพื้นที่ 5,000 ไร่ มีพื้นที่ 3 ทางเลือก คือ สถานีรถไฟนครสวรรค์เดิม ห่างจากสถานีเดิมลงมาทางทิศใต้ 3 กิโลเมตร กับห่างจากสถานีรถไฟเดิมขึ้นไปด้านทิศตะวันตก 2 กิโลเมตร และ
4)พิจิตร ขนาดพื้นที่ 5,000 ไร่ เป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ห่างจากสถานีเดิมไปทางด้านขวามือประมาณ 2 กิโลเมตร
โรบินสันลุ้นที่ตั้งสระบุรี
สายอีสาน "กรุงเทพฯ-นครราชสีมา" ประกอบด้วย 1)สระบุรี มี 2 ทางเลือก คือ สถานีรถไฟสระบุรีเดิม พื้นที่ 1,200 ไร่ หรือห่างจากสถานีเดิมไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 4 กิโลเมตร บนถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตรงข้ามกับศูนย์การค้าโรบินสันที่กำลังก่อสร้าง พื้นที่ 3,000 ไร่
2)สถานีปากช่อง พื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่เศษ มี 2 ทางเลือก คือ สถานีรถไฟปากช่องเดิม กับห่างจากสถานีเดิมขึ้นไปทางทิศเหนือ 5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นที่ดินของกรมธนารักษ์ ปัจจุบันใช้ประโยชน์เป็นที่ตั้งของกรมพลาธิการทหารบก
3)นครราชสีมา มีพื้นที่ 3 ทางเลือก คือ สถานีรถไฟนครราชสีมาเดิม ขนาดพื้นที่ 7,000 ไร่ หรือห่างจากสถานีเดิมไปทางทิศตะวันตก 6 กิโลเมตรที่สถานีภูเขาลาด พื้นที่ 3,000 ไร่ และสถานีชุมทางบ้านจิระ พื้นที่ 3,000 ไร่
เพชรบุรีมีทางเลือกเดียว
สายใต้ "กรุงเทพฯ-หัวหิน" ประกอบด้วย 1)นครปฐม ขนาดพื้นที่ 3,000-4,000 ไร่ มี 3 ทางเลือก คือ สถานีรถไฟนครปฐมเดิม หรือห่างจากสถานีเดิมไปด้านตะวันตก 3 กิโลเมตร และจากสถานีไปทิศตะวันออก 8 กิโลเมตร
2)ราชบุรี มีพื้นที่ 2 ทางเลือก คือ สถานีรถไฟราชบุรีเดิม ขนาดพื้นที่ 700 ไร่ กับพื้นที่ใหม่ห่างจากสถานีเดิมลงมาด้านใต้ 3 กิโลเมตร ขนาดพื้นที่ 3,000 ไร่ และ 3)เพชรบุรี มีทางเลือกเดียว ขนาดพื้นที่ 3,000-4,000 ไร่ อยู่ห่างจากในเมืองไปทางด้านเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร และ 4)สถานีหัวหิน มีพื้นที่ 3 ทางเลือก คือ สถานีรถไฟหัวหินเดิม พื้นที่ 2,000 ไร่ หรือห่างจากสถานีเดิมขึ้นไปด้านเหนือ มุ่งหน้า อ.ชะอำ ประมาณ 6 กิโลเมตร พื้นที่ 4,000 ไร่ กับบริเวณสถานีห้วยทรายใต้ พื้นที่ 5,000 ไร่
ตะวันออกข้อเสนอเพียบ
สายตะวันออก "กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง" ประกอบด้วย 1) ฉะเชิงเทรา สถานีรถไฟเดิมขนาดพื้นที่ 2,500 ไร่ 2) ชลบุรี ที่สถานีรถไฟเดิม ขนาดพื้นที่ 3,000-4,000 ไร่ 3) อำเภอศรีราชา มีพื้นที่ 2 ทางเลือก คือ สถานีรถไฟศรีราชาเดิม ขนาดพื้นที่ 400 ไร่ กับห่างจากสถานีเดิมลงมาทางใต้ 3-4 กิโลเมตร ขนาดพื้นที่ 7,000 ไร่
4)เมืองพัทยา ขนาดพื้นที่ 5,000-6,000 ไร่ มีพื้นที่ 3 ทางเลือก คือ สถานีรถไฟพัทยาเดิม พื้นที่ 5,000 ไร่ หรือห่างจากสถานีเดิม 5 กิโลเมตรขึ้นไปทางเหนือ และห่างจากสถานีเดิม 8 กิโลเมตร ลงมาด้านใต้ และ 5)ระยอง ขนาดพื้นที่ 4,000-5,000 ไร่ มีพื้นที่ 2 ทางเลือก คือ สถานีรถไฟมาบตาพุด กับห่างจากสถานีรถไฟมาบตาพุดขึ้นไปทางเหนือ 8 กิโลเมตร มาทางตัวเมืองระยอง
ประเมินลงทุนแตะแสนล้าน
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับรูปแบบการลงทุนเบื้องต้น รัฐบาลอาจจะลงทุนก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคให้ ส่วนการลงทุนด้านอื่น ๆ อาจจะดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ทั้งที่อยู่อาศัยและเชิงพาณิชยกรรม ซึ่งมูลค่าการลงทุนอยู่ที่รูปแบบขนาดของเมือง และจะใช้วิธีการไหนมาดำเนินการอย่างเช่นถ้าใช้วิธีการจัดรูปที่ดิน จะมีการแชร์ที่ดินจากเอกชนมาพัฒนาร่วมกัน การลงทุนจะถูกกว่าประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาทต่อแห่ง แต่ถ้าหากลงทุนทั้งค่าก่อสร้างและเวนคืนที่ดิน จะต้องใช้เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น น่าจะไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท