ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคืออะไร?
มาทำความเข้าใจแบบง่ายๆ สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นภาษีที่คนอย่างเรา ต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้สำหรับการทำหน้าที่ตามกฎหมาย "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" คือ จำนวนเงินที่เรียกเก็บจากผู้ที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี โดยจะจัดเก็บจากเงินได้ทุกประเภท และจะเรียกเก็บจากผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมา
โดยมีสถานะอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
1.บุคคลธรรมดา จะเสียภาษีจากการได้รับเงินดังนี้
- เงินได้จากการจ้างงาน เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง โบนัส บำเหน็จ บำนาญ
- เงินได้จากค่าสิทธิ หรือเรียกว่าค่าตอบแทนจากการใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรม ศิลปะ หรือวิทยาศาสตร์
- เงินได้จากการลงทุนในทรัพย์สิน คือผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนในตราสารทุน ตราสารหนี้
- เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เช่น เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับเนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ
- เงินได้จากวิชาชีพอิสระ ได้แก่ และ แพทย์ วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี ทนาย นักแสดง ฯลฯ
- เงินได้จากการธุรกิจ หรือเงินได้อื่นๆ
2.ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล สำหรับ "ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล" จะหมายถึง บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปที่ทำกิจการร่วมกัน โดยจะใช้การแบ่งปันกำไรจากกิจการนั้นๆ ส่วน "คณะบุคคล" หมายถึง บุคคลธรรมดาตั้งแต่สองคนขึ้นไป กระทำกิจการร่วมกัน แต่ไม่มีวัตถุประสงค์จะแบ่งปันผลกำไรที่ได้จากกิจการที่ทำ
3.สำหรับผู้ที่เสียชีวิตระหว่างปีภาษี ในกรณีนี้จะให้ผู้จัดการมรดก หรือทายาทผู้ที่ได้รับมรดก เป็นผู้ทำหน้าที่ยื่นรายการและเสียเงินภาษีได้แทน โดยการยื่นรายการเงินได้ของผู้ตายนั้น ให้รวมเงินได้ทั้งหมดของผู้ตายตลอดในปีภาษี
4.กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ซึ่งจะเป็นการเสียภาษีในปีถัดไป หลังจากที่เจ้ามรดกถึงแก่ชีวิต โดยให้ผู้จัดการกองมรดก หรือทายาท หรือผู้ครอบครองทรัพย์ แล้วแต่กรณีเป็นผู้มีหน้าที่ยื่นรายการและเสียเงินได้ในนามของกองมรดกนั้น
นอกเหนือจากนี้ ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยในช่วงระยะเวลาหนึ่งหรืออย่างน้อย 180 วัน (6เดือน) ไม่ว่าจะมีสัญชาติใด หรือจะมีรายได้ที่ได้รับจากในประเทศหรือต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ ที่จะต้องชำระตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และจะมีการจัดเก็บเป็นรายปี ผู้ที่มีรายได้จะต้องแสดงรายการภาษีที่กรมสรรพากร ในเดือนมกราคม - มีนาคมของทุกปี นอกจากนี้สำหรับผู้ที่มีรายได้ในบางกรณี ก็สามารถยื่นแบบฯเสียภาษีครึ่งปีได้ สำหรับรายได้ ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรก เพื่อเป็นการทยอยการชำระภาษีขณะที่มีเงินได้เกิดขึ้นได้อีกด้วย