10 ตัวอักษรคันจิที่คนญี่ปุ่นใช้บ่อย รู้ไว้ได้ใช้แน่นอน
ญี่ปุ่น เป็นชาติที่มีความโดดเด่นในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นสำบัดสำนวนที่มีเอกลักษณ์ต่างจากชาติอื่น หรือการมีหัวใจบริการที่เยี่ยมยอด วันนี้เราจะมานับถอยหลังคำที่คนญี่ปุ่นมักจะใช้ หากคุณได้รู้ไว้รับรองว่าได้ใช้แน่นอน
10. 乾杯 — Cheers!
乾杯 — ออกเสียงว่า Kanpai แปลว่า หมดแก้ว หรือ Cheers!
หรือคำที่คนไทยคุ้นหูก็คือ คัมปาย นั่นเอง คุณจะได้ยินคำนี้บ่อยมากๆ เวลาอยู่ในงานเลี้ยง ไม่ว่าจะกับเพื่อนสนิทหรือเพื่อนร่วมงาน ในนี้เราให้คุณดูวิธีเขียนแบบตัวคันจิด้วย ทีนี้คุณจะพูด อ่าน หรือเขียนคำนี้ส่งให้เพื่อนก็ได้ฟีลเป็นกันเองกับคนญี่ปุ่นสุดๆ
9. 祝儀袋 — Cash Envelopes
祝儀袋 — ออกเสียงว่า Shugibukuro แปลว่า ซองใส่เงิน
วัฒนธรรมนี้คล้ายกับของไทยเลย ก็คือเมื่อคุณได้รับเชิญไปงานแต่งงาน คุณจะต้องเตรียมเงินใส่ซองส่งไปให้คู่บ่าวสาวด้วย แต่ซองนี้ห้ามใช้ซองเดิมที่ได้มาแบบคนไทยนะ ผู้ได้รับเชิญต้องไปซื้อซองใหม่ เป็นซองสำหรับงานแต่งงานโดยเฉพาะ ด้านในใส่เงินสำหรับคู่บ่าวสาวไว้ โดยปกติควรใส่ประมาณ 30,000 – 50,000 เยน (ประมาณ 8,600 - 14,300 บาท) ขึ้นกับความสนิท จากนั้นผนึกซองแล้วเขียนชื่อกับที่อยู่ลงบนซองด้วยลายมืออย่างประณีต ถ้าคุณประสงค์จะไปร่วมพิธีต้องเจาะจงให้ชัดเจน เพราะในที่นั่งงานจะระบุชื่อไว้ชัดเจนเลยว่าใครจะมานั่ง คราวหน้าถ้าได้รับเชิญไปงานแต่งงานของคนญี่ปุ่นอย่าลืมซื้อซองใส่เงินกันนะ
8. 入相の鐘 — Evening Bell
入相の鐘 — ออกเสียงว่า Iriai no kane แปลว่า สัญญาณบอกเวลาใกล้พลบค่ำ
ในญี่ปุ่น ถ้าคุณอาศัยอยู่ในย่านปริมณฑลหรือชนบท คุณจะได้ยินเสียงเพลงในช่วงเวลาห้าโมงเย็น (หรือสี่โมงเย็นในช่วงฤดูหนาวที่ฟ้ามืดเร็ว) เสมอ เพลงนี้เป็นเสียงสัญญาณบอกเวลา ให้เด็กๆ ที่อยู่แถวนั้นรู้ว่า เป็นช่วงเย็นใกล้ถึงเวลาพลบค่ำแล้ว ให้เตรียมตัวกลับบ้านกันได้แล้วก่อนมืด
7. 非常 — Emergency
非常 — ออกเสียงว่า Hijo แปลว่า ฉุกเฉิน
ญี่ปุ่นมีคำที่ความหมายใกล้เคียงกับคำนี้หลายคำ ซึ่งคงจะพอบอกใบ้ได้ว่า ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่เน้นเรื่องความปลอดภัยขนาดไหน อย่างไรก็ตาม คำว่า ฉุกเฉิน หรือ Hijo นี้ เป็นคำที่เคหะสถานยุคใหม่ๆ มักเลือกใช้กัน ถ้าคุณต้องการส่งสัญญาณฉุกเฉิน ให้มองคำที่เขียนแบบนี้ ซึ่งมักเขียนด้วยสีแดง อยู่ในตำแหน่งที่กดได้ง่าย เพียงกดแค่ครั้งเดียว จะส่งสัญญาณไปที่เจ้าหน้าที่ตำรวจให้เดินทางมาช่วยคุณทันที
ป.ล. ถ้าเจอในห้องน้ำอย่าเผลอไปกดเพราะคิดว่าเป็นปุ่มกดราดน้ำชักโครกล่ะ
6. 八重歯 — Double or Fanged Tooth
八重歯 — ออกเสียงว่า Yaeba แปลว่า ฟันซ้อนหรือฟันเขี้ยว
คำนี้ถูกพูดถึงเพราะ "ฟันเขี้ยว" กลายเป็นสัญลักษณ์ความน่ารักสไตล์ญี่ปุ่นของเด็กผู้หญิงยุคนี้ไปแล้ว คนตะวันตกส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบฟันเขี้ยวนี้นัก แต่สาวญี่ปุ่นจะภูมิใจมากทีเดียว หากมีฟันเขี้ยวตามธรรมชาติ ส่วนคนที่ไม่มี บางคนต้องไปทำศัลยกรรมเพิ่มฟันเขี้ยวเลยก็มีเหมือนกัน สำหรับผู้อ่านที่อยากไปทำฟันเขียวที่ญี่ปุ่น เราให้อักษรคันจิไว้แล้ว หากได้ไปที่นั่นก็สามารถเอาไปถามหมอฟันกันได้
5. 居眠り — Sleeping on the Job
居眠り — ออกเสียงว่า Inemuri แปลว่า การงีบหลับในที่ทำงาน
การงีบหลับระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ฟังดูเป็นอะไรที่ไม่ดีเท่าไหร่ แต่ปรากฏการณ์นี้กลับพบได้ทั่วไปในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะในที่ทำงานหรือในระบบขนส่งสาธารณะ และไม่เพียงแค่เป็นเรื่องปกติ แต่ยังถือเป็นเรื่องที่น่าชมเชยด้วย เพราะคนจะรู้สึกว่า คนๆ นี้ทุ่มเททำงานหนักจนอ่อนเพลียต้องผล็อยหลับไปเลยนั่นเอง ครั้งหน้าถ้าง่วงในที่ทำงาน อย่าลืมเอาคำนี้ไปลองใช้กันนะ
4. 代金引換 — Cash on Delivery (COD)
代金引換 — ออกเสียงว่า Daikin Hikikae แปลว่า การจ่ายเงินเมื่อได้รับของ หรือ Cash on Delivery (COD)
สำหรับคนต่างชาติที่ไปญี่ปุ่น การซื้อของออนไลน์โดยใช้บัตรเครดิตอาจจะไม่สะดวกนัก แต่รู้หรือไม่ว่า ร้านค้าปลีกออนไลน์ส่วนใหญ่มีบริการส่งของ แล้วให้เราจ่ายเป็นเงินสดเมื่อรับของได้ด้วย ครั้งหน้า ลองสังเกตดูตัวคันจิคำว่า 代金引換 ในเว็บ แล้วคุณก็จะสามารถซื้อของออนไลน์ได้โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิตเลย
3. 満員電車 — Crowded Train
満員電車 — ออกเสียงว่า Manin Densha แปลว่า รถไฟแน่นมาก
เป็นที่รู้กันว่า ความแน่นของรถไฟญี่ปุ่นในช่วงเวลาเร่งด่วนในเมืองใหญ่อย่างโตเกียวนั้น ปลากระป๋องยังเรียกพี่ เป็นที่กล่าวขานโจษจันกันถึงขนาดมีคนบัญญัติศัพท์เพื่ออธิบายความโหดของสถานการณ์นี้เลย สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนญี่ปุ่น สามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์นี้ได้ โดยการไม่ขึ้นรถไฟในช่วงเช้าและเย็นตอนชั่วโมงเร่งด่วน จะได้ไม่ต้องมาพูดคำนี้กันนะ
2. 自動販売機 — Vending Machines
自動販売機 — ออกเสียงว่า Jidohanbaiki แปลว่า ตู้ขายของอัตโนมัติ
ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งตู้ขายของอัตโนมัติ เพราะคุณสามารถพบตู้เหล่านี้ได้ทั่วไปทุกหนแห่ง ตั้งแต่ตู้ขายน้ำ ไปจนถึงตู้ขายของอื่นๆ อีกสารพัด ตัวคันจิของคำนี้อาจจะเขียนยากไปหน่อย แต่คุณก็อาจจะบันทึกไว้กรณีที่อยากถามคนญี่ปุ่นว่า “แถวๆ นี้มีตู้ขายของอัตโนมัติไหม” ก็ได้เหมือนกัน
1. 加熱便座 — Heated Toilet Seat
加熱便座 — ออกเสียงว่า Kanetsu Benza แปลว่า ฝารองนั่งชักโครกแบบปรับอุณหภูมิได้
เป็นคำที่มีโอกาสได้ใช้มากที่เดียว หากคุณกำลังหาที่พักช่วงไปเยือนญี่ปุ่นในฤดูหนาว เพราะการมีฝารองนั่งอุ่นๆ ให้นั่งในช่วงหน้าหนาวนั้นเป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมมาก เราให้ตัวคันจิไว้ด้วย เผื่อคุณอยากเอาไว้สื่อสารกับช่างประปาเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องน้ำ