สิ่งที่เราต้องเจอ เมื่อไปร้านสะดวกซื้อที่ญี่ปุ่น

สิ่งที่เราต้องเจอ เมื่อไปร้านสะดวกซื้อที่ญี่ปุ่น

สิ่งที่เราต้องเจอ เมื่อไปร้านสะดวกซื้อที่ญี่ปุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การซื้อของในร้านค้าที่ญี่ปุ่น เมื่อเราได้ของแล้วนำไปคิดเงินที่แคชเชียร์ เราอาจจะต้องเจอกับเรื่องที่ทำให้สงสัยหรือบางทีเป็นเรื่องที่เราไม่เคยสังเกต แต่จะมีเรื่องอะไรบ้าง ไปดูกันเลย


1. เมื่อจ่ายแบงก์ใหญ่

1. เมื่อจ่ายแบงก์ใหญ่commons.wikimedia.org

ที่ญี่ปุ่น แบงก์หมื่นเยนจะเป็นแบงก์ที่ใหญ่ที่สุด เวลาซื้อของเมื่อเราจ่ายแบงก์หมื่นเยน พนักงานจะค่อนข้างระวังในการรับแบงก์หมื่นเยน และระมัดระวังในการทอนเงินอยู่เสมอ บางร้านเมื่อพนักงานได้รับแบงก์หมื่นเยน ก็จะหันแบงก์ให้กล้องวงจรปิดหรือให้พนักงานคนอื่นๆ ได้เห็น หรือบางทีก็พูดออกมาเสียงดังหน่อยว่า ได้รับเงินมาหมื่นเยน เพื่อให้พนักงานคนอื่นได้ทราบ ป้องกันความผิดพลาดและความโปร่งใส

แล้วเวลาทอนเงิน พนักงานจะยังไม่เก็บแบงก์ทันที แต่จะวางไว้ด้านบนแคชเชียร์หรือบางที่ เงินก็จะยังอยู่ในถาดรับเงิน พนักงานจะทอนเงินให้ลูกค้าก่อนอย่างครบถ้วน โดยจะนับแบงก์ทั้งหมดที่ได้ทอนให้ลูกค้าเห็น เพื่อป้องกันความผิดพลาดหรือการทวงถามเงินภายหลัง เมื่อทอนเงินถูกต้องครบถ้วนแล้ว พนักงานถึงจะเก็บเงินที่ได้รับลงในเครื่องเก็บเงิน

2. เมื่อจ่ายด้วยบัตรเครดิต

2. เมื่อจ่ายบัตรเครดิต

ที่ญี่ปุ่นร้านค้าตั้งแต่ร้านสะดวกซื้อ ร้านแฟรนไชส์ใหญ่ๆ ที่มีสาขามากมาย ไปจนถึงร้านระดับชาวบ้านที่ดูแลกันเองแบบครอบครัว ส่วนมากสามารถจ่ายบัตรเครดิตได้ บางที่พนักงานจะรับบัตรเครดิตของเราไปรูดได้เลย แต่บางร้านโดยเฉพาะพวกร้านสะดวกซื้อจะมีเครื่องรูดบัตรวางอยู่ด้านหน้า เพื่อให้ลูกค้าเป็นคนรูดหรือเสียบบัตรเอง ทั้งนี้ก็เพื่อความโปร่งใสในการชำระเงิน

3. เมื่อซื้อน้ำหรือของชิ้นเล็ก

3. เมื่อซื้อน้ำหรือของชิ้นเล็ก

หากเข้าร้านสะดวกซื้อแล้วเราซื้อของชิ้นเล็กๆ ชิ้นเดียว เช่น ซื้อน้ำ 1 ขวด ที่ดูแล้วเหมือนจะดื่มได้ทันที หรือซื้อขนมชิ้นเล็กๆ เช่น ลูกอม หมากฝรั่ง พนักงานจะเป็นฝ่ายถามเราว่าเราจะใส่ถุงไหม 

ถ้าเราไม่เอาถุง พนักงานจะแปะสติ๊กเกอร์ที่เป็นโลโก้ของร้าน เพื่อเป็นการทำเครื่องหมายว่าสินค้าชิ้นนี้ได้ชำระเงินแล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้โดนเข้าใจผิดว่าเป็นขโมย หากเราถือสินค้าเข้าร้านอื่นที่มีสินค้าแบบเดียวกัน พนักงานก็จะไม่เข้าใจผิดว่าเรายังไม่จ่ายเงินอีกด้วย เพราะดูแล้วจะรู้ทันทีว่าเราซื้อมาจากร้านอื่นต่างหาก

4. เมื่อซื้อเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

4. เมื่อซื้อเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

ญี่ปุ่นจะห้ามบุคคลที่อายุต่ำกว่า 20 ปีดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือบุหรี่ ดังนั้นเวลาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือบุหรี่ที่ร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นจะมีการเช็ก โดยปกติหากพนักงานเจอคนที่หน้าเด็กมากๆ จนน่าสงสัย พนักงานก็สามารถขอดูใบขับขี่หรือบัตรประกันสุขภาพเพื่อขอยืนยันอายุได้ (ญี่ปุ่นไม่มีบัตรประชาชน) แต่หลังจากเริ่มใช้กฏนี้มาหลายปี เดี๋ยวนี้มีวิธีที่ไม่ต้องแสดงบัตรแล้ว ในปัจจุบันตามร้านสะดวกซื้อจะมีหน้าจอแบบในภาพให้ลูกค้าทัชปุ่มยืนยัน ว่าตัวเองอายุมากกว่า 20 ปี โดยเมื่อลูกค้ากดยืนยันแล้ว ทางร้านถึงจะขายให้ได้

การที่ลูกค้าทัชปุ่มยืนยันที่หน้าจอแล้วจะไม่ถือว่าเป็นความผิดของทางร้านแม้ลูกค้าจะโกหก แต่เป็นความผิดของลูกค้าที่ต้องรับผิดเองหากโดนจับได้ ที่ทำเป็นหน้าจอให้ทัชแบบนี้ก็เพื่อความรวดเร็ว รวมทั้งเป็นมาตรการความปลอดภัยของฝั่งร้านค้าและพนักงาน รวมถึงช่วยปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ซื้อด้วย (เพราะจะได้ไม่ต้องโชว์บัตรบ่อยๆ) 

แต่ถ้าถามว่า พนักงานขอดูบัตรทุกคนไปเลยจะปลอดภัยกว่าไหม โกหกไม่ได้เหมือนการให้มาทัชสกรีนกันแบบนี้ ก็อาจจะจริง แต่ส่วนใหญ่ก็เกรงใจกัน แทบไม่เคยเห็นพนักงานที่ขอดูบัตรแบบจริงๆ จังๆ เลย แถมค่อนข้างเสียเวลาด้วย เชื่อว่าสุดท้ายการที่พัฒนากันมาเป็นระบบทัชแบบนี้เป็นวิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้งานง่ายขึ้นนั่นเอง

5. เมื่อสั่งเครื่องดื่มจำพวกกาแฟ

5. เมื่อสั่งเครื่องดื่มจำพวกกาแฟ

ร้านสะดวกซื้อที่ญี่ปุ่นสามารถสั่งเครื่องดื่มจำพวกกาแฟได้ที่แคชเชียร์ บางร้านเมื่อเราสั่งแล้วพนักงานจะทำให้เราเรียบร้อย เราแค่หยิบฝาปิดแก้วและกระดาษครอบแก้ว แต่หลายๆ ร้านจะเป็นรูปแบบบริการตัวเอง เมื่อเราสั่งพนักงานจะคิดเงินและเอาแก้วเปล่าให้เรา แล้วเราต้องไปกดที่ตู้ข้างๆ แคชเชียร์เอาเอง ซึ่งเรื่องนี้จะทำให้คนต่างชาติไม่ค่อยใช้บริการ เพราะอาจจะไม่เข้าใจระบบหรือไม่ทราบวิธีการกดเครื่องดื่ม จึงนิยมไปตามร้านกาแฟ หรือซื้อกาแฟแบบขวดหรือกระป๋องมากกว่า

แต่ข้อดีของกาแฟแบบนี้ก็คือ ราคาถูก เพราะบริการตัวเอง กาแฟดำง่ายๆ เริ่มต้นที่ประมาณแก้วละร้อยเยนถ้วนๆ เมื่อเทียบกับร้านกาแฟทั่วไปที่มักเริ่มที่ประมาณ 250-300 เยน (ประมาณ 73-88 บาท) แล้วจะถูกกว่ามาก (ร้อยเยนถ้าคิดเป็นเงินบาทก็ประมาณ 30 บาท ถูกกว่าบางร้านที่ไทยเสียอีก)

6. เมื่อซื้อผ้าอนามัย/ถุงยางอนามัย

6. เมื่อซื้อผ้าอนามัย/ถุงยางอนามัย

เพื่อเป็นการรักษาความเป็นส่วนตัวของลูกค้าผู้หญิง จึงเป็นปกติที่เวลามีลูกค้าที่ซื้อผ้าอนามัย แทบทุกร้านพนักงานจะใส่ถุงกระดาษหรือใส่ถุงทึบให้ เพื่อไม่ให้มองเห็นสิ่งของข้างในถุง ถึงแม้ว่าการซื้อผ้าอนามัยจะเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้หญิง แต่ก็ยังมีคนที่เขินอายเวลาซื้อผ้าอนามัย 

บริการแบบนี้ยังรวมไปถึงพวกถุงยางอนามัยหรือพวกเซ็กซ์ทอยอีกด้วย ทางร้านก็จะห่อถุงกระดาษหรือใส่ถุงทึบให้เช่นกัน

 

เป็นอย่างไรกันบ้าง รู้จักอยู่แล้วกี่เรื่องเอ่ย หลายๆ เรื่องเป็นสิ่งที่เห็นได้แม้ในเมืองไทย แต่ก็ยังมีอีกหลายๆ เรื่องที่หลายคนไม่เคยเห็นหรือยังไม่ทราบว่าทำเพื่ออะไร (แม้แต่คนญี่ปุ่นเอง) ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใส่ใจในเรื่องการบริการแม้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ  ความซื่อสัตย์ ความโปร่งใส และใส่ใจรายละเอียด ทำให้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้เองที่ทำให้ชาวต่างชาติประทับใจ และยกย่องให้เป็นประเทศที่มีการบริการที่ยอดเยี่ยม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook