สาวๆ ว่าอย่างไร? ญี่ปุ่นเตรียมควบคุมไม่ให้ซื้อเครื่องสำอางตุนเยอะจนเกินไป
ตอนนี้ทางบริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอางหลายเจ้าของประเทศญี่ปุ่นกำลังพยายามเรียกร้องให้มีการควบคุมจำนวนชิ้นในการซื้อสินค้าของผู้บริโภค เนื่องจากปริมาณการขายสินค้าสำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวที่ญี่ปุ่นเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้สินค้าขาดตลาด หรือส่วนหนึ่งถูกนำไปขายต่อในต่างประเทศ ซึ่งภาพลักษณ์ของแบรนด์ก็เสื่อมเสียลงจากเหตุดังกล่าว ทางบริษัทผู้ผลิตต่างๆ จึงเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องเรียกร้องให้มีการจำกัดจำนวนการซื้อ
ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้เป็นต้นมา แบรนด์เครื่องสำอางชื่อดังอย่าง FANCL ที่มีสินค้ายอดฮิตเป็นที่ล้างเครื่องสำอาง FANCL Mild Cleansing Oil เริ่มมีการติดประกาศที่ร้านสาขาที่ทางบริษัทบริหารงานโดยตรง สำหรับลูกค้าเป็นภาษาญี่ปุ่นและภาษาจีน โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับจำนวนการซื้อ ให้ซื้อได้ “คนละไม่เกิน 10 ชิ้นต่อ 1 สัปดาห์” เนื่องจากพบว่าสินค้าที่เรียกได้ว่าเป็นสินค้า “ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า” ในหมู่คนจีนนั้นมีการนำไปขายต่อที่จีน จึงเกรงว่าจะเป็นการทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์เสียหายได้
Albion ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ KOSE เริ่มควบคุมจำนวนการซื้อสินค้าโลชั่นน้ำนมของแบรนด์ Albion ให้อยู่ที่ 1 ชิ้นต่อวันมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยประกาศ “ขอร้อง” ต่อลูกค้าทางอินเทอร์เน็ตเป็นภาษาญี่ปุ่น จีน และอังกฤษ เนื่องจากยอดขายสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นมาก จนทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทัน
ส่วนแบรนด์ Shiseido ก็เริ่มจำกัดจำนวนการซื้อครีมบำรุงผิวของแบรนด์ตามห้างสรรพสินค้าในย่านกินซ่า ตั้งแต่ประมาณเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา โดยให้ซื้อได้แค่วันละ 1 ชิ้น พร้อมทั้งติดป้ายประกาศเป็นภาษาญี่ปุ่น จีน และอังกฤษ ห้ามไม่ให้มีการซื้อสินค้าเพื่อวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร และให้เหตุผลว่าการควบคุมจำนวนการซื้อนั้น ก็เพื่อต้องการให้สินค้ากระจายไปถึงมือลูกค้าให้ได้มากที่สุด
การจำกัดปริมาณการซื้อเช่นนี้ เริ่มเห็นได้ชัดมาตั้งแต่ประมาณปี 2015 ในปัจจุบันนี้เริ่มมีสินค้าที่มีการจำกัดจำนวนการซื้อเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะลดปริมาณจำนวนชิ้นในการซื้อต่อครั้งลงเรื่อยๆ ด้วยยอดขายในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผลกำไรในระยะหลังของทั้ง Shiseido และ POLA สูงที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ ส่วน KOSE ก็คาดว่าจะได้ผลกำไรสูงที่สุดด้วยเช่นกัน แต่ผลข้างเคียงของจากยอดขายที่เพิ่มมากขึ้น ทางฝั่งแบรนด์จึงจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการในการจำกัดจำนวนการซื้ออย่างช่วยไม่ได้