ส่องความลับของการเก็บไข่มุกในญี่ปุ่น

ส่องความลับของการเก็บไข่มุกในญี่ปุ่น

ส่องความลับของการเก็บไข่มุกในญี่ปุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากมองลงไปบนแสงสะท้อนที่ราวกับสามารถมองทะลุได้ของ ไข่มุกอาโกยะ แล้วล่ะก็ เราจะสามารถเห็นประกายแสงสีรุ้งได้ นี่คือของขวัญชั้นยอดที่เกิดจากท้องทะเล หอยมุก และชาวประมงผู้ดูแลอย่างตั้งใจ


www.youtube.com

โกเบ เป็นที่ตั้งของบริษัทผู้ผลิตไข่มุกมากกว่า 200 แห่ง และยังเป็นที่ตั้งของท่าเรือนานาชาติที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานย้อนไปถึงปี 1868 โดยมีพ่อค้าต่างชาติมากมายที่มาตั้งถิ่นฐานการแลกเปลี่ยนสินค้าที่เมืองนี้ และพ่อค้าชาวญี่ปุ่นก็ได้นำ ไข่มุกอาโกยะ มายังเมืองนี้หลังจากนั้นไม่นาน

ไข่มุกอาโกยะจะได้รับการเลี้ยงดูในน้ำทะเลบริเวณที่มีแร่ธาตุสูง มีสีสันสวยตั้งแต่ตอนเก็บขึ้นมาจากน้ำ แต่หลังจากจำแนกและนำมาผ่านกระบวนการแล้ว จะสวยยิ่งกว่าเดิมเสียอีก

มากไปกว่านั้น ไข่มุกอาโกยะจะถูกมาจำแนกและผ่านกระบวนการต่างๆ ในเมืองโกเบ ก่อนที่จะนำมาร้อยเป็นสร้อยและจัดจำหน่ายต่อไป โดยเกรดที่สูงที่สุดคือไข่มุกที่มีประกายสีชมพูอ่อนๆ และมีความกลมสมบูรณ์แบบ แต่นอกจากไข่มุกกลมๆ แล้ว ไข่มุกที่มีรูปร่างไม่กลมสมบูรณ์ แต่มีความรีหรือบิดเบี้ยวบ้างก็เริ่มเป็นที่นิยมขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีนี้อีกด้วย เนื่องจากหน้าตาที่มีเอกลักษณ์

จุดกำเนิดที่นางาซากิ

จุดกำเนิดที่นางาซากิ

แน่นอนว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับไข่มุกงามต้องเกิดขึ้นที่เมืองที่มีทะเล ไข่มุกอาโกยะก็เช่นกัน โดยไข่มุกอาโกยะนั้นจะได้รับการเลี้ยงที่ เกาะทสึชิมะ จังหวัดนางาซากิ ซึ่งขึ้นชื่อในฐานะเป็นหนึ่งในสามของแหล่งเลี้ยงหอยมุกที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น นอกจากทสึชิมะแล้ว อีกสองที่ก็คือ เมืองอุวาจิมะ ในเกาะชิโกกุ และ อ่าวอาโกะ ในจังหวัดมิเอะ

แต่ละปีในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ชาวประมงของบริษัทผู้ผลิตไข่มุก Kitamura Pearls จะนำหอยมุกขึ้นมาจากน้ำ โดยหอยมุกที่ทำการเก็บเกี่ยวจะมีอายุประมาณ 1-2 ปี

งานเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ ในแต่ละวันมีหอยมุกที่ต้องเก็บเกี่ยวมากกว่าห้าหมื่นตัว นอกจากไข่มุกแล้ว เนื้อหอยก็ยังถูกแยกไว้ใช้ในการบริโภค และเปลือกหอยก็แยกไว้สำหรับใช้ในการทำงานฝีมืออีกด้วย

การเลี้ยงหอยมุก เริ่มโดยการปฏิสนธิตัวอ่อนของหอย ซึ่งกระบวนการนี้ทำโดยมนุษย์ และหลังจากผ่านไปสักสองหรือสามปี ก็จะถูกนำไปทำการฝังนิวเคลียส ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุด

นิวเคลียส หรือส่วนที่จะกลายเป็นไข่มุกนั้นก็คือเศษเปลือกหอยที่ถูกทำให้กลม มีขนาดเล็กๆ เพียง 6 มิลลิเมตรเท่านั้น โดยถูกนำมาจากหอยที่เรียกว่า Eastern Asiatic freshwater clam ที่ถูกเลี้ยงในมิสซิสซิปปี ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผู้เชี่ยวชาญจะฝังลงในตัวหอยด้วยเครื่องมือพิเศษและความแม่นยำระดับเดียวกับการผ่าตัด โดยฝังลงไปบริเวณ mantle หรือผิวหนังส่วนที่ปกคลุมอวัยวะภายในของหอย หลังจากทำการฝังเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำหอยนางรมจำนวนมากมาใส่ลงในถุงที่ถักจากเชือก ก่อนนำลงไปแขวนในแพกลางทะเล จากขั้นตอนนี้เป็นต้นไป ไข่มุกจะสวยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับสารอาหารในน้ำทะเลแล้ว

ระหว่างขั้นตอนนี้ ทราบไหมว่าเกิดอะไรขึ้นในเปลือกหอย? ก่อนอื่นเลย mantle จะเข้าห่อหุ้มชิ้นนิวเคลียสจนเป็นเหมือนถุง ก่อนที่จะค่อยๆ สร้างสาร calcium carbonate ออกมาเคลือบเป็นชั้นๆ จนกระทั่งออกมาเป็นไข่มุกนั่นเอง

ภายในเปลือกของหอยมุกซึ่งเปรียบได้เหมือนกับแม่ของไข่มุก จะมีผิวลื่นและเรียบ เป็นประกายแวววาว และมีแสงสะท้อนสีรุ้งเหมือนกับสีของไข่มุก มองดูแล้วก็น่าพิศวงดีที่ไข่มุกและเปลืิอกที่ห่อหุ้มมันนั้นมีสีสันเหมือนกันอย่างแยกไม่ออก

หนึ่งชั้นของ nacre หรือสารที่หอยขับออกมาเพื่อเคลือบไข่มุกนั้นมีความหนาเพียง 0.2-0.5 ไมครอน (หนึ่งไมครอนคือ 1/1000 มิลลิเมตร) ซึ่งหมายความว่า การจะสร้างไข่มุกขนาด 6.5 มิลลิเมตรนั้น ต้องการสารนี้มาเคลือบมากถึง 1,000-2,500 ชั้นเลยทีเดียว ซึ่งการที่มีชั้นเคลือบที่ซับซ้อนแบบนี้เอง ที่เป็นเหตุให้ไข่มุกแต่ละเม็ดมีความแตกต่างกัน แม้บางทีจะต่างกันน้อยมากจนตามองไม่เห็น แต่ไม่มีไข่มุกสองเม็ดไหนที่มีโครงสร้างเหมือนกันแน่นอน

แต่ก็ใช่ว่าหอยมุกทุกตัวจะสร้างไข่มุกได้ บางทีนิวเคลียสถูกคายออกมาและลอยหายไปกับน้ำทะเลก่อนจะได้เป็นไข่มุกก็มี บางทีเพรียงหรือปลิงทะเลมาเกาะที่เปลือกหอย ทำให้หอยขาดอาหารตายไปก็มี โดยทาง Kitamura Pearls ทำการตรวจสอบกระชังที่เลี้ยงหอยมุกเป็นประจำ และจับเอาเหล่าปรสิตตัวนี้ไปทิ้งด้วยมือ ช่วยให้หอยมุกมีอายุยืนขึ้น และยิ่งอายุยืนไข่มุกก็จะเม็ดโตตาม หากแต่หอยมุกที่แก่เกินไปจะปล่อยสารที่ทำให้ไข่มุกมีสีมัวหมอง สูญเสียประกายแวววาวไป ถ้าเก็บเกี่ยวช้าเกินไปอาจทำให้ไข่มุกเสียมูลค่าได้ จึงต้องระมัดระวังเรื่องเวลาเก็บเกี่ยวเป็นอย่างมาก

ในฤดูหนาวนั้น การสร้างชั้น nacre ก็ลดลง ทำให้ชั้นที่ได้บางลง แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับเป็นไข่มุกที่มีผิวที่สะท้อนประกายแสงแบบพิเศษ เพราะเหตุนี้เองทำให้ประมาณสัปดาห์หนึ่งก่อนทำการเก็บเกี่ยว จะมีการวัดอุณหภูมิน้ำเพื่อเลือกช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเก็บเกี่ยว แต่ถึงแม้จะพยายามขนาดนี้และมีขั้นตอนมากมาย ก็ยังพบว่าหอยมุกอย่างน้อย 45-55% ตายไปแล้วในการเก็บเกี่ยวแต่ละครั้ง ทำให้ไข่มุกไม่มีประกายอีกต่อไป นอกจากนี้ไข่มุกเองก็ไม่ได้กลมทุกเม็ด บ้างก็มีรูปทรงรี และบ้างก็ไม่ได้มีสีขาวนวลอย่างที่เราคุ้นเคยกัน

การเลี้ยงหอยมุกมีปัจจัยต่างๆ มากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง พอนึกดูแล้วเหมือนกับว่าการผลิตไข่มุกให้ออกมาดีนั้นยากจนแทบเป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไข่มุกสีชมพูนวลที่ยกย่องกันว่ามีมูลค่ามากที่สุด แต่เหล่าผู้เลี้ยงหอยมุกก็สามารถทำจนสำเร็จ

นอกจากความสามารถของผู้เลี้ยงและมาตรฐานการดูแลที่สูงแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญและไม่มีใครสามารถควบคุมได้เลยก็คือธรรมชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างน้ำทะเลและเปลือกหอยนี่เองที่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้ แต่ก็เพราะเหตุผลเช่นนี้เองที่ทำให้การเลี้ยงหอยมุกมีสเน่ห์ดึงดูดแบบที่คาดไม่ถึง

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ ส่องความลับของการเก็บไข่มุกในญี่ปุ่น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook