ไม่ยึดติด ไม่ปิดกั้น! พระญี่ปุ่นยุคใหม่ กับศาสนกิจสุดแนวที่คุณต้องแปลกใจ

ไม่ยึดติด ไม่ปิดกั้น! พระญี่ปุ่นยุคใหม่ กับศาสนกิจสุดแนวที่คุณต้องแปลกใจ

ไม่ยึดติด ไม่ปิดกั้น! พระญี่ปุ่นยุคใหม่ กับศาสนกิจสุดแนวที่คุณต้องแปลกใจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศาสนาพุทธกับคนญี่ปุ่น คือวิถีชีวิตที่มีความสัมพันธ์กันอย่างน่าสนใจ จนบางทีก็เหนือขอบเขตคนไทยซึ่งมีรูปแบบทางศาสนาที่ต่างกันจะคิดคาดเดาไปถึง นั่นเพราะรูปแบบการนับถือศาสนาของคนญี่ปุ่นนั้น เป็นแบบผสานความเชื่อ (Syncretic) คนๆ หนึ่งสามารถเข้าร่วมทุกศาสนาได้โดยไม่เจาะจง จนมีคำกล่าวว่า คนญี่ปุ่น เกิดแบบชินโต แต่งงานแบบคริสต์ ตายแบบพุทธ เนื่องจากในตอนเกิดนั้น คนญี่ปุ่นมักทำพิธีรับขวัญกันแบบชินโต ส่วนตอนแต่งงานนิยมฉลองกันในโบสถ์ ประกอบพิธีสมรสแบบคริสต์ ส่วนงานฌาปนกิจศพนั้นทำพิธีโดยพระสงฆ์ศาสนาพุทธ

ซึ่งเมื่อเหตุการณ์เป็นดังที่ว่านี้นานๆ ไป เมื่อใครนึกถึงศาสนาพุทธก็มักคิดเชื่อมโยงแต่กับเรื่องความตายไปโดยปริยาย ส่งผลให้แต่ละปีมีคนญี่ปุ่นเข้าวัดน้อยลงๆ เพราะจะไปก็ต่อเมื่อมีพิธีที่เกี่ยวข้องกับความสูญเสียของญาติมิตรเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ศาสนาพุทธในญี่ปุ่นจึงวางแผนสารพันกลยุทธ์การปรับตัว เพื่อให้เข้าถึงวิถีชีวิตของคนทั่วไป ไม่ใช่แค่ถูกนึกถึงเพียงในงานอวมงคลเท่านั้น

ก่อนจะมาดูกันว่าสารพันกลยุทธ์สุดแนวนั้นมีอะไรบ้าง ต้องบอกก่อนว่า สมณเพศหรือพระในศาสนาพุทธญี่ปุ่นนั้นต่างจากประเทศไทย (รวมถึงอีกหลายๆ ประเทศ) ซึ่งมักมีบทบัญญัติหรือข้อห้ามในเรื่องต่างๆ เช่น การฉันเนื้อสัตว์ การดื่มสุรา การสมรส และการมีลูก แต่พระในญี่ปุ่นนั้น บัญญัติเหล่านี้จะเลือกทำหรือไม่ทำก็ได้ ไม่ได้เป็นข้อบังคับแต่อย่างใด จึงเป็นเรื่องปกติที่จะเห็นพระในญี่ปุ่นดื่มเหล้า แต่งงานและมีลูก ใช้ชีวิตครอบครัวอย่างปกติสุขเหมือนคฤหัสถ์ทั่วไป รวมไปถึงเป็นเรื่องธรรมดาด้วย ที่จะเห็นพระมาร่วมรายการบันเทิงทางโทรทัศน์ อย่างที่เราจะเล่าให้ฟังกันในครั้งนี้

หนังสือภาพ

กลยุทธ์อย่างแรกคือ หนังสือภาพ หากใครได้ติดตามวงการดาราญี่ปุ่นคงรู้ว่า ศิลปินทั้งชายและหญิงนิยมทำโฟโต้บุ๊คกันมาก วงการสงฆ์ก็ไม่พลาดเหมือนกัน โดยในปี 2013 ได้มีการตีพิมพ์สมุดภาพที่ชื่อว่า Bibouzu zukan หรือ พระหล่อหน้าตาดี พร้อมด้วยข้อความชักชวน “เราไปวัดกันเถอะ!” ทำกันขนาดนี้ก็เพราะอยากสร้างแรงจูงใจให้วัยรุ่นไปเข้าวัดเข้าวากันบ้าง... เท่านั้นเอง เนื้อหาภายในเล่มนอกจากจะมีภาพพระรูปงามทั่วญี่ปุ่นรวบรวมมาให้ดูกันแล้ว ยังบอกอีกด้วยว่าพระรูปนั้นจำอยู่ที่วัดไหน และเดินทางไปอย่างไร 

japanese-buddhist-priests-1

Rakuten

รายการบันเทิง

รายการบันเทิงทางโทรทัศน์ก็มีพระมาให้เห็นเช่นกัน อย่างเช่นรายการ Bucchakke-ji นั้น ไม่ใช่แค่มีพระมาร่วมรายการ แต่เป็นรายการของพระเลย โดยเนื้อหารายการเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา เช่น บทบาทของสตรีในฐานะนักบวชทางพุทธศาสนา ชีวิตประจำวันของพระ ความกังวลของพระ เป็นต้น แม้รายการจะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ก็แสดงให้เห็นว่า พุทธศาสนาพยายามใช้สื่อปัจจุบันเพื่อให้ใกล้ชิดกับคนทั่วไปอย่างไรบ้าง

japanese-buddhist-priests-2TV Asahi

บาร์เทนเดอร์

การดื่มแอลกอฮอล์ ถือเป็นบัญญัติห้ามสำหรับพระสงฆ์ในหลายประเทศ แต่ในญี่ปุ่น พระดื่มเหล้าถือเป็นเรื่องสามัญ แล้วถ้าดื่มเหล้าได้ ทำไมไม่ใช้โอกาสนี้ใกล้ชิดญาติโยมเสียเลย ด้วยเหตุนี้ ที่ญี่ปุ่นจึงเปิดบาร์เหล้าขึ้นมาโดยมีพระมาทำหน้าที่เป็นบาร์เทนเดอร์! บาร์แห่งนี้มีชื่อว่า VOW’S BAR ในเมืองนากาโน่ ที่นี่หลวงพ่อไม่ได้นั่งสวดมนต์ แต่ท่านทำหน้าที่พูดคุยให้คำปรึกษาแก่คนที่อยากมาระบายความทุกข์

ลองมองไปรอบๆ ตัว เราอาจจะได้เห็นพระอีกมากมายที่คอยช่วยเหลือผู้คน ไม่ว่าจะเป็นผู้สนับสนุน เป็นที่ปรึกษา รวมถึงอาสาสมัครดูแลชุมชน โดยไม่จำเป็นต้องอยู่แต่ในวัดเพียงอย่างเดียว

นอกจากหนังสือ รายการโทรทัศน์ และบาร์ ที่ญี่ปุ่นยังมีการประกวดระดับประเทศเพื่อเฟ้นหา “พระที่รูปงามที่สุด” เป็นประจำทุกปีด้วย

ศาสนา VS เพลงแดนซ์

ส่วนสายที่ชอบการแสดง ที่ญี่ปุ่นยังมีอีเวนต์ที่ผสานศาสนากับเพลงเทคโนฯ เอาไว้ด้วยกันด้วย นั่นคือที่ วัด Shouon-ji จังหวัดฟุกุอิ (Fukui) เจ้าอาวาสวัดนี้เคยทำงานเป็นดีเจ รวมถึงเป็นทีมงานด้านแสงสีมาก่อน ด้วยความเป็นห่วงที่เห็นวัยรุ่นญี่ปุ่นปัจจุบันเหินห่างจากศาสนา ท่านจึงได้ขอบริจาคเงินเพื่อทำโครงการสุดล้ำนี้ขึ้นมา โดยหวังว่าบทเพลงและแสงสีแบบสมัยใหม่จะช่วงดึงดูดให้ศาสนิกชนหันมาสนใจเข้าวัดกันมากขึ้น ลองดูวิดีโอการแสดงนี้กันได้เลยว่า แสงสีน่าตื่นตาแค่ไหน

 

หากจะว่าไปกิจกรรมเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะมีแต่เสียงชื่นชม เพราะคนต่างชาติหรือแม้แต่คนในญี่ปุ่นบางส่วนก็ครหาว่ากล่าวอยู่เหมือนกัน อย่างเช่นการประกวดพระรูปงาม ที่บอกว่าชวนให้นึกถึงศิลปินไอดอลมากกว่านักบวช แต่ขณะเดียวกันก็มีบางส่วนที่มองว่า ศาสนาควรเปลี่ยนตามยุคสมัย ไม่ใช่ยึดติดอยู่แต่กับแบบดั้งเดิม ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้วัดหลายแห่งก็มีนโยบายจัดพิธีสมรสให้กับคู่รักร่วมเพศแล้ว

สำหรับสังคมญี่ปุ่น ซึ่งประชาชนระบุว่า ไม่มีศาสนาเกินกว่าครึ่ง (และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น) นี้ คงไม่แปลกที่วัดจะเริ่มมองว่า ต้องจับกลุ่มเป้าหมายทางศาสนาไปยังวัยรุ่นให้ได้มากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงช่วยไม่ได้ที่กิจกรรมทางศาสนาจะต้องมีสีสันทันสมัย เพื่อดึงดูดความสนใจแข่งกับกิจกรรมบันเทิงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการประกวดพระรูปงาม รายการทีวีพระที่พูดถึงไป ไปจนกระทั่งถึงอีเวนต์เดินบนแคทวอล์ก หรือเต้นเพลงฮิปฮอป ทั้งหมดนี้ให้พระแสดงล้วนๆ ซึ่งพระบางส่วนก็ทำกิจกรรมเหล่านี้ (เช่น การเต้น) เป็นงานอดิเรกอยู่แล้ว แต่นอกเหนือจากการนำเสนอความสามารถแล้ว นี่ยังเปิดโอกาสให้คนใกล้ชิดศาสนา รู้สึกว่าการเดินเข้าวัดไม่ใช่เรื่องไกลตัว รวมถึงสบายใจที่จะเข้ามาพูดคุยปรับทุกข์ด้วย ไม่ใช่นานๆ มาที หรือมาเพียงแค่ตอนมีงานศพอย่างที่เคยเป็นมา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook