ตามรอยเท้าหมาป่าในความทรงจำของญี่ปุ่น

ตามรอยเท้าหมาป่าในความทรงจำของญี่ปุ่น

ตามรอยเท้าหมาป่าในความทรงจำของญี่ปุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ข่าวการตายของแรดขาวเพศผู้ชื่อ ซูดาน เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเป็นอีกเครื่องย้ำเตือนถึงผลกระทบที่เรามีต่อธรรมชาติรอบตัว และหากพูดถึงสิ่งมีชีวิตที่หายไปจากญี่ปุ่นแล้ว “หมาป่า (狼)” คงเป็นคำแรกๆ ที่เรานึกถึง เนื่องในโอกาสนี้ เราย้อนกลับไปทำความรู้จักหมาป่าที่เคยอยู่ในญี่ปุ่นกัน


ญี่ปุ่นเคยมีหมาป่า

“ญี่ปุ่นเคยมีหมาป่า” เป็นวลีที่คนต่างชาติอย่างเราอาจจะลืมไปหลายครั้ง ANNGLE ก็เช่นกัน จนกระทั่งนึกขึ้นได้ว่าประโยคนี้มีอยู่และเป็นจริง สิ่งที่ตามมาคือคำถามว่า “หมาป่าในญี่ปุ่นคือหมาป่าแบบไหน?” เราไปทำความรู้จักกันดีกว่า

หมาป่าญี่ปุ่น

หมาป่าญี่ปุ่น (日本狼) เป็นหมาป่าที่เคยอาศัยอยู่ในเกาะฮอนชู (本州) ชิโคคุ (四国) และคิวชู (九州) ของญี่ปุ่น เป็นสายพันธุ์ย่อยของหมาป่าสีเทา (Gray Wolf) มีชื่อสายพันธุ์ย่อยคือ แคนิส ลูปัส โฮโดฟิแลกซ์ (Canis Lupus Hodophilax) โดยชื่อโฮโดฟิแลกซ์มีรากศัพท์มาจากคำว่า โฮโด (Hodo) และฟิแลกซ์ (Phylax) ในภาษากรีกที่มีความหมายว่า “เส้นทาง (Path)” และ “ผู้พิทักษ์ (Guardian)” ที่สอดคล้องกับความเชื่อในวัฒนธรรมญี่ปุ่นว่า หมาป่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่คุ้มครองนักเดินทาง

จากการค้นพบทางโบราณคดีและการตรวจสอบ DNA คาดว่า หมาป่าญี่ปุ่นเดินทางมาจากไซบีเรีย และอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยโจมง (縄文時代) เมื่อ 10,000 – 250 ปีก่อนคริสตกาล จากบันทึกของ คอนราด เจคอบ เทมมิงค์ (Coenraad Jacob Temminck) นักสัตววิทยาที่เคยสังเกตการณ์หมาป่าญี่ปุ่นระบุว่า หมาป่าญี่ปุ่นมีลักษณะค่อนข้างเล็ก ขาสั้น และมีขนนุ่มสั้น ความสูงของซากที่ถูกสตั๊ฟไว้อยู่ที่ 56-58 เซนติเมตร อย่างไรก็ตาม เนื่องจากหมาป่าญี่ปุ่นและสุนัขภูเขา (山犬) มีความคล้ายคลึงกัน ที่ผ่านมาจึงมีการศึกษาที่รวมหมาป่าญี่ปุ่นกับสุนัขภูเขาด้วยกันอยู่พอสมควรจนทำให้ยากที่จะระบุลักษณะของหมาป่าญี่ปุ่นได้ชัดเจน

หมาป่าฮอกไกโด

หมาป่าฮอกไกโด หรือ หมาป่าเอโสะ (蝦夷狼) เป็นหมาป่าที่เคยอาศัยอยู่บนเกาะฮอกไกโด (北海道) คาดว่าอพยพเข้ามาก่อนหมาป่าญี่ปุ่นเล็กน้อย ผ่านธารน้ำแข็งที่เชื่อมเกาะซาคาลิน (Sakhalin) ของรัสเซียกับเกาะฮอกไกโด มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ แคนิส ลูปัส ฮัตไท (Canis Lupus Hattai) เป็นอีกสายพันธุ์ย่อยของหมาป่าสีเทา มีเชื้อสายใกล้เคียงกับหมาป่าในทวีปอเมริกาเหนือโดยคาดว่าแยกสายพันธุ์ออกมาเมื่อประมาณ 9,300 ปีก่อน

ซากหมาป่าเอโสะในมหาวิทยาลัยฮอกไกโด (北海道大学)

ชื่อ “เอโสะ” มีความหมายว่า “ต่างชาติ” ในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งใช้เรียกกลุ่มชนเผ่าไอนุในฮอกไกโดเช่นกัน บันทึกของ วลาดิเมียร์ เฮปต์เนอร์ (Vladimir Heptner) นักสัตววิทยาชาวโซเวียต (รัสเซียในปัจจุบัน) ระบุว่า หมาป่าฮอกไกโดมีขนาดใหญ่พอๆ กับหมาป่ายูเรเชีย (Eurasian wolf) มีขนสีเทาอ่อนและขนหลังสีเข้ม ซากที่ถูกสตั๊ฟไว้มีส่วนสูงที่ 70-80 เซนติเมตร

หมาป่ายูเรเชีย ญาติหมาป่าเอโสะ เป็นหมาป่าที่พบได้ทั่วไปในยุโรปและเอเซียตอนบน

วันที่หมาป่าหายไปจากญี่ปุ่น

ทั้งหมาป่าญี่ปุ่นและหมาป่าฮอกไกโดต่างหายไปจากญี่ปุ่นในช่วงปฏิรูปเมจิ (明治維新) ด้วยสาเหตุเดียวกันคือการถูกมนุษย์ล่า อย่างไรก็ตาม ที่มาของการล่านั้นต่างออกไปเล็กน้อย

กรณีหมาป่าญี่ปุ่น

เนื่องจากเหยื่อของหมาป่านั้นหมายถึง "ม้า" (ทั้งม้าป่าและม้าที่ชาวบ้านเลี้ยง) ด้วย จึงมีการล่าหมาป่าเพื่อป้องกันปศุสัตว์ อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 1736 มีการแพร่ระบาดของพิษสุนัขบ้า ซึ่งคาดว่ามาจากจีนหรือเกาหลี และติดเชื้อมาถึงญี่ปุ่น โดยเชื้อพิษสุนัขบ้านั้นได้แพร่ระบาดมาถึงประชากรหมาป่าด้วย ทำให้หมาป่าเป็นอันตรายต่อทั้งปศุสัตว์และคน จนต้องมีการจัดการล่าหมาป่าอย่างเป็นกิจจะลักษณะขึ้น นอกจากพิษสุนัขบ้าแล้ว คาดว่าพื้นที่ป่าที่หายไปทำให้ถิ่นที่อยู่ของหมาป่าลดลง จนนำไปสู่ความขัดแย้งกับชาวบ้านในพื้นที่ได้เช่นกัน จนในช่วงปฏิรูปเมจิได้มีการประกาศให้การล่าหมาป่าเป็นนโยบายของรัฐ จนหมาป่าญี่ปุ่นหายไปในที่สุด ทั้งนี้เคยมีบันทึกว่าสวนสัตว์อุเอโนะ (上野動物園) เคยมีหมาป่าในครอบครองแต่ไม่มีรูปถ่ายเป็นหลักฐาน คาดว่าหมาป่าตัวนั้นมีชีวิตอยู่จนถึงกลางปี ค.ศ. 1892

รูปจำลองหมาป่าตัวสุดท้ายที่ถูกพบในญี่ปุ่น

หมาป่าญี่ปุ่นที่เชื่อว่าเป็นตัวสุดท้ายถูกพบและล่าในเดือนมกราคมปี ค.ศ. 1905 ที่หมู่บ้านฮิงาชิโยชิโนะ (東吉野村) จังหวัดนารา (奈良県) เป็นหมาป่าเพศผู้ที่ยังไม่โตเต็มที่ โดยซากของมันถูกขายให้ชายชาวต่างชาติชื่อ แอนเดอร์สัน ในราคา 8.5 เยน ซึ่งถูกกว่าราคาทั่วไปในตลาดที่มักขายได้หลายสิบเยน ณ เวลานั้น ซากหมาป่าถูกสตั๊ฟไว้ก่อนถูกนำกลับไปยังประเทศอังกฤษพร้อมซากสัตว์อื่นที่แอนเดอร์สันซื้อมา ปัจจุบันหมาป่าตัวดังกล่าวถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรรมชาติลอนดอน (London Natural Museum)

กรณีหมาป่าฮอกไกโด

สำหรับกรณีของหมาป่าฮอกไกโดนั้น ในช่วงปฏิรูปเมจิมีนโยบายปฏิรูปการเกษตรในฮอกไกโดให้ทันสมัยขึ้น โดยเน้นการเลี้ยงปศุสัตว์ (Ranching) มากกว่าการปลูกข้าวที่มีมาแต่เดิม ด้วยเหตุนี้หมาป่าที่ล่าม้าและกวางอยู่ในทางใต้ของเกาะฮอกไกโดจึงเป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงปศุสัตว์ และถูกประกาศให้เป็น “สัตว์อันตราย (有害動物)” โดยรัฐบาลญี่ปุ่นและ เอ็ดวิน ดัน (Edwin Dun) ที่ปรึกษาด้านการเกษตรในขณะนั้นได้รับมอบหมายให้กำจัดหมาป่าฮอกไกโดโดยใช้วิธีการวางยาพิษ


หมาป่าที่หลงเหลือเพียงใน "วัฒนธรรมหมาป่า" ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น

ในความเชื่อชินโต (神道) ของญี่ปุ่นมักมีการผูกหมาป่าเข้ากับภูเขา ซึ่งเป็นสถานที่อันตรายสำหรับมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่า หมาป่าเป็นหนึ่งในผู้ส่งสารของเทพเจ้า ทั้งยังเป็นสัตว์มีคุณที่กำจัดหมูป่าซึ่งคอยมาทำลายพืชไร่ให้ และบางครั้งยังทิ้งเหยื่อของตนไว้ให้มนุษย์ ดังนั้นภาพลักษณ์ของหมาป่าในความเชื่อของญี่ปุ่นจะต่างออกไปจากสุนัขจิ้งจอกหรือทานุกิที่มักหลอกลวงมนุษย์

โดยความเชื่อหลักๆ นั้นมีเช่น โอคุริโอคามิ (送り狼) ซึ่งเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับหมาป่าที่เดินตามนักเดินทางโดยไม่ทำอันตรายใดๆ บ้างก็เรียกความเชื่อนี้ว่า โอคุริอินุ (送り犬) อย่างไรก็ตามมีข้อแม้ว่านักเดินทางต้องระวังตัวเองไม่ให้หกล้มหรือแสดงอาการหวาดกลัวเช่นกัน เพราะอาจถูกทำร้ายได้ เรื่องเล่านี้อาจมีที่มาจากพฤติกรรมที่หมาป่าจะคอยเฝ้าตามมนุษย์ที่เข้ามาในถิ่นของตนเพื่อให้แน่ใจว่า มนุษย์ออกไปจากเขตแดนของตัวเอง ถึงอย่างนั้น พฤติกรรมนี้ถูกคนในอดีตตีความว่าเป็นการคุ้มครอง และบางครั้งก็มีการนำอาหารไปวางไว้ในป่าแทนคำขอบคุณจากผู้ที่ได้รับการคุ้มครอง นอกจากนี้ยังมีความเชื่ออื่น เช่น หากมีคนเสียชีวิตระหว่างเดินทาง จะมีหมาป่าเดินทางไปที่บ้านของครอบครัวผู้ตายและหอนอย่างเศร้าสร้อย เพื่อแจ้งข่าวการจากไปให้ครอบครัวทราบ หลักฐานความเชื่อเกี่ยวกับหมาป่าในวัฒนธรรมญี่ปุ่นยังมีให้เห็นอยู่ในศาลเจ้าหมาป่าที่มีทั้งหมด 20 แห่งในเกาะฮอนชู

หมาป่าฮอกไกโดในวัฒนธรรมไอนุ

หมาป่าในวัฒนธรรมของชนเผ่าไอนุของฮอกไกโดนั้นเปรียบเสมือนเทพเจ้าและได้รับความเคารพเป็นอย่างสูง ในกลุ่มชนเผ่าไอนุมีบางกลุ่มที่เชื่อว่าบรรพบุรุษของตนสืบเชื้อสายมาจากเทพหมาป่าสีขาวและเทพเจ้าหญิง (บ้างก็ว่าเป็นหญิงสูงศักดิ์ชาวญี่ปุ่น) ในขณะที่บางฉบับของความเชื่อนี้ระบุว่าเป็นสุนัขสีขาว ทั้งนี้เป็นเพราะสุนัขและหมาป่าไม่ค่อยมีความต่างกันนักในวัฒนธรรมของชนเผ่าไอนุที่นิยมเพาะพันธุ์สุนัขให้มีความใกล้เคียงกับหมาป่ามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้นักล่าสัตว์มักจะทิ้งบางส่วนของเนื้อที่ล่าได้ไว้ให้หมาป่า และมีความเชื่อว่าจะได้รับส่วนแบ่งของเนื้อที่ล่าได้จากหมาป่าเช่นกัน ต่อให้มีการล่าหมาป่า เนื้อและขนของหมาป่าที่ล่าได้จะมีการนำมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ตามความเชื่อว่าหากใช้เนื้อและขนหมาป่าอย่างทิ้งๆ ขว้างๆ นักล่าที่ฆ่าหมาป่าตัวนั้นจะถูกหมาป่าตัวอื่นตามล่าในภายหลัง

นอกจากหมาป่าแล้วยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นที่หายไปจากญี่ปุ่น เช่น นากแม่น้ำ ที่แม้จะมีข่าวการพบนากแม่น้ำในญี่ปุ่นเมื่อปีที่ผ่านมา แต่ภายหลังตรวจสอบพบว่าเป็นนากสายพันธุ์อื่น ต่อจากนี้จะมีสัตว์ที่เหลืออยู่แค่ในวัฒนธรรมและความเชื่ออย่างหมาป่าญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ ก็คงขึ้นอยู่กับเราทุกคนแล้วล่ะ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ ตามรอยเท้าหมาป่าในความทรงจำของญี่ปุ่น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook