ถุงยังชีพแบบญี่ปุ่น สึนามิหรือแผ่นดินไหวก็ไม่หวั่น

ถุงยังชีพแบบญี่ปุ่น สึนามิหรือแผ่นดินไหวก็ไม่หวั่น

ถุงยังชีพแบบญี่ปุ่น สึนามิหรือแผ่นดินไหวก็ไม่หวั่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สงสัยไหมว่า ในถุงยังชีพของญี่ปุ่นเขาใส่อะไรกันนะ? 

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง ทำให้ในญี่ปุ่นมักมีถุงยังชีพติดอยู่ทุกบ้าน ถ้าคนไทยเตรียมถุงยังชีพไว้เองน่าจะดีไม่น้อย ไว้ใช้เวลาเจอภัยธรรมชาติหรือเหตุฉุกเฉินที่ทำให้ออกจากบ้านไม่ได้ก็น่าจะดี


อาหาร

ก่อนอื่นเลย สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ อาหาร โดยญี่ปุ่นมักจะมีกฏง่ายๆ ว่า เตรียมน้ำและอาหารไว้ให้พออยู่รอดได้ 3 วัน แล้วความช่วยเหลือก็จะมาถึงเอง ซึ่งมานึกๆ ดูแล้วน้ำหนักก็อาจจะมากพอดู ญี่ปุ่นจึงมีศาสตร์และศิลป์ในการ "ยัดอาหารสำหรับ 3 วันให้ลงกระเป๋าได้" (เราตั้งชื่อเอาเอง) ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นหัวใจสำคัญเบอร์หนึ่งของการเอาตัวรอดในภัยพิบัติเลยล่ะ

มีอาหารแห้งหลายๆ อย่าง ที่มีน้ำหนักเบาและจัดใส่กระเป๋าได้ง่าย เช่น ขนมปังแห้ง ข้าว บะหมี่ แกงสำเร็จรูป ขนมปังกระป๋อง อาหารแท่ง เป็นต้น แต่อาหารเหล่านี้ บางอย่างสามารถกินได้เลย แต่บางอย่างก็ต้องใช้น้ำและความร้อนในการปรุง เพราะฉะนั้นการจะจัดเตรียมก็ต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ด้วย

คัมปัง (ขนมปังแห้ง)

คัมปัง (ขนมปังแห้ง)

www.amazon.co.jp

"แคลอรี่สูงน้ำหนักเบา" คือหัวใจของอาหารยังชีพ ขนมปังคัมปัง แบบในภาพเป็นขนมปังที่เบา เล็ก แต่ให้แคลอรี่เยอะ 

ที่เน้นแคลอรี่เยอะก็เพราะว่า เป้าหมายของการเตรียมสิ่งของเหล่านี้ ก็เพื่อให้เรามีชีวิตรอดได้นานที่สุดในสถานการณ์คับขัน เพราะฉะนั้นอาหารจึงเน้นดีไซน์แบบไม่กลัวอ้วน ไม่เน้นไดเอท ใส่แคลอรี่มาให้เยอะที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อเป็นพลังงานในการเอาตัวรอดนั่นเอง และแน่นอนว่าที่ต้องแห้งที่สุดก็เพื่อจะได้เก็บได้นานๆ เป็นปี เพราะของเหล่านี้ไม่เตรียมกันบ่อยๆ เตรียมครั้งเดียวแล้ววางไว้ในบ้านเป็นปีๆ หากไม่ต้องอพยพ ก็อาจไม่ได้ใช้เลยก็มี

เนื่องจากอาจจะไม่อร่อยมาก (แต่เรากินแล้วโอเคนะ) แถมออกแบบมาเพื่อให้พลังงานเป็นหลัก ทำให้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมกินในเวลาปกติเพราะอ้วนโดยใช่เหตุ แต่สำหรับคนที่งานยุ่ง เผาผลาญดี อยากได้ของที่พลังงานเยอะๆ กินง่ายพกง่าย มันอาจจะเหมาะเอาไว้กินเล่นก็ได้นะ

อาหารแห้งพร้อมทาน

อาหารแห้งพร้อมทาน

www.amazon.co.jp

อาหารแห้งพร้อมทาน ในที่นี้มีหลายอย่าง แต่ส่วนใหญ่จะหมายถึงข้าวในซองที่นำไป freeze-dry จนแห้ง ทำให้มีน้ำหนักเบาและขนาดเล็ก พกพาสะดวก เป็นอาหารที่เหมาะมากในการจัดถุงยังชีพ เพราะพื้นที่กระเป๋านั้นมีจำกัดแน่นอน

www.amazon.co.jp

ข้าวสำเร็จรูปนั้นมีหลายเกรด ที่วางขายอยู่ทั่วไปส่วนใหญ่สามารถปรุงได้ด้วยน้ำร้อนหรือไมโครเวฟ แต่อย่างข้าวสำหรับถุงยังชีพแบบในภาพนั้น เนื่องจากได้รับการออกแบบให้เหมาะกับการใช้ชีวิตในช่วงภัยพิบัติที่การเตรียมน้ำร้อนอาจจะเป็นเรื่องยาก จึงทำออกมาให้สามารถใช้น้ำอุณหภูมิธรรมดาในการปรุงได้! แต่ต้องแช่นานหน่อยนะ

อย่างรุ่นในภาพ หากใช้น้ำร้อนใช้เวลา 15 นาที แต่จะใช้น้ำธรรมดาก็ได้ แค่นานหน่อยต้องรอ 60 นาที แต่การที่ไม่ต้องการน้ำร้อนและไมโครเวฟนี่แหละ ทำให้แค่หาแหล่งน้ำสะอาดให้เจอ ก็เอาตัวรอดได้แล้ว ไม่ต้องก่อไฟหรือหาไฟฟ้าแต่อย่างใด

นอกจากจะสามารถกินได้ในช่วงภัยพิบัติแล้ว ก็ยังมีประโยชน์สำหรับคนที่ชอบปีนเขา เดินป่า หรือเดินทางไกลๆ ด้วย

เซ็ตอาหารสำเร็จรูป

เซ็ทอาหารสำเร็จรูป

www.amazon.co.jp

ถ้าเลือกไม่ถูก งั้นกินมันทุกอย่างเลยไหม?

เนื่องจากสินค้าสำหรับจัดถุงยังชีพ เป็นธุรกิจใหญ่ในญี่ปุ่น (เพราะแทบทุกคนชอบมีไว้ติดบ้านเพื่อความสบายใจ) จึงมีหลายเจ้าออกสินค้ามาหลากหลายรูปแบบ การแข่งขันที่สูงทำให้มีสินค้าให้เลือกเยอะ ซึ่งก็เป็นผลดีต่อผู้บริโภค

สำหรับใครที่ขี้เกียจจัดเอง หรือไม่รู้จะทำอย่างไร ก็จะมีบางร้านที่จัดเตรียมมาเป็นเซ็ตให้เลยแบบนี้ โดยมักจะมีคู่มือและรายละเอียดมาให้เป็นตัวอย่างว่าสามารถกินได้กี่วัน ให้พลังงานเท่าไหร่ วันไหนกินถุงไหนก่อน เป็นต้น ข้อดีของเซ็ตแบบนี้ก็คือ เราไม่ต้องวางแผนมาก ทำตามได้เลย แถมเราได้กินหลากหลาย ทำให้มีกำลังใจในการอพยพและเอาตัวรอดมากกว่ากินแต่ของเดิมๆ ทุกวัน (แบบในหนังซอมบี้นั่นแล ถ้ากินขนมปังแห้งๆ ทุกวันมันไม่มีกำลังใจนะ ถึงจะมีแรงก็เถอะ) 

แต่ถ้ามาเป็นเซ็ตแบบนี้ มักจะแพงกว่าซื้อแยกเอาเอง และการเตรียมการก็ยากกว่า เพราะหลายๆ อย่างต้องมีน้ำ มีไฟที่ใช้อุ่นอาหาร ที่สำคัญคือ การจัดใส่กระเป๋านี่จะลำบากเพราะมีซองหลายขนาด หลายรูปแบบ

น้ำ

น้ำ

www.amazon.co.jp

น้ำสำหรับจัดถุงยังชีพนั้น ไม่ใช่น้ำดื่มธรรมดา แต่เป็นน้ำที่สามารถเก็บได้นานมากๆ ส่วนใหญ่ที่เห็นวางขายในตลาดจะโฆษณาตัวเลขอยู่ที่ 5 ปี 

หลายคน (รวมถึงเราด้วย) มักจะสงสัยว่า มันต่างกับน้ำธรรมดายังไง น้ำขวดแบบอื่นมันเก็บนาน 5 ปีไม่ได้หรือ คำตอบก็คือได้ แต่ว่าไม่นานเท่า น้ำแร่ทั่วไปในท้องตลาดมักมีอายุอยู่ได้ประมาณ 2 ปี (ซึ่งก็นานอยู่นะ)

แล้วเจ้าน้ำสำหรับจัดถุงยังชีพมันมีอะไรต่างจากน้ำขวดทั่วไป ทำไมเก็บได้นานกว่า สิ่งสำคัญเบอร์หนึ่งเลยก็คือ ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรคที่ดีกว่า เพราะแม้ว่าน้ำบริสุทธิ์นั้นเชื้อโรคจะเติบโตได้ยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าเติบโตไม่ได้เลยนะ ถ้ามีเวลาที่นานพอเชื้อก็สามารถเติบโต เพิ่มปริมาณเยอะพอให้เป็นโทษกับเราได้

สำหรับคนที่สงสัยในเรื่องรสชาติ คนส่วนใหญ่แยกไม่ออก (เราเองก็แยกไม่ออก) แต่ในทางทฤษฎี นอกจากการฆ่าเชื้อที่กรรมวิธีไม่เหมือนน้ำทั่วไปแล้ว น้ำที่เอาไว้จัดถุงยังชีพนั้นยังมีแร่ธาตุต่างๆ น้อยกว่าน้ำขวดทั่วๆ ไปอีกด้วย เพราะฉะนั้นคนที่แยกออกก็มีเช่นกัน

หมวกกันภัย

หมวกกันภัย

หมวกที่แข็งแรง ป้องกันส่วนศีรษะได้ดีก็สำคัญมาก เป็นอีกชิ้นหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในยามฉุกเฉินของคนญี่ปุ่น เพราะภัยพิบัติส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว ซึ่งจะมีอันตรายจากสิ่งของจากบนเพดาน บนตู้ หรือบนตึกสูงที่หล่นใส่หัวเราได้

ในกรณีของไทยเนื่องจากภัยพิบัติที่เจอมักไม่ได้มาในรูปแบบแผ่นดินไหว จึงอาจจะข้ามชิ้นนี้ไปได้ แต่มีติดไว้ก็อุ่นใจไม่น้อย

เครื่องใช้ไฟฟ้า ไฟฉาย วิทยุ ที่ชาร์จถ่าน

เครื่องใช้ไฟฟ้า ไฟฉาย วิทยุ ที่ชาร์จถ่าน

www.amazon.co.jp

เครื่องใช้ไฟฟ้าหลักๆ ที่สำคัญที่สุดก็คือ วิทยุ แม้จะเป็นยุคสมาร์ทโฟนแล้ว แต่ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ นอกจากสมาร์ทโฟนจะไม่เหมาะสมเพราะกินไฟมากแล้ว ก็ยังอาจเกิดเหตุอะไรที่ทำให้การกระจายข่าวทางอินเทอร์เน็ตเป็นไปไม่ได้ก็ได้ ซึ่งสิ่งที่ดีที่สุดก็คือ เทคโนโลยีที่อยู่มานาน ดูแลง่าย พังยาก อย่างวิทยุ ไม่ว่าจะญี่ปุ่น ไทย หรือประเทศที่เจริญแล้วอื่นๆ ระบบการกระจายข่าวสารทางวิทยุก็จะยังถูกใช้ไปอีกนาน โดยเฉพาะในช่วงภัยพิบัติ

ในปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาไปมาก หลายๆ คนจะใช้อุปกรณ์แบบ all in one อย่างเช่นในภาพด้านบน ที่เป็นทั้งวิทยุ ไฟฉาย ที่ชาร์จแบตมือถือในอันเดียว แบบนี้น่าจะเหมาะกับคนสมัยนี้มากกว่า และหากมีระบบชาร์จแบตเตอรี่ในตัว ไม่ว่าจะเป็นแบบมือหมุนหรือโซล่าร์เซลล์ ก็ยิ่งอุ่นใจกว่าแบบใช้ถ่านแน่นอน

Survival Sheet

Survival Sheet

www.amazon.co.jp

ผ้าห่มผืนใหญ่ที่ทำจากอลูมิเนียม ใช้ป้องกันลมและความหนาวได้ดีมาก แถมยังมีประโยชน์อื่นด้วย เช่น รองนั่ง ห่มนอน ห่มเดิน ขนาดก็เล็กสุดๆ พับใส่ถุงยังชีพได้ไม่ยาก เป็นหนึ่งในของสำคัญในถุงยังชีพของญี่ปุ่น

ทำมาจากอลูมิเนียมผสมกับเส้นใยโพลิเอสเตอร์ ที่ต้องมีอลูมิเนียมก็เพราะความสามารถในการกันลมและอุณหภูมิที่เหนือกว่าพลาสติกหรือผ้ามากๆ ที่เมืองไทยอาจจะไม่จำเป็นเท่าไหร่ในภาคที่ร้อน แต่ถ้าอยู่ทางเหนือหรืออีสาน ในบริเวณที่ประสบภัยหนาวกันบ่อยๆ ล่ะก็ เตรียมเอาไว้ก็ไม่เลวนะ

อุปกรณ์ทำแผลและยาที่จำเป็น

อุปกรณ์ทำแผลและยาที่จำเป็น

สุดท้ายนี้ที่ลืมไม่ได้ก็คงจะเป็นยา หลักๆ แล้วสิ่งที่จำเป็นก็จะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในกรณีเกิดอุบัติเหตุ หรือยารักษาโรคทั่วไป นอกจากนี้ก็ยังมียาประจำตัว ที่จะแตกต่างกันออกไปแล้วแต่บุคคล

・อุปกรณ์ทำแผลและห้ามเลือด เช่น ผ้าพันแผล กรรไกร สำลี ยาฆ่าเชื้อโรค
・ยาบรรเทาปวด ลดไข้
・ยาแก้ปวดท้อง อาหารเป็นพิษ
・ยาทาภายนอก เช่น แก้คัน แก้ผื่น
・ยารักษาโรคประจำตัว

หากเตรียมการดีๆ การเอาตัวรอดในเวลาสัก 3-4 วัน จนกว่าจะมีความช่วยเหลือมาถึงก็ไม่ใช่เรื่องยาก แม้เราจะไม่มีภัยพิบัติเยอะเหมือนที่ญี่ปุ่น แต่จะลองเตรียมถุงยังชีพเก็บไว้ที่บ้านก็ไม่เลวนะ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ ถุงยังชีพแบบญี่ปุ่น สึนามิหรือแผ่นดินไหวก็ไม่หวั่น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook