"เสื่อทาทามิ" ภาพสะท้อนความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมของชนชาติญี่ปุ่น
เมื่อเรานึกถึงบ้านแบบญี่ปุ่น สิ่งแรกๆ ที่ลอยเข้ามาในความคิดคงหนีไม่พ้น “เสื่อทาทามิ” เสื่อที่ทำจากฟางอันเรียบง่าย แต่แสนจะโดดเด่น สะท้อนภาพความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมของชนชาติญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี
ทาทามิ – หนึ่งในสิ่งที่ขาดไม่ได้ของบ้านแบบญี่ปุ่น
เสื่อทาทามิ ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของบ้านญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม มีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะที่มีแต่ญี่ปุ่นเท่านั้นที่เราจะนึกถึง
คำว่า “ทาทามิ” มีที่มาจากคำว่า “ทาทามุ”「畳む」แปลว่า “พับ” ซึ่งเป็นคำกริยาที่มักใช้กับเสื่อ ที่คนสมัยก่อนจะนำเสื่อออกมาใช้ และต้องพับเก็บเมื่อใช้งานเสร็จแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปก็กลายเป็นคำว่าทาทามิอย่างในปัจจุบัน แต่เสื่อทาทามิที่เรารู้จักหรือเคยเห็นในสมัยนี้ อยู่ในลักษณะที่ไม่สามารถพับเก็บได้อย่างสมัยก่อน แต่ถ้าจะถามว่ามันพับไม่ได้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ คำตอบก็คือสมัยเฮอัน ราวศตวรรษที่ 8 (ประมาณสมัยอาณาจักรทวารวดี) ก็ต้องบอกว่านานทีเดียว
เสื่ออันแสนจะครบครัน พร้อมสรรพด้วยกลิ่นอโรมาจากธรรมชาติ
ทาทามิ ทอจากหญ้าชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “อิกุสะ” หรือ ต้นกก ซึ่งพืชชนิดนี้มีคุณสมบัติอันสุดแสนจะพิเศษ ให้ความรู้สึกสดชื่น และสามารถสร้างความผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี เสื่อทาทามิยังมีคุณสมบัติในการดูดซับ ระบายความชื้น และรักษาความอบอุ่น แถมยังเก็บเสียงได้ดีอีกต่างหาก
“อิกุสะ” หรือ ต้นกก
ด้วยคุณสมบัติที่ครบครันของเสื่อทาทามิ ที่ดูดซับและระบายความชื้นได้ดี จึงเหมาะกับสภาพอากาศที่มีฝนตลอดทั้งปี แต่ก็รักษาความอบอุ่นได้ จึงเป็นข้อดีในฤดูหนาว ในขณะที่ฤดูร้อนก็ให้ความรู้สึกที่สบาย ผ่อนคลาย ช่างเป็นองค์ประกอบสำคัญของบ้านที่ลงตัว เข้ากันกับฤดูกาลทั้ง 4 ของประเทศญี่ปุ่นได้อย่างสมบูรณ์แบบ
“เสะอิซะ”「正座」หรือการนั่งแบบญี่ปุ่น
นอกจากจะเข้ากันดีกับสภาพอากาศแล้ว ยังสอดคล้องกับวัฒนธรรมของพวกเขาอีกด้วย เพราะเสื่อทาทามิมีความยืดหยุ่นสูง จึงช่วยให้การ “เสะอิซะ”「正座」หรือการนั่งแบบญี่ปุ่น ที่ต้องนั่งทับลงไปบนส้นเท้า และยืดหลังให้ตั้งตรงอย่างสง่างาม สามารถทำได้อย่างสบายตัวมากยิ่งขึ้น
ทาทามิก็เหมือนกับวันเวลาที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
เสื่อทาทามิทำมาจากวัสดุธรรมชาติล้วนๆ จึงเป็นเรื่องปกติที่มันจะแปรสภาพไปตามกาลเวลา จากสีเขียวอ่อนๆ จะเริ่มกลายเป็นสีน้ำตาล และเริ่มหลุดลุ่ยไปตามการใช้งาน เมื่อถึงเวลาของมัน ทาทามิจะสามารถกลับด้านเพื่อใช้งานต่อได้ แน่นอนว่าเป็นงานที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญในการทำ ช่างผู้ชำนาญจะลงมือคลายเสื่อออกจากโครงยึด จากนั้นจึงกลับด้านและเย็บกลับเข้าไปในสภาพเดิมอีกครั้ง เราก็จะได้เสื่อทาทามิที่สะอาด สดชื่น ดูเหมือนใหม่อีกครั้ง
งานที่ต้องใช้ความชำนาญในการทำ
แสงแดดเป็นเหตุผลหลักของการเปลี่ยนสีของเสื่อทาทามิ สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว ในแง่นี้เป็นสิ่งเตือนใจให้รู้สึกถึงวันเวลาที่ดำเนินไป เป็นสัญลักษณ์ของการผ่านพ้นไปของปีนั่นเอง
หน่วยของทาทามิ
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งของเสื่อทาทามิที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ คือมันได้รับการทำให้เป็นหน่วยวัดขนาดของห้อง ที่เป็นมาตรฐานการบอกขนาดของญี่ปุ่นอีกด้วย โดยหน่วยที่ว่านี้เรียกว่า “โจ”「畳」1 โจ เท่ากับทาทามิหนึ่งผืน ที่ต้องใช้ต้นกกถึง 4,000-7,000 ต้น (ขนาด 1 ผืน กว้าง 180 ซม. ยาว 90 ซม.) ดังนั้น เมื่อพูดถึงขนาดของแต่ละห้องในบ้านแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น ก็จะวัดจากจำนวนโจของเสื่อทาทามิ เช่น 4.5 โจ หรือ 6 โจ เป็นต้น
ตัวอย่างการวางเสื่อทาทามิของห้องขนาดต่างๆ โดยใช้หน่วย “โจ”「畳」
อัลบั้มภาพ 7 ภาพ