หยิบใช้ให้ถูกต้อง! แนะนำเหรียญและธนบัตร เงินเยนทุกประเภทของญี่ปุ่น
รู้ไหมว่าคนไทยชอบจำเหรียญญี่ปุ่นชนิดไหนสลับกัน? เหรียญไหนหน้าตาเป็นอย่างไร แบงค์ใหญ่ที่สุดกี่เยน? และคำถามอื่นๆ ที่รอคำตอบ มารู้ไว้ก่อนไปเสียเงินเยนที่ญี่ปุ่นกันดีกว่า
เหรียญ 1 เยน (ประมาณ 30 สตางค์)
ja.wikipedia.org
เหรียญ 1 เยนเป็นเหรียญที่มีมูลค่าน้อยที่สุดของญี่ปุ่น จับดูก็จะรู้ได้เลย เพราะว่าเบายิ่งกว่าเหรียญบาทของไทย แถมยังลอยน้ำอีกด้วย ด้านหนึ่งเป็นรูปตัวเลข 1 ใหญ่โตเข้าใจง่าย ส่วนอีกด้านเป็นรูปต้นไม้อ่อน เปรียบเหมือนการเจริญเติบโตอย่างแข็งแรงของเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั่นเอง
เหรียญ 5 เยน (ประมาณ 1.50 บาท)
upload.wikimedia.org
เหรียญ 5 เยนเป็นอีกเหรียญที่มีรู จุดเด่นสำคัญคือไม่มีตัวเลข ทำให้คนไทยเรางงไปตามๆ กัน ด้านหน้าเป็นคันจิเขียนวนรอบรูของเหรียญว่า 日本国 แปลว่า "ประเทศญี่ปุ่น" พร้อมด้วยตัวอักษรที่บอกเลขปีที่ผลิต (แน่นอนว่าจะต่างกันไปแต่ละเหรียญ ในภาพคือปีเฮเซที่ 18 หาเจอไหมเอ่ย?)
ส่วนด้านหลังจะมีรวงข้าวประดับอยู่ด้านบน ด้านล่างมีคันจิคำว่า 五円 โกะเอ็น แปลว่า 5 เยน ซึ่งมีคำอ่านเหมือนกับอีก โกะเอ็น อีกคำหนึ่งที่แปลว่าบุญวาสนา ฉะนั้นคนญี่ปุ่นหลายคนจึงนิยมโยนเหรียญ 5 เยน ใส่กล่องบริจาคเวลาทำบุญในศาลเจ้ากัน เพราะถือว่าเป็นเหรียญแห่งความโชคดี ใครที่จะไปศาลเจ้าอย่าลืมเตรียมเหรียญ 5 เยนไว้นะ
เหรียญ 10 เยน (ประมาณ 3 บาท)
commons.wikimedia.org
เหรียญ 10 เยนมีสีต่างจากเหรียญอื่นๆ คือจะออกน้ำตาลแดง เข้าใจง่าย ด้านหนึ่งเป็นเลข 10 อารบิก ล้อมรอบด้วยช่อใบลอเรลออกแนวตะวันตก และอีกด้านหนึ่งเป็นภาพวาดอาคารภายในวัด Byodo-in ในเมืองเกียวโต
เหรียญ 50 เยน (ประมาณ 15 บาท)
upload.wikimedia.org
เหรียญ 50 เยนเป็นเหรียญที่มีรูตรงกลางอีกเหรียญ ด้านหนึ่งเขียนเลข 50 และอีกด้านหนึ่งประดับรูปดอกเบญจมาศที่สามารถหมุนดูได้รอบด้าน ที่เหรียญนี้ต้องมีรูตรงกลางนั้นเพราะว่ามันสามารถสับสนกับเหรียญ 100 เยนได้ง่าย เนื่องจากมีสีและขนาดคล้ายกันมากๆ ลองเทียบดูนะ
กลับกัน คนต่างชาติอย่างเราๆ มักจะจำเหรียญ 5 เยนสลับกับ 50 เยน เพราะว่ามีรูตรงกลางเหมือนกัน 50 เยนนั้นยังดีที่มีเลข 50 บนเหรียญ แต่เหรียญห้าเยนนั้นไม่มีเลข 5 เขียนอยู่ บางทีจำสลับกับ 50 ก็มี
เหรียญ 100 เยน (ประมาณ 30 บาท)
upload.wikimedia.org
เหรียญ 100 เยนเป็นเหรียญที่ใช้กันแพร่หลายที่สุด มีมูลค่าเป็นรองก็แค่เหรียญ 500 เยน โดยด้านหนึ่งพิมพ์นูนสูงเป็นเลข 100 เพื่อความเข้าใจง่าย และอีกฝั่งเป็นรูปดอกซากุระ สัญลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง
เหรียญ 500 เยน (ประมาณ 150 บาท)
upload.wikimedia.org
เหรียญ 500 เยนเป็นเหรียญที่มีมูลค่ามากที่สุดของญี่ปุ่น เข้าใจง่ายด้วยขนาดใหญ่ที่สุด และมีเลข 500 สลักนูนสูงอยู่ด้านหน้า อีกฝั่งหนึ่งเป็นรูปช่อดอก Kiri
ที่ต้องระวังก็เพราะว่าสำหรับคนไทย เหรียญที่เราหยิบจับกันนั้นใหญ่ที่สุดก็มีมูลค่าแค่ 10 บาท แต่เหรียญ 500 เยนนั้นมีมูลค่าถึง 150 บาท นับเป็น 15 เท่าของเหรียญสิบ ก็ต้องระวังหล่นหายกันหน่อยล่ะ
แบงค์ 1,000 เยน (ประมาณ 300 บาท)
upload.wikimedia.org
แบงค์ 1,000 เยนเป็นแบงค์ที่เล็กที่สุดของญี่ปุ่น ของไทยเราแบงค์เล็กคือ 20 บาท แต่ของญี่ปุ่นมีค่าถึง 300 บาท เพราะฉะนั้นต้องระวังหล่นหายด้วยนะ
แบงค์แบบนี้มีการใช้มาตั้งแต่ปี 1945 แล้ว ด้านหน้าเป็นภาพเหมือนของนายแพทย์ Noguchi Hideyo นายแพทย์คนสำคัญของญี่ปุ่น ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นรูปภูเขาฟูจิและซากุระที่งดงาม ที่วาดจากภาพถ่ายของช่างภาพ Koyo Okada เป็นหนึ่งในแบงค์ที่มีหน้าตาเป็นเอกลักษณ์ที่สุด เพราะแม้แต่คนไทยก็ยังรู้จักภูเขาไฟฟูจิ ส่วนคนญี่ปุ่นเองก็ไม่มีใครที่ไม่รู้จัก Noguchi Hideyo เช่นกัน
แบงค์ 2,000 เยน (ประมาณ 600 บาท)
upload.wikimedia.org
แบงค์ 2,000 เยนเป็นแบงค์หายากที่เราคงจะไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนัก บางทีมาเที่ยวญี่ปุ่นแล้วอาจจะไม่ได้ผ่านมือเลยสักใบก็มี เพราะนี่เป็นแบงค์ที่พิมพ์ออกมาในปี 2000 เพื่อเป็นที่ระลึกในการประชุม G8 ครั้งที่ 26 มีจำนวนที่พิมพ์ออกมาไม่เยอะ ถ้าได้รับมาก็สามารถใช้ได้ปกติ แต่ก็จัดว่าเป็นแรร์ไอเท็มอย่างหนึ่งของญี่ปุ่นเลยทีเดียว
ด้านหนึ่งของแบงค์เป็นรูปประตูของปราสาท Senri ใน Naha ที่โอกินาว่า รวมถึงภาพดอกไม้สวยงาม อีกฝั่งหนึ่งจะเป็นรูปจากในนิยายเรื่อง Hikaru Genji และภาพวาดของ Murasaki Shikibu กวีสุภาพสตรีที่แต่งเรื่องนี้
แบงค์ 5,000 เยน (ประมาณ 1,500 บาท)
upload.wikimedia.org
ด้านหน้าแบงค์เป็นรูปวาดของ Ichiyo Higuchi สตรีนักเขียนและกวีในสมัยยุคเมจิ สังเกตว่าญี่ปุ่นนิยมใช้นักปรัชญาหรือกวีเป็นภาพบนแบงค์ มากกว่าบุคคลสำคัญในสาขาอื่นๆ บอกได้อย่างดีว่าประเทศนี้เขารักการอ่านกันมากๆ
แบงค์ 10,000 เยน (ประมาณ 3,000 บาท)
upload.wikimedia.org
แบงค์ 10,000 เยนเป็นแบงค์ที่มีมูลค่ามากที่สุดของญี่ปุ่น ด้านหน้าเป็นรูปวาดของ Yukichi Fukuzawa นักปรัชญาสมัยยุคเมจิ และเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย Keio มหาวิทยาลัยดังของญี่ปุ่น เส้นสายลวดลายละเอียดสวยงามสมกับเป็นแบงค์ 10,000 เยนจริง
เราสามารถใช้แบงค์ 10,000 เยนนี้ได้ทุกที่แม้แต่ในเวลาที่ซื้อของราคาไม่แพง เพราะญี่ปุ่นไม่มีความคิดที่ว่า ซื้อน้อยจ่ายแบงค์ใหญ่แล้วจะโดนด่า ฉะนั้นใช้ได้เลยไม่ต้องเกรงใจ เพียงแต่ต้องระวังว่าตามตู้กดอัตโนมัติต่างๆ เช่นตู้ขายน้ำ ขนม ตามสถานีรถไฟ เพราะบางเครื่องก็จะไม่รับแบงค์ใหญ่ รับแค่แบงค์พันเยน
อัลบั้มภาพ 11 ภาพ