ระวังไว้หน่อยก็ดี! 5 ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในญี่ปุ่น
เป็นที่ทราบกันดีว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดขึ้นของเหตุอาชญากรรมและฆาตกรรมที่ต่ำมาก จนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ปลอดภัยที่สุดในโลก แต่กระนั้นก็ตาม ภยันตรายที่เข้ามารบกวนความสงบสุขของชีวิตในดินแดนอาทิตย์อุทัยก็มาในรูปแบบอื่น ซึ่งก็หนีไม่พ้นสิ่งที่มนุษย์มิอาจต้านทานได้ นั่นก็คือ “ภัยธรรมชาติ” นั่นเอง
และในทางกลับกัน เมื่อมองจากมุมนี้แล้ว “ญี่ปุ่น” จึงกลายเป็นประเทศที่อันตรายที่สุดประเทศหนึ่งในโลกไปโดยปริยาย
1. แผ่นดินไหว
เป็นที่กล่าวขานกันไปทั่ว ถึงความน่ากลัวและความถี่ของการเกิดแผ่นดินไหวของประเทศญี่ปุ่น โดยผู้คนมักจะนึกถึงเหตุแผ่นดินไหวที่ร้ายแรงที่สุดที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2011 ทางแถบโทโฮะคุ ตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งวัดแรงสั่นสะเทือนได้สูงถึง 8.9 ริกเตอร์ มีความรุนแรงที่สามารถสร้างความเสียหายได้อย่างมากในรัศมีหลักร้อยกิโลเมตร ถือเป็นการเกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในการบันทึกทางประวัติศาสตร์ของพวกเขา
มาดูสถิติการเกิดแผ่นดินไหวในช่วงปีที่ผ่านมากันดีกว่า
ปี 2017 มีไม่มากนักด้วยจำนวน 2,025 ครั้ง ซึ่งพบว่า 8 ครั้งในนั้น มีแรงสั่นสะเทือนมากกว่า 5 ริกเตอร์
ปี 2016 เกิดเหตุสูงถึง 6,500 ครั้ง ด้วยอิทธิพลจากแผ่นดินไหวในคุมะโมะโตะ
และย้อนกลับไปที่ปี 2011 เกิดเหตุมากถึง 10,680 ครั้ง อันเนื่องมาจากเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ และคลื่นสึนามิ
2. สึนามิ
คลื่นยักษ์ที่หลังจากปี 2011 ก็เป็นภัยพิบัติที่ทั้งโลกเกรงขาม และไม่มีใครไม่รู้จักชื่ออันคุ้นหูนี้อีกต่อไป สึนามิคือคลื่นน้ำทะเลขนาดมหึมาอันเกิดจากเหตุแผ่นดินไหวใต้ทะเล ก่อให้เกิดอันตรายอย่างใหญ่หลวงกับชายฝั่งทะเล ชายหาด และเมืองต่างๆ ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง โดยเฉลี่ยแล้วความยาวของคลื่นชนิดนี้ จะมีระยะต่อเนื่องหลายร้อยกิโลเมตรเลยทีเดียว
3. ไต้ฝุ่น
ฤดูใบไม้ร่วงคือช่วงเวลาของไต้ฝุ่นในประเทศญี่ปุ่น มีความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลางที่เรียกว่า “ตาพายุ” ตั้งแต่ 118 กม./ชม. ขึ้นไป (ราว 64 นอต) มีระดับความรุนแรงมากที่สุด จนสามารถทำให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือน อาจทำให้เสาไฟฟ้าหักโค่น เกิดไฟฟ้าช็อต หรือเพลิงไหม้ได้เลยทีเดียว
4. ภูเขาไฟระเบิด
เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีภูเขาไฟปะทุอยู่อีกเป็นจำนวนมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ซึ่งย้อนกลับไปสู่เหตุการณ์รุนแรงล่าสุด คือการระเบิดของภูเขาไฟออนทะเกะ「御嶽山」เมื่อวันที่ 27 กันยายน ปี 2014 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 57 ราย นอกจากนี้ก็เป็นเหตุปะทุเล็กน้อยอีกจำนวนนับไม่ถ้วน
5. น้ำท่วม
หลายคนอาจจะคิดว่าน้ำท่วมในประเทศญี่ปุ่นดูจะเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อ แต่สำหรับช่วงฝนกระหน่ำอย่างหนักแล้ว น้ำท่วมก็เกิดขึ้นได้ในญี่ปุ่นเช่นกัน และอาจตามมาด้วยดินถล่ม โดยเฉพาะในแถบภาคตะวันตก เช่น คิวชู และ ฮิโรชิมะ ในช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงนั่นเอง
แต่เพื่อนๆ อ่านมาถึงตรงนี้ ก็อย่าได้กระวนกระวายใจไป เพราะภัยพิบัติโดยส่วนมากในประเทศญี่ปุ่น ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างชนิดที่เราจะไม่รู้เนื้อรู้ตัวหรอก ด้วยความเป็นญี่ปุ่นแล้ว เทคโนโลยีที่คอยแจ้งเตือนภัยของเขาก็มีประสิทธิภาพสูงเป็นอย่างมาก รวมทั้งผู้คนของเขาก็ได้รับการฝึกฝน ให้ข้อมูล มีความพร้อมในการรับมือกับเหตุภัยพิบัติต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
ถ้าเพื่อนๆ มีโอกาสจะต้องไปใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นเป็นเวลานาน หรือแม้กระทั่งจะไปเที่ยวก็ตาม ควรจะเตรียมความพร้อม เช็กข่าวสารอยู่เสมอ รวมถึงฝึกฝนทักษะที่จำเป็นสำหรับการเอาตัวรอด เรียนรู้หลักในการปฏิบัติในช่วงภัยพิบัติเอาไว้เป็นความรู้ติดตัวย่อมดีที่สุด เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสุดวิสัย เกิดเหตุขึ้นเมื่อใด เราจะได้พร้อมรับมือ รวมถึงสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้อีกด้วยนะ
อัลบั้มภาพ 8 ภาพ