วิธีซื้อตั๋วซูโม่หน้างานที่ญี่ปุ่น อาจจะยุ่งยากสักนิด แต่เราไม่อยากให้พลาด!
"ซูโม่" เป็นหนึ่งในกีฬาการแข่งขันของญี่ปุ่นที่หากมีโอกาสไม่ควรพลาด แม้ว่าการซื้อตั๋วจะแอบยุ่งยากไปนิด กระทั่งคนญี่ปุ่นบางคนยังต้องส่ายหัว วันนี้เราขอแนะนำวิธีซื้อตั๋วดูการแข่งซูโม่อย่างง่ายๆ ตามไปดูกันเลย
ไปเข้าคิวแต่เช้า (ยิ่งเช้ายิ่งดี)
ซูโม่ไม่ใช่การแข่งขันที่คุณคิดอยากจะไปดูเมื่อไหร่ก็ไปได้ การแข่งขันซูโม่มีด้วยกันทั้งหมด 6 ครั้ง โดยจัดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยการแข่งขันในแต่ละครั้งจะจัดเป็นเวลา 15 วัน การแข่งขันในเดือนมกราคม, พฤษภาคม และกันยายนจะจัดขึ้นที่โตเกียว ส่วนในเดือนมีนาคมจะจัดที่โอซาก้า กรกฏาคมที่นาโกย่า และเดือนพฤศจิกายนจะจัดขึ้นที่ฟุกุโอกะ
การซื้อตั๋วล่วงหน้าสามารถซื้อออนไลน์ได้ที่นี่ โดยเปิดให้จองประมาณ 1 เดือนก่อนเริ่มการแข่งขันในวันแรกของแต่ละทัวร์นาเมนต์ ยิ่งในช่วงที่การแข่งซูโม่กลับมาฮิตอีกครั้ง ตั๋วสุดสัปดาห์และตั๋วของการแข่งวันสุดท้ายมักจะขายหมดอย่างรวดเร็ว
แต่หากว่าคุณจองตั๋วล่วงหน้าไม่ทัน คุณก็สามารถไปซื้อตั๋วหน้างานในวันจริงได้ ซึ่งตั๋วเหล่านี้จะไม่สามารถระบุที่นั่งได้ และส่วนมากเป็นตั๋วที่นั่งด้านหลัง หรือที่นั่งในบล็อกที่ถูกกำหนดไว้ ด้านบนเป็นภาพของบูธขายตั๋วที่ Ryogoku Kokugikan ซึ่งเป็นที่จัดการแข่งขันในโตเกียว ตั๋วหน้างานจะเปิดขายตอน 8 โมงเช้า และมักจะแน่นขนัดไปด้วยผู้คนที่ต้องการมาดูโปรซูโม่ตัวเป็นๆ ดังนั้นหากคุณเป็นหนึ่งในนั้น ขอแนะนำให้มาเข้าแถวรอตั้งแต่เช้าๆ
ในขณะที่เข้าแถวอยู่ สตาฟฟ์จะเดินมาแจกกระดาษใบเล็กๆ ให้เราที่เรียกว่า เซริเคน ซึ่งจะมีกฏการซื้อตั๋วเขียนไว้ และถ้าเขาเห็นว่าเราเป็นชาวต่างชาติ ก็จะแจกเป็นภาษาอังกฤษมาให้เหมือนในภาพด้านบน นอกจากนี้ยังมีสตาฟฟ์ที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้อยู่ในบูธขายตั๋วอีกด้วย จึงไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดการสับสนในการซื้อตั๋ว หากไม่มีเซริเคน คุณจะไม่สามารถซื้อตั๋วได้ เพราะฉะนั้นเมื่อได้มาแล้วขอให้เก็บไว้อย่างระมัดระวัง
สำหรับใครที่จองตั๋วล่วงหน้า สามารถมาใช้เครื่อง Will-Call เพื่อออกตั๋วได้ แน่นอนว่าสามารถเลือกเมนูเป็นภาษาอังกฤษได้ด้วย
ภายในอารีน่า
เมื่อคุณซื้อตั๋วหน้างานได้แล้ว ก็เข้ามาในอารีน่าเพื่อจับจองที่นั่งได้เลย คุณสามารถวางแมกกาซีนหรือหมวกไว้ที่ที่นั่งเพื่อเป็นการจองได้
สนามซูโม่ทุกที่จะมีการจัดที่นั่งเป็น 4 บล็อก คือ เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก โดยบล็อกทางทิศเหนือจะเรียกว่า โชเม็ง แปลว่า ด้านหน้า ส่วนบล็อกทางทิศใต้จะเรียกว่า มุโคโชเม็ง ซึ่งแปลตรงตัวว่า ด้านตรงข้ามด้านหน้า หรือ ด้านหลังนั่นเอง
บล็อกโชเม็งจะเป็นที่นั่งที่ดีที่สุด ในขณะที่กรรมการซูโม่ (เกียวจิ) จะยืนอยู่ฝั่งมุโคโชเม็ง ส่วนกล้องจับภาพการแข่งขันจะอยู่ทางฝั่งโชเม็ง เพื่อให้สามารถจับภาพที่ดีที่สุดของการแข่งขันได้ เหมือนในภาพด้านบน
หากคุณอยากออกจากสนาม คุณสามารถออกไปทางด้านหลังได้ที่ Ryogoku Kokugikan เมื่อคุณบอกสตาฟฟ์ที่ทางออกก่อนออกไปข้างนอก สตาฟฟ์จะปั๊มตัวปั๊มเรืองแสงที่แขนของคุณ และเมื่อคุณกลับเข้ามาอีกครั้ง สตาฟฟ์ก็จะใช้ไฟแบบพิเศษส่องที่แขนของคุณเพื่อเช็กตัวปั๊ม
ตารางการแข่งขันภาษาอังกฤษ
สำหรับผู้ที่มาชมการแข่งขันเป็นครั้งแรก อาจจะงงๆ ลำดับการแข่งขันของซูโม่อยู่ไม่น้อย แต่ไม่เป็นไร คุณสามารถหาโบรชัวร์ และป้ายบอกตารางการแข่งขันเป็นภาษาอังกฤษได้ทั่วไปในสนามแข่งขัน
นอกจากนี้ยังมีตารางที่ระบุรายชื่อนักซูโม่ที่เข้าแข่งขันตลอดทั้งวัน และทุกครั้งก่อนเริ่มแข่งจะมีการประกาศชื่อของนักซูโม่ ซึ่งคุณสามารถใช้เพื่อหาดูว่าตอนนี้ถึงคู่ไหนแล้ว
นอกจากนี้หากคุณมีวิทยุ สามารถเปิดฟังการแข่งขันเป็นภาษาอังกฤษได้ (FM 78.3MHz ที่ Ryogoku Kokugikan) และถึงแม้คุณจะไม่มีวิทยุ ที่สนามแข่งยังมีบริการให้เช่าวิทยุในราคาย่อมเยาอีกด้วย
วัฒนธรรมซูโม่
ยูรุคารา มาสคอตสุดน่ารักที่คุณสามารถพบเจอได้แทบทุกที่ในญี่ปุ่นก็มีที่นี่เช่นกัน หากเห็นเจ้านกภูเขาตัวสีเหลืองที่แต่งตัวเหมือนนักซูโม่นี่ล่ะก็ อย่าลืมไปขอถ่ายรูปคู่ล่ะ
ที่ร้านขายของที่ระลีกคุณสามารถซื้อเสื้อยืดลายนักซูโม่กลับไปเป็นของฝากได้
อาหารของนักซูโม่เรียกว่า จังโกะ และที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือ จังโกะนาเบะ เป็นหม้อไฟประเภทหนึ่ง ถือเป็นเมนูแนะนำที่ไม่ควรพลาดหากมาดูการแข่งซูโม่
ในสนามจะกึกก้องไปด้วยเสียงของผู้ชมที่ตะโกนเชียร์นักซูโม่ที่ตัวเองชอบ และเมื่อ โยโกะสึนะ เข้าสู่สนาม คุณจะได้ยินเสียงตะโกน "โยะอิโชะ!" เรียกได้ว่าเป็นกีฬาที่มีเสน่ห์เป็นของตัวเองจริงๆ
อัลบั้มภาพ 14 ภาพ