"ศาลเจ้าอิสึกุชิมะ" ความงามพื้นฐานสู่การเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

"ศาลเจ้าอิสึกุชิมะ" ความงามพื้นฐานสู่การเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

"ศาลเจ้าอิสึกุชิมะ" ความงามพื้นฐานสู่การเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศาลเจ้าอิสึกุชิมะ ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองฮะสึไกชิ จังหวัดฮิโรชิม่า คงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คุ้นตาไม่ว่าจะทั้งชาวไทย หรือชาวต่างชาติ เพราะมักจะปรากฎอยู่ในป้ายโฆษณา ประชาสัมพันธ์ต่างๆ เรียกได้ว่าแทบจะอยู่คู่กันกับภาพภูเขาไฟฟูจิเลยก็ว่าได้

แต่เพื่อนๆ ทราบหรือไม่ว่า ศาลเจ้าแห่งนี้ได้รับการจัดให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าอย่างไร? เหตุใดจึงเป็นสถานที่แสนวิเศษที่ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก ที่ต่างดั้นด้นเดินทางไปเพื่อให้ได้เห็นกับตาสักครั้งในชีวิต? ไปค้นหาคำตอบกัน


“ศาลเจ้าอิสึกุชิมะ” คุณค่าในฐานะมรดกโลกทางวัฒนธรรม

เสาโทะริกลางทะเลโดดเด่น เมื่อมองจากอาคารหลัก

ด้วยความพิเศษในหลากหลายเหตุผล เมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของการคัดเลือกให้เป็นมรดกโลกซึ่งมีทั้งหมด 10 ข้อแล้ว ศาลเจ้าอิสึกุชิมะ จึงผ่านคุณสมบัติการเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม และประกาศขึ้นทะเบียนไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ประกอบด้วยคุณสมบัติ 4 ข้อ ได้แก่

(I) เป็นตัวแทนในการแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทําขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์
(II) เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง คงไว้ซึ่งวัฒนธรรม
(IV) เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
(VI) มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์

องค์ประกอบความงามตามแบบชินโต

นอกจากการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโกแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ยกฐานะอาคารต่างๆ ในศาลเจ้าให้เป็นสมบัติประจําชาติญี่ปุ่น ซึ่งกินพื้นที่กว่า 14% ของเกาะแห่งนี้ กินบริเวณราว 430 เฮคเตอร์บนเกาะอิสึกุชิมะ ย้อนหลังไปได้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 การก่อสร้างได้เริ่มต้นขึ้น จนกระทั่งมีลักษณะอย่างในปัจจุบันตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 12 ด้วยการสนับสนุนของ ไทระ คิโยะโมะริ ประกอบด้วยอาคาร 17 หลัง และโครงสร้างอื่นๆ ที่ประกอบกันเป็นศาลเจ้า 2 แห่ง (Honsho และ Sessha Marodo) และอาคารเสริมในบริเวณป่าโดยรอบภูเขามิเซน อาคารต่างๆ ในศาลเจ้า จัดว่าสร้างขึ้นตามหลักของสถาปัตยกรรมแบบชินโตอย่างสมบูรณ์แบบ

อาคารหลักของศาลเจ้าอิสึกุชิมะในยามกลางคืน

หนึ่งในสามทิวทัศน์ที่งดงามที่สุด

ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งความศักดิ์สิทธิ์ เสาโทะริของศาลเจ้าอิสึกุชิมะ เป็นจุดท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมมากที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น และทิวทัศน์ของเสาประตูที่อยู่หน้าภูเขามิเซนบนเกาะ ได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในสามทิวทัศน์ที่งดงามที่สุดของญี่ปุ่น ในเวลาที่น้ำขึ้น เสาโทะริจะดูเหมือนลอยอยู่กลางทะเล เมื่อน้ำลงจะปรากฎให้เห็นพื้นโคลนเลนที่เสาตั้งอยู่ และสามารถเดินเท้าไปจากเกาะได้

เสาโทะริในยามน้ำลง สามารถเดินไปชมใกล้ๆ ได้

นิยามความงามพื้นฐานในแบบญี่ปุ่น

ด้วยลักษณะของการนําภูเขาและธรรมชาติ มาเป็นจุดเน้นผูกโยงกับความเชื่อ การเคารพบูชาทางศาสนา สร้างความผสมผสานใน 3 สิ่งอย่างลงตัว ได้แก่ สิ่งปลูกสร้างโดยมนุษย์ ที่เป็นศูนย์กลาง ซึ่งตั้งอยู่บนทะเล และมีภูเขาเป็นพื้นหลัง กลายเป็นที่รู้จักว่าเป็นความงามพื้นฐานแบบญี่ปุ่น มีศิลปะที่ยอดเยี่ยม เทคนิคการก่อสร้างที่มีความพิเศษ และแตกต่างไปจากศาลเจ้าอื่นๆ โดดเด่นในแง่งานสถาปัตยกรรมโบราณ ที่บูรณาการความสามารถของมนุษย์ และธรรมชาติเข้าไว้ด้วยกัน

3 องค์ประกอบของความงามพื้นฐานแบบญี่ปุ่น

การรักษาความสะอาดบริสุทธิ์ในศาลเจ้า ถือว่าเป็นสิ่งสําคัญตามหลักของชินโต ที่จะไม่ข้องเกี่ยวกับความสกปรกและความตาย ภายในศาลเจ้าจะไม่มีการอนุญาตให้มีการเกิดและการตาย แม้จนทุกวันนี้การฝังศพบนเกาะก็ยังเป็นสิ่งต้องห้ามที่ยึดถือกันอย่างเคร่งครัด

นี่คือศาลเจ้าที่ไม่ได้งดงามแค่ทิวทัศน์ แต่ยังมีเรื่องราวที่ชวนให้หลงใหลขนาดนี้ ถ้าอดใจไม่ไหวก็อย่ามัวรอช้า รีบบินไปชมกันได้เลย

ศาลเจ้าอิสึกุชิมะ มุมไหนๆ ก็งดงาม

แผนที่

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ "ศาลเจ้าอิสึกุชิมะ" ความงามพื้นฐานสู่การเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook