รถไฟสายโตคิวติดตั้งระบบตรวจจับใหม่ ป้องกันคนตกลงบนรางรถไฟ

รถไฟสายโตคิวติดตั้งระบบตรวจจับใหม่ ป้องกันคนตกลงบนรางรถไฟ

รถไฟสายโตคิวติดตั้งระบบตรวจจับใหม่ ป้องกันคนตกลงบนรางรถไฟ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เจ้าแห่งวงการรถไฟของโลกคงหนีไม่พ้นประเทศญี่ปุ่น ไม่เพียงแต่จะมีระบบรางที่ทั่วถึง แต่ญี่ปุ่นยังไม่หยุดที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้กับรถไฟเพื่อให้เกิดการบริการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด อีกหนึ่งเทคโนโลยีล่าสุดที่ถูกนำมาใช้กับรถไฟสายโตคิว (Tokyu) ก็คือ การตรวจจับความเป็นไปได้ที่จะมีคนกระโดดหรือตกลงไปในรางรถไฟแบบอัตโนมัติ ซึ่งคาดว่าระบบนี้จะสามารถลดและจัดการกรณีเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้อย่างทันท่วงที โดยได้เริ่มทดลองใช้ระบบดังกล่าวที่สถานีซางินูมะมาตั้งแต่ปลายปี 2017 และจะเริ่มนำมาใช้อย่างเป็นทางการที่ชานชาลา 3, 4 ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา

tokyu

ระบบนี้เป็นการใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ภาพของบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดังอย่าง Panasonic โดยระบบจะทำการวิเคราะห์ภาพจากกล้องที่ถูกติดตั้งอยู่ในสถานีแบบ real time ตรวจหาคนที่ยืนอยู่บนชานชาลาจากภาพ หากมีคนก้าวเข้าไปในพื้นที่อันตราย เช่น ตกลงไปบนรางรถไฟ ภาพดังกล่าวจะถูกแสดงขึ้นที่อุปกรณ์ตรวจจับเฉพาะ และจะมีเสียงเตือนจากไฟไซเรนแจ้งให้เจ้าหน้าที่สถานีทราบ

ทางโตคิวอธิบายว่าระบบใหม่นี้จะแตกต่างจากเครื่องแจ้งเตือนเมื่อมีสิ่งผิดปกติตกลงไปบนรางแบบในอดีต เพราะระบบใหม่นี้สามารถตรวจจับ และตรวจสอบว่ามีอะไรเกิดขึ้นได้ด้วยภาพถ่าย ทำให้สามารถมองเห็นความเป็นไปได้ของการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเชื่อมโยงต่อการจัดการอย่างรวดเร็วและทันท่วงที

tokyu1

ในห้องควบคุมระบบจะมีหน้าจอที่ฉายให้เห็นภาพบนชานชาลา และด้านข้างของหน้าจอดังกล่าวจะมีไฟไซเรนติดตั้งไว้ โดยภาพบนหน้าจอดังกล่าวจะมีกรอบสีขาวปรากฏขึ้นล้อมรอบตรงจุดที่เป็นคน เมื่อคนมีการเคลื่อนไหวกรอบสีขาวก็จะเคลื่อนที่ตามไปด้วย เป็นการตรวจจับคนได้โดยอัตโนมัติ ทางโตคิวเปิดเผยว่า Panasonic เพียงแค่มอบเทคโนโลยีดังกล่าวให้ แต่การดำเนินการใช้และควบคุมจะทำโดยทางโตคิวเอง นอกจากนี้หน่วยงานภายนอกจะไม่สามารถเข้าถึงการวิเคราะห์ ตรวจจับ และส่งต่อข้อมูลภาพดังกล่าวได้

tokyu2

ทางโตคิวยังเปิดเผยต่อว่า ระบบดังกล่าวในเบื้องต้นจะถูกนำมาใช้ตั้งแต่เวลา 21:00 ถึงรถไฟเที่ยวสุดท้าย เพราะตามปกติในช่วงเวลาเร่งด่วนจะมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก ทำให้มีผู้คอยส่งข้อมูลและช่วยเป็นหูเป็นตาให้เป็นจำนวนมาก ไม่เหมือนอย่างในเวลากลางคืนที่การสอดส่องดูแลอาจทำได้ไม่ทั่วถึง จึงคาดหวังว่าระบบนี้จะมีประโยชน์ในการจัดการอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook