จะได้ผลไหมนะ? ไม่หันเก้าอี้เข้าราง ป้องกันคนเมาเดินตกรางรถไฟ
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเวลาที่รถไฟญี่ปุ่นติดปัญหาล่าช้า (ที่ไม่ใช่แค่ 1-3 นาที) ส่วนใหญ่จะเกิดจากอุบัติเหตุ ซึ่งอาจมีทั้งกรณีที่คนโดดรถไฟเพื่อฆ่าตัวตาย หรือมาจากสาเหตุอื่น เช่น คนพลัดตกรางรถไฟ ทำของหล่นแล้วลงไปเก็บเองโดยไม่แจ้งนายสถานี และส่งผลให้เกิดเหตุการณ์น่าสลดในที่สุด กรณีแบบนี้ข่าวญี่ปุ่นมักใช้คำว่า “人身事故” (jin-shin-ji-ko) หมายถึงการที่มีผู้คนบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในการเดินทาง (ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นทางรถไฟนี่แหละค่ะ)
กรณีที่เป็นการจงใจฆ่าตัวตาย ถ้าโชคดีก็อาจจะช่วยไว้ทัน แต่หากโชคไม่ดีนักก็คงจะเกิดการสูญเสีย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทางญี่ปุ่นก็ได้พยายามหาแนวทางป้องกันมาเรื่อย ๆ แต่ประเด็นหลักที่น่าสนใจของเราในครั้งนี้ ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่กรณีของการฆ่าตัวตายแต่อย่างใด เพราะเราจะมาดูกันที่กรณี “คนเมาพลัดตกรางรถไฟ” ค่ะ
เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ ที่สถานี JR Yamashina เพิ่งจะมีเหตุคนเมาพลัดตกลงไปในรางรถไฟ และมีชายหนุ่มอีกคนกระโดดตามลงไปช่วยพาขึ้นมา โชคดีมากที่สามารถหยุดรถไฟได้ทันและทั้งสองคนไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด
ถึงแม้ชายหนุ่มจะได้แสดงความกล้าหาญลงไปช่วยเหลือคนเมาขึ้นมาได้ แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาวเน็ตมากมายว่า
ควรจะกดปุ่มฉุกเฉินและแจ้งนายสถานีให้เป็นคนดำเนินการเรื่องนี้แทน เพราะการกระโดดลงไปช่วยเองอาจทำให้เกิดการสูญเสียมากกว่าเก่า
ไม่หันเก้าอี้เข้าราง ป้องกันคนเมาเดินตกรางรถไฟ
แบบเก่า ⇢ แบบใหม่
ในขณะเดียวกัน รถไฟสาย Keisei Main Line ได้เริ่มแนวทาง “กันไว้ดีกว่าแก้” มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเปลี่ยนแนวการวางเก้าอี้ ซึ่งปกติจะหันเข้าหาทางรถไฟให้หันไปตามแนวทางเดินแทน เพราะคิดว่าอาจช่วยลดปัญหาเวลาที่คนเมาลุกขึ้นยืนแล้วเผลอเดินเซไปด้านหน้าจนพลัดตกรางรถไฟได้นั่นเองค่ะ ซึ่งผลตอบรับก็มีทั้งคนที่คิดว่าการวางเก้าอี้ในแนวนี้อาจช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ และคนที่คิดว่าไม่น่าจะให้ผลที่แตกต่างจากการวางแนวเดิมสักเท่าใดนัก
ส่วนตัวผู้เขียนมองว่านี่เป็นจุดเล็ก ๆ ที่น่าใส่ใจและอาจช่วยป้องกันคนเมาพลัดตกลงไปในรางรถไฟได้บ้างค่ะ แล้วคุณผู้อ่านทุกท่านล่ะคะ…คิดว่าการเปลี่ยนแนววางเก้าอี้แบบนี้ จะมีส่วนช่วยลดปัญหาคนเมาพลัดตกรางรถไฟได้หรือเปล่าคะ?