ตอบคำถามคาใจ…ทำไมญี่ปุ่นถึงคนเยอะ?
ใครที่ไปเที่ยวญี่ปุ่น โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ๆอย่างโตเกียว โอซาก้า หรือฟุกุโอกะ มักแปลกใจกับภาพคลื่นมนุษย์เดินขวักไขว่ เบียดเสียด โดยเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์ตามแหล่งช็อปปิ้ง หรือวันธรรมดาตามย่านธุรกิจ และอาจมีคำถามว่า ทำไมประเทศญี่ปุ่นที่มีพื้นที่น้อยกว่าประเทศไทยเกือบ 2 เท่า และมีที่ราบน้อย เต็มไปด้วยที่สูงและภูเขา แถมยังเต็มไปด้วยภัยพิบัติทางธรรมชาติมากมาย ทั้งแผ่นดินไหว สึนามิ ไปจนถึงอากาศที่เหน็บหนาว ถึงได้มีประชากรมากกว่าประเทศไทยถึงเกือบ 2 เท่า (ปัจจุบันญี่ปุ่นมีประชากร 127.3ล้านคน) อะไรที่เป็นสาเหตุให้ประชากรญี่ปุ่นมีจำนวนมากเหมือนทุกวันนี้?
ประชากรมหาศาลตั้งแต่สมัยเอโดะ
เมื่อครั้งที่มีการสำรวจสํามะโนประชากรครั้งแรกในปี 1900 หรือเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว ประเทศไทยมีประชากรทั้งสิ้นเพียง 8 ล้านคน โดยนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นในยุคสมัยเดียวกันที่มีประชากรราวๆ 45 ล้านคน และเพิ่มขึ้นมากกว่า 50 ล้านคนในอีก 10 ปีถัดมา นับว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีคนเยอะมากเป็นอันดับต้นๆของโลกในยุคนั้น ว่ากันว่าที่จริงแล้ว ประชากรญี่ปุ่นเริ่มเพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่สมัยเอโดะ (1603-1868) ซึ่งเป็นยุคสมัยแห่งความสงบ สงครามเริ่มน้อยลง เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บ้านเมืองเข้าสู่สภาวะมั่นคง ผู้คนเริ่มมีอายุยืนยาวและสร้างครอบครัวกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จำนวนประชากรได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงสมัยเมจิ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นเริ่มเปิดประเทศและปฏิวัติอุตสาหกรรม ประชากรที่มีจำนวนมหาศาลนี้เองที่ทำให้เกิดวัฏจักรการบริโภคและการผลิตที่มีเสถียรภาพจนกลายเป็นรากฐานแห่งความมั่งคั่งของญี่ปุ่นในทุกวันนี้
เหตุผลทางด้านวัฒนธรรมและการเมือง
จากพงศาวดารญี่ปุ่นฉบับแปลไทยของยูปิเตอร์ ได้กล่าวถึงวัฒนธรรมทางการเมืองประการหนึ่งของญี่ปุ่นไว้ว่า ชนชาติญี่ปุ่นนั้นถือว่าตระกูลและครอบครัวของตนเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด การสืบตระกูลและดำรงไว้ซึ่งฐานันดรของตระกูลเป็นเรื่องใหญ่ ตระกูลใดมีญาติพี่น้องมากก็ยิ่งเข้มแข็ง และตระกูลที่มีวงศ์วานมากที่สุดย่อมทำให้มีอำนาจทางการเมืองมากที่สุดด้วย แต่ละครอบครัวจึงเน้นเรื่องของการมีลูกเพื่อสืบทอดตระกูล และการมีลูกมากยิ่งทำให้มีแรงงานที่จะช่วยในกิจการของครอบครัวและชุมชนมากขึ้นด้วย เช่น เป็นทหารออกรบ เป็นแรงงานทำนา เป็นต้น ในสมัยเมจิ จังหวัดนีงาตะซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการทำนากันมากนั้น มีจำนวนประชากรมากเป็นลำดับต้นๆเพราะแต่ละครอบครัวต่างก็ต้องการแรงงาน ทำให้วัฒนธรรมการเกษตรและงานฝีมือแพร่หลายไปทั่ว นอกจากนี้บางแหล่งยังกล่าวไว้ว่า สำนึกในความเป็นชนชาติเดียวกัน ชุมชนเดียวกัน และตระกูลเดียวกันของคนญี่ปุ่นนั้นมีพัฒนาการที่รวดเร็ว ทำให้รากฐานการสร้างครอบครัวนั้นมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงตั้งแต่สมัยโบราณ
ความเจริญทางนวัตกรรม
เมื่อบ้านเมืองเริ่มเข้าสู่ภาวะไร้สงครามในสมัยเอโดะ การค้าก็มีความเจริญมาก และยิ่งทำให้มีการพัฒนานวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเกษตรอย่างก้าวหน้า ในสมัยนั้นผลผลิตทางการเกษตรเริ่มมีปริมาณสูงขึ้น ทำให้การบริโภคและโภชนาการของคนญี่ปุ่นนั้นดีขึ้น ผู้คนเริ่มมีอายุยืนขึ้นและอัตราการเกิดสูงขึ้น การรับนวัตกรรมจีนและการศึกษาแบบจีน รวมทั้งระบบการเขียนของจีนในยุคแรกๆก็เป็นตัวช่วยที่ทำให้การเผยแพร่นวัตกรรมไปทั่วดินแดนนั้นรวดเร็วยิ่งขึ้น เมื่อเข้าสู่ยุคแห่งการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในสมัยเมจิ ที่ญี่ปุ่นรับเทคโนโลยีและการปรับปรุงการศึกษาแบบตะวันตกเข้ามา และปรับปรุงเทคนิคการปลูกข้าวโดยได้บทเรียนจากยุคข้าวยากหมากแพงครั้งใหญ่ในสมัยเอโดะ ยิ่งทำให้ผู้คนอยู่ดีกินดี และมีชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้นจนจำนวนประชากรเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
เข้าสู่ช่วงเบบี้บูม
แม้จะสูญเสียประชากรไปมากในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แต่หลังจากสงครามจบลงได้เพียงสองปี ญี่ปุ่นก็เผชิญกับภาวะ “เบบี้บูม” ครั้งแรก ประชากรมีอัตราการเกิดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะประเทศเริ่มมีความสงบเรียบร้อย หลังจากนั้นในปี 1959-63 ก็ได้เกิด “เบบี้บูม” ครั้งที่สอง เพราะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวและก้าวหน้า รวมทั้งภาวะของสังคมที่ต้องการแรงงานเพื่อป้อนการผลิตแบบอุตสาหกรรม ว่ากันว่ายุคเบบี้บูมนี่เองที่ทำให้เกิดการระเบิดของประชากรจนมีจำนวนเท่ากับในปัจจุบัน และผู้คนในยุคเบบี้บูมก็เป็นแรงงานที่ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ
อัตราการเจริญพันธุ์ลดลงชนิดดิ่งวูบ
ด้วยการสะสมของจำนวนประชากรที่เริ่มมากขึ้นตั้งแต่หลายร้อยปีที่แล้ว ทำให้ตัวเลขประชากรของญี่ปุ่นในปัจจุบันนี้ยังดูสูง แต่หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า อัตราการเจริญพันธุ์ในปัจจุบันของญี่ปุ่นนั้นเข้าสู่ภาวะวิกฤติ โดยดิ่งลงเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับในทศวรรษ 1980 ที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังอยู่ในช่วงขาขึ้น และปัจจุบันญี่ปุ่นก็เป็นหนึ่งในประเทศที่อัตราการเจริญพันธุ์ต่ำที่สุดในโลก ซ้ำด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าผู้คนในยุคเบบี้บูมเข้าสู่ภาวะคนชรา ทำให้แรงงานน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดและอัตราการตายเริ่มสูงขึ้น ภาระด้านค่าใช้จ่ายในการบำรุงสุขภาพอนามัยและระบบบำนาญของรัฐที่แบกรับไว้ยิ่งสูงขึ้น เหตุนี้เองที่ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นกังวลจนออกนโยบายส่งเสริมการสร้างครอบครัว และมีแนวโน้มที่ดีว่าอัตราการเกิดและการเจริญพันธุ์เริ่มสูงขึ้นใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นในอนาคตยังมีการบ้านชิ้นใหญ่ให้ตั้งหน้าตั้งตาทำต่อไป นั่นคือการประคับประคองระดับประชากรและแรงงานให้ได้เพื่อป้อนการผลิตที่นับวันจะเข้มข้นขึ้นนั่นเอง
การศึกษาด้านประชากรเมื่อเปรียบเทียบกับของญี่ปุ่นแล้ว แน่นอนว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญแก่ประเทศไทยเช่นกัน ในยุคนี้ที่ไทยประสบปัญหาด้านการลดลงของอัตราการเกิดและการเจริญพันธุ์ของประชากรคล้ายๆกัน การมองไปที่ญี่ปุ่นจึงอาจทำให้เห็นสาเหตุและพบวิธีแก้ไขที่ได้ผล น่าแปลกใจตรงที่การเพิ่มขึ้นของประชากรญี่ปุ่นนั้นเริ่มต้นจากความสงบในประเทศ แต่ในยุคปัจจุบันที่ไม่ต้องไปรบรากับใครแล้ว ประชากรกลับมีแนวโน้มลดลงจนน่าใจหาย ข้อนี้เองที่แสดงให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในด้านขนบธรรมเนียมและระบบเศรษฐกิจนั้นมีอิทธิพลต่อเรามากเพียงใด