ส่งเสียงขับขาน “ความวาย” และ “Pride Month” จะไปด้วยกันได้แบบนี้ โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์

ส่งเสียงขับขาน “ความวาย” และ “Pride Month” จะไปด้วยกันได้แบบนี้ โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์

ส่งเสียงขับขาน “ความวาย” และ “Pride Month” จะไปด้วยกันได้แบบนี้ โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สวัสดีค่ะคุณกิตติคะ แน่นอนว่าเดือนนี้เป็นเดือนแห่ง Pride Month และสัปดาห์ท้ายของเดือนนี้ เทยเลยอยากขอหยิบยืมพื้นที่ตรงนี้ ในการเป็นกระบอกเสียง ช่วยกันขานรับการเคลื่อนไหว ของชาวเพศหลากหลาย ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “สื่อ” กันหน่อยค่ะ 

ฉะนั้น สัปดาห์นี้ เทยขอหยิบเรื่องราวของซีรีส์วาย มาทาบเสมอกับประเด็นที่ส่งเสริม LGBTQ+ กันหน่อยค่ะ ว่าตรงไหนที่เหล่าซีรีส์วายควรปรับ เพื่อให้มันไปด้วยกันได้ และไม่แยกจากกัน

ก่อนอื่น เทยต้องเมาท์ก่อนว่า ซีรีส์วายในความเห็นของเทย คือสื่อ และสื่อจำเป็นต้องมี Accountability หรือ ความรับผิดชอบและพันธกิจ ต่อสังคมองค์รวม คือแบบว่ามันจะไร้สาระ จะบ้าบอ ขำขัน บันเทิงยังไง มันก็ต้องให้อะไรบางอย่างคืนสู่สังคมด้วยแม่ แบบว่า จะตลก ก็ต้องตลกบนความสร้างสรรค์ ไม่ยำสิ่งที่สังคมมันแย่อยู่แล้วแต่แย่ตาม ในประเด็นความหลากหลายทางเพศก็เหมือนกันค่ะ 

เพราะงั้น จะหวานจิกหมอนกันยังไง แต่ซีรีส์วายก็คือเรื่องราวของความรักของชายและชาย จะหลบคำ เลี่ยงบาลีกันยังไง มันก็คือชายรักชาย คือความรักในรูปแบบที่หลากหลาย เพศที่หลากหลาย ยังไงมันก็คือส่วนหนึ่งของ LGBTQ+ ค่ะแม่คะ อย่าลำไยไปเป็นอื่น

และเมื่อมันอยู่ในหลังคาเดียวกัน ดังนั้น มันก็ควรจะส่งเสริมกัน อย่าเป็นพิษต่อกันเลยกันเลย สาธุ ดังนี้ค่ะ

 

เลิก Rape Culture, เลิก Sexual Harassment

มุกจูบให้ล้ม ดึงแขนขึงพรืด ขืนใจ มึงปล่อยกู กูเจ็บ ต่างๆ คุณขา คุณต้องเลิกนะคะ มันไม่ได้ค่ะ มันผิด ซึ่งจริงๆ แล้ว สิ่งนี้ผิดไม่ใช่แค่ในซีรีส์วาย แม้แต่ละครที่คู่หลักเป็นชายหญิงก็ไม่ควรค่ะ รวมถึงการแบบ อยากจับนม แตะเนื้อต้องตัว จูบแบบไม่มี Consent นี่ก็ต้องพักกันก่อน คือมันผิดไม่ใช่แต่ในเชิงร่างกาย มันผิดกฎหมายด้วยนะเธอ ต้องหยุด 

แมนไม่ใช่ปัญหา แต่ความแมน ไม่เกี่ยวกับคณะ หรือสายอาชีพ

ความซีรีส์วายน่ะเธอ ก็จะชอบให้ตัวเอกแบบ “แมนๆ เตะบอลครับผม” ซึ่งมันก็ไม่แปลกนะคะ ที่คนแมนๆ จะรักกับผู้ชาย แต่สิ่งที่เราจะต้องครอบคลุมความหลากหลายก็คือ ตัวละครที่ไม่แมน ก็มีสิทธิที่จะมีความรักได้เหมือนกัน และเขาไม่ได้อยู่เพื่อเป็นตัวตลก เขาก็มีชีวิตของเขาเช่นเดียวกัน และที่สำคัญ ความแมน ไม่เกี่ยวกับวิศวะ นักฟุตบอล หรือบาส ความแมนๆ เป็นรสนิยมส่วนตัว มีไม่มี ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องเน้นขนาดนั้นก็ได้นะเธอ

กูเป็นผู้ชาย และกูชอบผู้ชายคนเดียวก็คือมึง

ประโยคสุดคลาสสิกของซีรีส์และนิยายวาย เพื่อจะขับเน้นชูว่านี่นะ รักแท้ ข้อยกเว้นเพียงหนึ่งเดียว แต่เธอขา เธอไม่จำเป็นต้องออกแบบให้ตัวละครยึดมั่นในความเป็นผู้ชายขนาดนั้นก็ได้ค่ะเธอ เพราะเพศอื่นๆ เขาก็รักคนคนเดียวเหมือนกันค่ะ เกย์ก็รักคนทีละคนค่ะ ผู้หญิง เลสเบี้ยนก็เช่นกัน ความรักอันยิ่งใหญ่จากชายคนนึงที่มอบให้ผู้ชายคนเดียวอีกคน ก็คือเกย์แล้วค่ะเธอ

อย่าหวาดกลัว Gay Culture

โอเค มันก็เป็นความจริงค่ะ ที่ในภาพของ Pride Month การเดินถือธงรุ้ง มักเป็นสิ่งที่เราเข้าใจได้ว่าเป็นการแต่งหญิง ออกสาว เต้นอาริอานน่า เกรนเด แต่จริงๆ แล้ว ไม่ใช่เกย์ทุกคน จะมีรูปแบบชีวิตแบบนั้น การนำเสนอของซีรีส์วายไม่ใช่ภาพแฟนตาซีนะเธอ มีคู่เกย์ที่ใช้ชีวิตเหมือนในซีรีส์ก็มีอยู่มาก คู่รักในคณะวิศวะ ไม่แต่งหญิง ไม่ออกสาว เตะบอล อาจจะเป็น Bisexual คบหญิงมาก่อนจะคบผู้ชาย คือมันมีนะเธอ และนี่ก็เป็นชีวิตของ LGBTQ+ เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเธอไม่จำเป็นต้องกลัวว่า Gay Culture จะถูกนำมาอธิบายทุกอย่างค่ะ

นิยายเขียนโดยผู้หญิง ซีรีส์กำกับโดยผู้ชาย ฉะนั้นอย่ายอมให้เนื้อหากดทับตัวเอง

ความน่าสนใจก็คือ เนื้อหาของซีรีส์วาย หลายๆเรื่องหยิบมาจากนิยายวายที่โด่งดัง และนิยายวายเหล่านั้นเขียนโดยผู้หญิง แต่ทว่าเนื้อหากับเต็มไปด้วยเรื่องราวที่กดทับผู้หญิงเองอย่างไม่น่าเชื่อเลยเธอ แบบว่าตัวเอกเคยผ่านผู้หญิงมาแล้วทุกแบบ ผู้หญิงเป็นแฟนที่งี่เง่า ไม่เหมือนความรักแบบชายชายที่รู้ใจกันมากกว่า หรือแม้แต่การให้ตัวละครผู้หญิงเป็นเพศที่ต้องมาสร้างปัญหา เป็นตัวร้ายแล้วจากไป เธอจ๋า การสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ คือทุกเพศ ต่างมีมิติของชีวิต ผู้หญิงที่เขียนนิยาย ควรตระหนักว่า การสร้างเรื่องราวที่จะกดทับตัวเธอเอง มันจะย้อนกลับมาทำร้ายเธอในอนาคตได้นะเออ

ความรัก คือความหลากหลาย และต้องการเสรีภาพ

ซีรีส์วาย ร้อยทั้งร้อยย่อมเกี่ยวกับความรัก ความรักเป็นสิ่งสวยงามเสมอ และหากชาววาย ชื่นชมในความรัก และอยากให้ตัวละครในซีรีส์วายสมหวังในความรัก มีพื้นที่ในการ “จิ้น” กันได้ พวกเธอต้องตระหนักว่า เสรีภาพในความรัก ในการที่จะรัก มีพื้นที่ที่จะได้รัก “ผู้ชายคนนี้คนเดียว” ของพวกเธอ มันต้องมี เพราะฉะนั้น เธอจะแยกแตกออกไปไม่ได้นะเธอจ๋า ความรัก ไม่ว่าจะเป็นของเพศไหน มันควรได้รับความเท่าเทียมเสมอภาคกันค่ะ

ซีรีส์วายวัยรุ่น รักมหาลัยวัยเรียน ดูเหมือนจะเฟื่องฟู เพราะเป็นชีวิตที่สามารถรักกันได้หวานชื่นโดยไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่ต้องมีสิ่งอื่นมารบกวนใจ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ซีรีส์หลายๆ เรื่องได้รับความนิยมมากขึ้น จนต้องทำภาคต่อ ต่อขยายเรื่องราวที่ควรจะจบในรั้วมหาลัยออกไป แต่ก็นั่นแหละค่ะ ทันทีที่ก้าวขาออกจากรั้วมหาลัย มันก็คือโลกชีวิตจริงที่มีปัจจัยมากมาย ข้อจำกัดมากมายที่ทำให้ความรักของ “ชายและชาย” มันไปด้วยกันไม่ได้

การสนับสนุนการขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศ มันเป็นสิ่งที่ซีรีส์วายควรจะเหยียบขาซักข้างหนึ่งมาให้ความสำคัญ เพราะหากเราไม่สามารถทำให้ความรักในรูปแบบนี้มันมีตัวตน และได้รับสิทธิเท่าเทียมได้ ต่อให้มีคู่รักวายซีรีส์วายอีกร้อยคู่ มันก็จะจบลงแต่โลกแฟนตาซี เพราะเขารักกันไม่ได้ไงเธอจ๋า

ที่เทยเล่ามานี่ ก็รู้ว่ามันยาก ที่ซีรีส์วายจะต้องปรับตัวให้เป็นไปตามข้อเหล่านี้เป๊ะๆ แต่สุดท้าย เราต่างก็เป็นสื่อ เป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อขับเคลื่อนสังคม ไปพร้อมๆ กับได้รับการสนับสนุน เราทำได้ค่ะ คนทำสื่อบ้านเราเก่งจะตายไป เทยเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ เราอาจจะกำลังได้เสพย์ซีรีส์วายที่เนื้อหาดีดี นักแสดงดีดี บทดีดี และสนับสนุนความหลากหลายทางเพศได้ด้วยนะคะคุณกิตติขา

เทยจะรอนะคะ

 

เหยี่ยวเทย รายงาน

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ ส่งเสียงขับขาน “ความวาย” และ “Pride Month” จะไปด้วยกันได้แบบนี้ โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook