หนัง LGBTQ+ ตลอด 20 ปี...ที่ควรค่าแก่การหามาดูสักครั้งในชีวิต

หนัง LGBTQ+ ตลอด 20 ปี...ที่ควรค่าแก่การหามาดูสักครั้งในชีวิต

หนัง LGBTQ+ ตลอด 20 ปี...ที่ควรค่าแก่การหามาดูสักครั้งในชีวิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในโลกภาพยนตร์โดยเฉพาะประเภทดรามา มักจะหยิบเอาประเด็นของกลุ่มชนที่ด้อยชั้นวรรณะกว่า ทั้งโดยเชื้อชาติ สีผิว เศรษฐกิจ และเพศสภาพ หยิบมาสร้างความสะเทือนใจ ชวนให้คนดูฉุกคิดและตั้งคำถามว่า มนุษย์ควรจะแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างกันด้วยกฎเกณฑ์แห่งอคติเหล่านั้นหรือไม่? ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เรื่องราวของกลุ่มเพศทางเลือกหรือกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็ถูกนำเสนอออกมาสร้างเป็นภาพยนตร์หลายเรื่อง และมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนถึงการยอมรับเรื่องนี้ในสังคมวงกว้าง

What The Fact ขอรวบรวมภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาน่าสนใจเกี่ยวกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมานำเสนอ เนื่องในโอกาส “เดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศ” ซึ่งก็คือในเดือนมิถุนายนของทุกปี โดยจะนำเสนอภาพยนตร์ที่ฉายในกระแสหลัก เพื่อบอกเล่าคู่ขนานไปกับการเปิดใจยอมรับของสังคมทั้งไทยและเทศในช่วงเวลานั้น เนื่องจากเชื่อว่ามีหนังเฉพาะกลุ่มของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศที่เนื้อหาดี และน่าสนใจอีกมาก (ที่อาจจะยกมานำเสนอในโอกาสต่อไป)

ที่มาของเดือน PRIDE MONTH

สำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ถือเอาเดือนนี้เป็นเดือน Pride Month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจ ที่มาที่ไปเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์จลาจล “สโตนวอลล์” (Stonewall Riots) ที่เมือวนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อคืนวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ที่นับเป็นครั้งแรกที่ชาว LGBT กล้าจะยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพในหน้าประวัติศาสตร์

1969 Stonewall Riots - Origins, Timeline & Leaders - HISTORY
ภาพเหตุการณ์จลาจล “สโตนวอลล์” ในปี 1969 (ภาพจาก History.com)

ในตอนนั้น การดำรงสถานะเป็นคนรักเพศเดียวกันนั้นถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในสหรัฐฯ รวมไปถึงการแต่งกายไม่ตรงกับเพศกำเนิด ดังนั้นการได้ใช้ชีวิตอย่างเปิดเผยตัวตนที่แท้ แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ในวันนั้นตำรวจมาทำการตรวจบาร์ตามปกติ แต่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศภายในบาร์ได้ทำการขัดขืนการตรวจจับอย่างเลือกปฏิบัติของตำรวจ จนเหตุการณ์ลุกลามเป็นจลาจล

ต่อมาอีก 1 ปีให้หลังที่เมืองนิวยอร์ก และอีก 3 เมืองใหญ่อย่างลอสแอนเจลิส ซานฟรานซิสโก และชิคาโก ต่างจัดการเดินขบวนพาเหรดเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์จลาจลครั้งนั้นสโตนวอลล์อย่างเป็นสัญลักษณ์ ในปี 2000 ประธานาธิบดี Bill Clinton ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็น “เดือนแห่งความภูมิใจของชาวเกย์และเลสเบียน” ต่อมาในปี 2009 ประธานาธิบดี Barack Obama ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็น “เดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศ” ที่ขยายความรวมมากกว่าแค่กลุ่มเกย์และเลสเบียน (Lesbian, Gay, Bisexual, and Transgender)

CALL ME BY YOUR NAME (2017)

หนังก้าวผ่านวัยผ่านความสัมพันธ์ของเพศเดียวกันเรื่องนี้ ใช้เวลาเป็น 10 ปี กว่าผู้สร้างจะได้เริ่มการถ่ายทำ เพราะสตูดิโอหลายแห่งบอกผ่านจากการเป็นหนังของไบเซ็กชวลและแถมยังไม่มีความขัดแย้งอะไรในเรื่อง นอกจากความหมกมุ่นฮอร์โมนพุ่งพล่านของพระเอกวัยแตกหนุ่ม ทีมงานนานาชาติของหนังประกอบไปด้วยชาวอิตาเลียน ฝรั่งเศส อังกฤษ และไทย (ผู้กำกับภาพ-สยมภู มุกดีพร้อม ที่เคยกำกับภาพ “สัตว์ประหลาด” ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ซึ่งก็เป็นเรื่องราวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเช่นกัน)

ดัดแปลงมาจากนิยายโรแมนติกของ André Aciman ที่พูดถึงเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง Elio เด็กหนุ่มวัย 17 เชื้อสายอเมริกันอิตาเลียน-ยิว กับ Oliver นักศึกษาหนุ่มชาวอเมริกันวัย 24 ปี ขณะมาช่วยงานคุณพ่อของ Elio ช่วงปิดภาคฤดูร้อนในช่วงยุค 80s หนังปูแบ็คกราวน์ในด้านอ่อนโยนของเด็กหนุ่มที่ดูภายนอกเหมือนจะมีเสน่ห์ไปในเชิงเพลย์บอย แต่ความอ่อนโยนนั้นถูกขยายออกจนประตูอีกบานเปิดออก ตัวตนอีกด้านหนึ่งของเขาเผยออกมา เจือปนกับความอยากรู้อยากเห็นและความสับสนในการค้นหาตัวเองแบบฉบับหนัง Coming (out) of Age

Armie Hammer and Timothée Chalamet in Call Me by Your Name (2017)
Call Me By Your Name (2017)
  • นักแสดง: Armie Hammer, Timothée Chalamet, Michael Stuhlbarg, Amira Casar
  • ผู้กำกับ: Luca Guadagnino (Suspiria, A Bigger Splash, I Am Love)
  • ทุนสร้าง / รายรับรวมทั่วโลก: 4.5 / 41 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score / iMDB Rating: 95% / 7.9/10
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: ชนะ 1 สาขารางวัลออสการ์ (บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม) และเข้าชิงอีก 3 สาขา (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Timothée Chalamet) และเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม)

MOONLIGHT (2016)

พ่วงมาถึงสองสถานะที่ถือเป็นพลเมืองชั้นสองมาตลอดของสังคมอเมริกัน หนึ่งคือการเป็นคนผิวดำ สองคือการเป็นเกย์ MoonLight เป็นงานหนังของสตูดิโอ A 24 จับมือกับ Plan B Entertainment ของ Brad Pitt ที่เคยสร้างหนังตีแผ่ทาสผิวดำ 12 Years a Slave (2013) จนได้ออสการ์มาแล้ว ถึงอย่างนั้น หนังก็ยังถูกค่อนขอดว่า หนังคว้ารางวัลออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาได้ เพราะฮอลลีวูดต้องการแสดงนัยยะต่อต้าน Donald Trump และกลุ่มคนที่เลือกเขามาเป็นประธานาธิบดีในปีนั้นซึ่งเป็นฝั่งคนผิวขาว ถ้าหากเปลี่ยนคนผิวดำเป็นผิวขาว และเหตุไม่ได้เกิดในไมอามีหนังจะได้ออสการ์หรือไม่ แต่อีกฝั่งก็บอกว่า หนังมีดีอยู่แล้ว

หนังพูดถึงเรื่องราวชีวิตของ “ไชรอน”’ เกย์ผิวดำผ่าน 3 ช่วงเวลาของชีวิต ตั้งแต่วัยเด็ก, วัยรุ่น ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งเติบโตมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมเลวร้ายในย่านเสื่อมโทรมของไมอามี ไม่ว่าจะถูกเพื่อนคอยรังแก เย้ยหยัน ความรักความอบอุ่นที่เขาไม่เคยได้รับจากผู้เป็นแม่ที่ติดยาอย่างหนัก สั่งสมหล่อหลอมให้เขากลายเป็นเด็กที่แบกรับความรู้สึกรันทดทุกอย่างเอาไว้คนเดียว (อ่านรีวิวฉบับเต็มเรื่องนี้ของ WTF)

This image has an empty alt attribute; its file name is 021_Moonlight-1024x683.jpg
Moonlight (2016)
  • นักแสดง: Mahershala Ali, Naomie Harris, Janelle Monáe, Duan Sanderson, Alex R. Hibbert
  • ผู้กำกับ: Alfonso Cuarón (Roma, Gravity, Harry Potter and the Prisoner of Azkaban)
  • ทุนสร้าง / รายรับรวมทั่วโลก: 76 / 70 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score / iMDB Rating: 92% / 7.9/10
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: ชนะ 3 สาขารางวัลออสการ์ (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (Mahershala Ali), บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม) และเข้าชิงอีก 5 สาขารางวัลออสการ์ (รวมสาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม)

อนธการ (The Blue Hour) (2015)

ผลงานกำกับของ “นุชชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ” ผู้กำกับมากความสามารถในยุคปัจจุบันอีกคนหนึ่ง และผลงานเรื่องถัดจากนี้อย่าง “มะลิลา” ที่นำแสดงโดยเวีย-ศุกลวัฒน์ และโอ-อนุชิต ก็คือมาสเตอร์พีซทั้งการกำกำกับแ (ชนะรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ) และการแสดง (แต่ขอเลือกแนะนำเรื่องอนธการที่มาก่อน) เอาเข้าจริง ๆ หนังมีความเป็นฟิล์มนัวร์ที่ขับเคลื่อนไปด้วยอาชญากรรมที่จะนำไปสู่บทสรุปมากกว่าการเป็นหนังเกย์สักเรื่อง ทำนองเดียวกันกับ “เฉือน” (2009) ของผู้กำกับก้องเกียรติ โขมศิริ หนังฟิล์มนัวร์ที่ลงตัวอีกเรื่อง เพียงแต่เรื่องนั้นเลือกจะใช้ประเด็นรักร่วมเพศเป็นจุดหักมุมในตอนจบแทน

 

หนังที่เป็นภาคเต็มจากเวอร์ชันที่เคยเป็นตอน “คืนสีน้ำเงิน” หนึ่งในซีรีส์ “เพื่อนเฮี้ยน..โรงเรียนหลอน” ทางโทรทัศน์ เป็นเรื่องราวของ “ตั้ม” เด็กมัธยมที่รักเพศเดียวกันและไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว แถมพ่อของเขาก็มักทำร้ายร่างกายตั้มด้วย จนกระทั่งวันหนึ่ง ตั้มได้นัดเจอกับ “ภูมิ” เด็กหนุ่มลึกลับที่ตั้มรู้จักจากอินเทอร์เน็ต ทั้งสองคนได้นัดเจอกันที่สระว่ายน้ำร้างและมีความสัมพันธ์กัน ภูมิทำให้ตั้มรู้สึกถึงความอบอุ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ตั้มโหยหาอยู่ตลอดเวลาและไม่เคยได้รับจากใคร แต่เมื่อความสัมพันธ์ของทั้งคู่ดำเนินไป ตั้มได้เข้าสู่โลกที่อยู่กึ่งกลางระหว่างความฝันและความจริง ที่เต็มไปด้วยวิญญาณ จนนำไปสู่การก่ออาชญากรรมครั้งร้ายแรงที่สุดในชีวิตของเขา

Image may contain: 3 people, text

  • นักแสดง: โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์, อรรถพันธ์ พูลสวัสดิ์, ดวงใจ หิรัญศรี
  • ผู้กำกับ: อนุชา บุญยวรรธนะ (มะลิลา)

CAROL (2015)

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนำเสนอหนังเลสเบียนในช่วง 2-3 ทศวรรษก่อน แต่ก็ง่ายขึ้นในยุค 10 ปีหลังมานี้ ผู้กำกับคุณภาพ Todd Haynes ก็เคยหยิบประเด็นสามีที่ซุกซ่อนความเป็นเกย์มาเล่าใน Far From Heaven (2002) ไปแล้ว มาถึงเรื่องนี้ก็เหมือนสลับฝั่งมาเป็นภรรยาแทน หนังในบรรยากาศยุค 50s ได้ทำลายภาพความเข้าใจของกลุ่มคนหญิงรักหญิงที่อีกคนจะต้องมีลักษณะห้าวอย่างทอมบอย เพราะในเรื่องนี้ทั้งคู่คือสาวสวยที่เป็นผู้หญิง ที่ผูกพันธ์กันทางจิตใจท่ามกลางผู้คน (ในยุคนั้น) ที่กำหนดกรอบว่า เพศมีแค่ชายกับหญิง และนอกเหนือจากนี้คืออาการป่วยทางจิต ที่อาจเกิดจากการทารุณกรรม (จากสามี)

ดัดแปลงมาจากนิยาย The Price Of Salt บทประพันธ์ของ Patricia Highsmith เขียนจากประสบการณ์จริงของเธอตอนที่เป็นพนักงานขายของในห้างสรรพสินค้าและไปสะดุดตาเข้ากับลูกค้าผมบลอนด์คนหนึ่งในปี 1948 และเขียนนิยายเรื่องนี้จบในปี 1951 ในเรื่องเธอชื่อ Carol ได้รู้จักกับ Therese พนักงานแผนกขายของเล่น ทั้งคู่ถูกชะตากันตั้งแต่แรกพบจึงหาโอกาสนัดพบกันจนกลายเป็นความสัมพันธ์ลึกซึ้ง Carol อยู่ในระหว่างหย่าร้างกับ Harge สามีของเธอและขอดูแลลูกเอง เมื่อเขาล่วงรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างเธอทั้งคู่ จึงใช้ประเด็นเรื่องรสนิยมรักร่วมเพศ มาร้องต่อศาลเพื่อขอเป็นผู้ปกครองลูกสาวแต่เพียงผู้เดียว Carol จึงต้องตัดสินใจว่าจะรักษาสัมพันธ์กับ Therese ไว้หรือจะยุติเพื่อได้สิทธิดูแลลูก

Cate Blanchett and Rooney Mara in Carol (2015)Carol (2015)

  • นักแสดง: Cate Blanchett, Rooney Mara, Sarah Paulson, Kyle Chandler
  • ผู้กำกับ: Todd Haynes (Far From Heaven, I’m Not There, Dark Waters, Wonderstruck)
  • ทุนสร้าง / รายรับรวมทั่วโลก: 11 / 40 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score / iMDB Rating: 94% / 7.2/10
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: เข้าชิง 6 สาขารางวัลออสการ์ (นำหญิงยอดเยี่ยม (Cate Blanchett), สมทบหญิงยอดเยี่ยม (Rooney Mara), บทภาพยนตร์ดัดเแปลงยอดเยี่ยม, ถ่ายภาพยอดเยี่ยม, ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม และเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม)

THE DANISH GIRL (2015)

Lili Elbe คือชื่อของหญิงข้ามเพศคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับการผ่าตัดแปลงเพศ เดิมชื่อของเขาคือ Einar Wegener เป็นชาวเดนมาร์ก เขารู้สึกว่ามีสองร่างอยู่ในตัวเขาตลอดเวลาจนกระทั่งมีหมอที่บอกว่า ช่วยสามารถแปลงเพศให้เข้าได้กลายเป็น Lili Elbe อย่างสมบูรณ์ เขาจึงตัดสินใจแปลงเพศโดยได้รับความสนับสนุนจาก Gerda ภรรยาที่ได้ช่วยให้เขาได้ค้นพบความเป็นหญิงในตัวเองหลังจากสามีแต่งหญิง และขอให้เธอวาดภาพเขา เขาเดินทางไปประเทศเยอรมนีเพื่อผ่าตัด 4 ครั้งในปี 1930 ต่อมา Lili ได้พบรักกับศิลปินหนุ่มชาวฝรั่งเศส Claude Lejeune แต่เพียง 14 เดือนหลังจากผ่าตัดครั้งที่ 4 เธอก็เสียชีวิตจากการติดเชื้อในการผ่าตัดครั้งที่ 5 ในปี 1931

หนังถ่ายทอดอย่างสุดฝีมือด้วยนักแสดงอย่าง Eddie Redmayne ที่เคยแสดงเป็น Stephen Hawking นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องที่ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจนพิการใน Theory of Everything (2014) แต่ที่ยอดเยี่ยมไปกว่านั้นคือการแสดงของ Alicia Vikander ในบท Gerda ภรรยาที่สนับสนุนให้สามีได้พบกับความสุขที่แท้จริงในการข้ามเพศไปเป็นผู้หญิง Vikander จึงได้ออสการ์กลับไปนอนกอด นอกจากนี้ หนังยังกำกับโดย Tom Hooper จาก Les Misérables (2012) และ The King’s Speech (2010) อีกด้วย (อ่านรีวิวฉบับเต็มเรื่องนี้ของ WTF)

The Danish Girl (2015)

  • นักแสดง: Eddie Redmayne, Alicia Vikander, Amber Heard, Ben Whishaw, Adrian Schiller
  • ผู้กำกับ: Tom Hooper (Les Misérables, The King’s Speech, Cats)
  • ทุนสร้าง / รายรับรวมทั่วโลก: 15 / 64 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score / iMDB Rating: 67% / 7.1/10
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: ชนะ 1 สาขารางวัลออสการ์ (นำหญิงยอดเยี่ยม (Alicia Vikander) และเข้าชิงอีก 3 สาขารางวัล (นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Eddie Redmayne), ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม และองค์ประกอบศิลป์ยอดเยี่ยม)

THE IMITATION GAME (2014)

อีกหนึ่งหนังที่ถ่ายทอดการแสดงไว้ได้อย่างยอดเยี่ยมโดยนักแสดงระดับยอดฝีมืออย่าง Benedict Cumberbatch กับ Keira Knightley ที่ตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่มารู้ทีหลังว่า คนรักของเธอเป็นเกย์ และไม่อาจลืมชายคนรักที่ตายจากไปนานแล้ว ถึงกระนั้นเธอก็ยังมอบมิตรภาพที่ดีงามตลอดชีวิตให้กับอัจฉริยะที่เป็นไปตามคำที่ว่า “เสร็จนาฆ่าโคถึก” เพียงเพราะเขาถูกบีบให้จนมุมที่จะต้องสารภาพว่าเป็นผู้รักร่วมเพศ ปี 2009 นายกรัฐมนตรี Gordon Brown ได้แถลงกล่าวขอโทษ Alan Turing ต่อสาธารณะชน และปี 2013 พระราชินีอลิซาเบ็ธที่ 2 ประกาศอภัยโทษให้กับเขา หลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้วเกือบ 60 ปี

Alan Turing คณิตศาสตร์อัจฉริยะชาวอังกฤษ ผู้ที่สามารถแกะรหัสอีนิกมาของเยอรมันได้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ฝ่ายพันธมิตรได้เปรียบในสงครามจนนำไปสู่ชัยชนะ และยังเป็นการปูรากฐานของวิทยาการคอมพิวเตอร์ ทำให้คอมพิวเตอร์ถูกพัฒนามาเป็นเวอร์ชันที่ใช้กันในปัจจุบัน ภายหลังถูกจับได้ว่ามีพฤติกรรมรักร่วมเพศซึ่งผิดกฎหมายของอังกฤษในสมัยนั้น Alan ถูกตัดสินว่ามีความผิดเทียบเท่าอาชญากรรมและถูกตัดสินให้ถูกทำหมันด้วยการฉีดฮอร์โมนเพศหญิงเข้าร่างกาย แม้ว่าจะสร้างคุณงามความดีให้กับประเทศอย่างใหญ่หลวงก็ตาม สุดท้ายเขาไม่อาจทนต่อความเจ็บปวดจึงตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการกินแอปเปิลชุบไซยาไนด์ในวันเกิดปีที่ 42

  • นักแสดง: Benedict Cumberbatch, Keira Knightley, Matthew Goode, Mark Strong, Charles Dance
  • ผู้กำกับ: Morten Tyldum (Passengers, Headhunters)
  • ทุนสร้าง / รายรับรวมทั่วโลก: 14 / 233 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score / iMDB Rating: 90% / 8/10
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: ชนะ 1 สาขารางวัลออสการ์ (บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม) และเข้าชิงอีก 7 สาขารางวัล (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Benedict Cumberbatch), นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (Keira Knightley), ผู้กำกับยอดเยี่ยม, ลำดับภาพยอดเยี่ยม, เพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และองค์ประกอบศิลป์ยอดเยี่ยม)

ไม่ได้ขอให้มารัก (It Gets Better) (2012)

ยืนหนึ่งในการเป็นผู้กำกับที่นำเสนอหนังไทย ที่มีเนื้อหาตีแผ่เรื่องราวความรักของกลุ่มกะเทย แต่กับผลงานเรื่อง ไม่ได้ขอให้มารักนั้น กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ กลับทำหนังออกมาได้อย่างกลมกล่อม ในความตลกและการเป็นหนังรักที่ดูเพลินและปิดท้ายกับบทสรุปขมวดปมตอนจบที่ต้องชมการเขียนบทที่เขียนออกมาได้ลงตัว

หนังเล่าเรื่องราวหลายชีวิตภายในเรื่อง ตั้งแต่สามีที่เพิ่งค้นพบว่าตัวเองเป็นชายข้ามเพศหลังงานแต่งงานและมีลูกมีเมียแล้ว พ่อที่ไม่อาจทนรับลูกชายกะเทยได้ ลูกชายที่อับอายเมื่อรู้ว่าพ่อเปิดบาร์กะเทย อย่างไรก็ตามหนังไม่ได้มีบทสรุปที่หักหาญน้ำใจของสถาบันครอบครัวเหมือนกับผลงานแรกของผู้กำกับอย่าง Insects in the Backyard เพราะนั่งก็ให้บทสรุปว่าสายใยระหว่างคนในครอบครัวยังไงก็ตัดไม่ขาด และหนังก็ยังมีการแสดงที่ยอดเยี่ยมของเพ็ญพักตร์ ศิริกุลที่มารับบทกะเทยรุ่นเดอะ ที่มาเข้าคู่กับปั้นจั่น-ปรมะ ในบทช่างซ่อมมอเตอร์ไซที่ดูตลกและน่ารักดี

  • นักแสดง: เพ็ญพักตร์ ศิริกุล, ปรมะ อิ่มอโนทัย, ภาณุพงศ์ วราเอกศิริ, นันทิตา ฆัมภิรานนท์, พาวิช ทรัพย์รุ่งโรจน์
  • ผู้กำกับ: ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ (Insects in the Backyard, คืนนั้น (Red wine in the dark Night),ปั๊มน้ำมัน
  • รางวัลบนเวทีสุพรรณหงส์ทองคำ: ชนะ 3 สาขารางวัล (นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (ปรมะ อิ่มอโนทัย), ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม และกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม) และเข้าชิงอีก 6 สาขารางวัล (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ลำดับภาพยอดเยี่ยม, บันทึกและผสมเสียงยอดเยี่ยม และเพลงประกอบยอดเยี่ยม)

MILK (2008)

หลังเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ สังคมอเมริกันก็เปิดรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น อย่างที่เมืองซานฟรานซิสโกที่แทบจะกลายเป็นเมืองหลวงของชาวเกย์แห่งใหม่ ในช่วงต้นทศวรรษ 1970s มีการประมาณการว่ามีชาวรักร่วมเพศในเมืองนั้นราว 1 ใน 5 และในช่วงปี 1974-1977 Harvey Milk เกย์หนุ่มใหญ่วัย 40 ก็ลุกขึ้นมาเป็นหัวขบวนเรียกร้องจนได้มีบทบาทในเวทีการเมือง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ในปี 1978 นั้น เขาถูกนักการเมืองหัวรุนแรงอีกคนบุกยิงจนเสียชีวิต (นักการเมืองคนนั้นรับโทษจำคุกแค่ 7 ปี เพราะอ้างว่าสารเคมีในร่างกายไม่สมดุลจนเป็นเหตุให้ยิง Milk จนตาย)

 

เรื่องราวของ Harvey Milk ที่เป็นนักการเมืองเกย์คนแรกที่ออกมาคว่ำนโยบาย Proposition 6 ที่มีเนื้อหาที่จะห้ามไม่ให้บุคลากรรักร่วมเพศเข้าทำงานในสถาบันการศึกษาของสหรัฐฯ ไอดอลของเกย์ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง ได้จุดประกายและเป็นแรงบันดาลใจให้กับ Dustin Lance Back มือเขียนบทของเรื่อง (คว้าออสการ์จากเรื่องนี้) ที่เติบโตมาในสังคมเคร่งศาสนาและไม่ยอมรับเกย์ จึงได้ใส่หัวใจลงไปในการนำเสนอเรื่องราวนี้ ภาพยนตร์ Milk ทำให้ Sean Penn คว้าออสการ์นำชายยอดเยี่ยมเป็นตัวที่ 2 หนังเล่าเรื่องราวของ Harvey Milk ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่เขามาเป็นนักการเมืองจวบจนวาระสุดท้ายที่ถูก Dan White ฆ่า โดยไม่รู้ว่า ฆ่าเพราะเรื่องการเมืองหรือเพราะอิจฉาที่ไม่สามารถแสดงออกถึงความเป็นเกย์ได้อย่าง Milk

Milk (2008)

  • นักแสดง: Sean Penn, Josh Brolin, James Franco, Emile Hirsch, Diego Luna
  • ผู้กำกับ: Gus Van Sant (Good Will Hunting, To Die For, Restless, Psycho)
  • ทุนสร้าง / รายรับรวมทั่วโลก: 20 / 54 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score / iMDB Rating: 93% / 7.5/10
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: ชนะ 2 สาขารางวัลออสการ์ (นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Sean Penn) และบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยาม) และเข้าชิงอีก 6 สาขารางวัล (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (Josh Brolin), ผู้กำกับยอดเยี่ยม, ลำดับภาพยอดเยี่ยม, ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม,เพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม)

รักแห่งสยาม (2007)

หนังที่ขอมอบตำแหน่งที่สุดของการตีหัวเข้าบ้านให้อีกหนึ่งตำแหน่ง เพราะในทีแรกที่ปล่อยโปสเตอร์หรือตัวอย่างหนังออกมานั้น รักแห่งสยาม (แสควร์ แหล่งรวมวัยรุ่น) พะยี่ห้อความเป็นหนังวัยรุ่นเต็มรูปแบบตามยุคสมัย แต่พอคนดูได้ดูไปถึงฉากจูบของสองหนุ่มตัวละครหลัก (ที่เสียงคนดูในโรงครางฮือแทบทุกรอบ) ที่กระแสหนังวาย ซีรีส์วายยังไม่เป็นที่นิยมเหมือนทุกวันนี้ ก็ทำให้เกิดกระแสตีกลับว่าหนังต้มคนดู จนทำให้แก่นสารถึงความเป็นหนังครอบครัวที่ดีที่สุดจากการแสดงของนักแสดงมากฝีมือของประเทศ

สินจัย เปล่งพานิช, พลอย-เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ และกบ- ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี ถ่ายทอดภาพของครอบครัวจิตใจแตกสลายเพราะสูญเสียลูกสาวคนโตไปถูกมองข้ามไป (จนคนมาตามชื่นชมประเด็นนี้กันในภายหลัง) พูดได้ว่ารักแห่งสยามเป็นหนังไทยที่มาก่อนกาล ที่ตีแผ่ภาพความรักของวัยรุ่นชายสองคนอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็เป็นหัวหอกจุดเริ่มต้นของการยอมรับที่จะชมหนังแนวนี้ของผู้ชมทั่วไป มะเดี่ยว ผู้กำกับก็ยังมีผลงาน Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ (2012) และดิว ไปด้วยกันนะ (2019) ที่เล่นประเด็นเดิมนี้เช่นกัน

กันและกัน (Live) - Ost.รักแห่งสยาม THE LOVE OF SIAM - YouTube

  • นักแสดง: สินจัย เปล่งพานิช, เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์, ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี, มาริโอ้ เมาเร่อ, วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล
  • ผู้กำกับ: ชูเกียรติ์ ศักดิ์วีระกุล (คน ผี ปีศาจ, Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ, ดิว ไปด้วยกันนะ)
  • รายได้: 42 ล้านบาท

BROKEBACK MOUNTAIN (2005)

ฉากจบอันแสนสะเทือนใจและเต็มเปี่ยมไปด้วยความหมายอันลึกซึ้งของเสื้อเชิ้ตสองตัวที่ซ้อนทับกันในตู้เสื้อผ้า ยังคงตราตรึงใจผู้ชมมากมาย นี่คือหนังที่แสดงภาพความสัมพันธ์ของชายรักชายสองคนที่แจ่มแจ้งและชัดเจนที่สุดเท่าที่เคยมีมาของฮอลลีวูด พิจารณาจากการได้นักแสดงชายแท้ชื่อดังมาสวมบทคู่รักที่มีฉากความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้ง ได้ผู้กำกับมือรางวัลมาพาหนังเข้าชิงออสการ์และกลายเป็นตัวเต็ง แต่สุดท้ายหนังก็เหมือนจะถูกปล้นชัยชนะไปให้กับ Crash (2004) จนมีผู้วิเคราะห์ไว้ว่า กรรมการออสการ์ยังทำใจรับหนังคนผิวดำได้มากกว่าหนังเกย์ในตอนนั้น

หนังเล่าเรื่องราวของคาวบอยหนุ่มสองคนที่ต้องไปต้อนสัตว์ด้วยกันบนหุบเขาเร้นรักจนเกิดมีความสัมพันธ์กันขึ้นและเป็นอย่างนั้นยาวนานมาตลอด 20 ปี ก่อนที่ฝ่ายหนึ่งจะจากไปโดยเหตุโศกนาฏกรรม หนังสะท้อนสภาพสังคมของผู้ชายเป็นใหญ่ และการไม่ยอมรับในกลุ่มรักร่วมเพศ ที่ทำให้ต้องมีผู้รับเคราะห์บาดเจ็บในความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน Ennis Del Mar ถูกพ่อทารุณตั้งแต่เด็กและสอนให้เป็นผู้ชายแท้ ทำให้เขาสับสนในการยอมรับตัวเอง นั่นทำให้เขามีชีวิตสองด้าน ด้านหนึ่งมีครอบครัวและลูกกับ Alma พอเข้าหน้าร้อนเขาก็ไปใช้เวลากับ Jack Twist บนเขา ซึ่งรายหลังก็มีครอบครัวกับ Lureen Newsome ลูกสาวของครอบครัวเศรษฐี ที่พ่อตาไม่ชอบขี้หน้าลูกเขยเอาเสียเลย

Heath Ledger and Jake Gyllenhaal in Brokeback Mountain (2005)Brokeback Mountain (2005)

  • นักแสดง: Heath Ledger, Jake Gyllenhaal, Michelle Williams, Anne Hathaway
  • ผู้กำกับ: Ang Lee (Life of Pi, Lust, Caution, Sense and Sensibility, Crouching Tiger, Hidden Dragon)
  • ทุนสร้าง / รายรับรวมทั่วโลก: 14 / 178 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score / iMDB Rating: 87% / 7.7/10
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: ชนะ 3 สาขารางวัลออสการ์ (ผู้กำกับยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, เพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม) และเข้าชิงอีก 5 สาขารางวัล (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Heath Ledger), นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (Jake Gyllenhaal), นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (Michelle Williams) และถ่ายภาพยอดเยี่ยม)

KINSEY (2004)

 

ในช่วงปี 1948 ได้เริ่มแนวคิดที่ต่อต้านแนวคิดเดิมที่ว่า “รักร่วมเพศเป็นอาการป่วย” โดย Alfred Kinsey นักวิจัยของมหาวิทยาลัยอินเดียนา ตระเวนสัมภาษณ์ชายหญิงผิวขาวมากกว่า 10,000 คน เกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศและตีพิมพ์ Sexual Behavior in the Human Male ในปี 1948 และอีกฉบับ in the Human Female ในปี 1953 ผลปรากฎว่า หนังสือได้รับความนิยมจนนิตยสาร Time บอกว่า นับตั้งแต่นิยาย Gone with the Wind ก็ยังไม่เคยเจอปรากฎการณ์ความนิยมระดับนี้ ผลลัพธ์ที่ Kinsey ค้นพบได้ทำลายหลักฐานความเชื่อพื้นฐานหลายอย่างเกี่ยวกับเรื่องเพศอย่างสิ้นเชิง เช่น 37% ของผู้ชายเคยมีประสบการณ์รักร่วมเพศตั้งแต่วัยรุ่น หรือ 50% ของผู้ชายที่โสดจนอายุ 35 เคยมีประสบการณ์รักร่วมเพศ

หนังเล่าเรื่องราวของ Dr. Alfred Kinsey ตั้งแต่สมัยยังเป็นศาสตราจารย์ด้านสัตวศาสตร์ ก่อนจะโด่งดังจากการศึกษาพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์ หนังเล่าถึงแง่มุมไบเซ็กชวลของ Kinsey เมื่อเขาเลือกจะสำรวจความหลากหลายทางเพศกับนักศึกษาหนุ่มหล่อ Clyde Martin พร้อมกับโน้มน้าวให้ภรรยาของเขา Clara McMillen กระทำแบบเดียวกัน ทั้งสองมีข้อตกลงร่วมกันว่า สามารถไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคนอื่นได้ ขณะเดียวกันก็ต้องไม่เลิกมีความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วย หนังดูจะเป็นการนำเสนองานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้ชักจูงอารมณ์คนดูอย่างมากเกินพอดี และก็ให้รสชาติแปลกใหม่ไปอีกแบบขณะชม

Kinsey (2004)

  • นักแสดง: Liam Neeson, Laura Linney, Chris O’Donnell, Peter Sarsgaard, John Lithgow
  • ผู้กำกับ: Bill Condon (The Twilight Saga: Breaking Dawn – Part 1&2, Beauty and the Beast, Dremgirls)
  • ทุนสร้าง / รายรับรวมทั่วโลก: 11 / 17 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score / iMDB Rating: 90% / 7/10
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: เข้าชิง 1 สาขารางวัลออสการ์ (นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (Laura Linney)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook