Netflix ชวนคนดังนั่งคุยส่งท้าย Pride Month กับประเด็นความหลากหลายทางเพศ
แม้ว่าเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ (Pride Month) กำลังใกล้จะจบลง แต่ประเด็นของความเท่าเทียมทางเพศ ยังคงต้องมีการสานต่อและผลักดันต่อไป เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ และการยอมรับจากทุกหน่วยในสังคม Netflix จึงได้ชวนอินฟลูเอนเซอร์ในวงการบันเทิง 6 คน 6 สไตล์ ได้แก่ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล, ณัฐ ศักดาทร, นิ้ง-ชัญญา แม็คคลอรี่ย์, ปันปัน นาคประเสริฐ, ลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์ และ ต้น-ธนษิต จตุรภุช มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และมุมมองเกี่ยวกับ LGBTQ+ อีกทั้งเพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจกับภาพยนตร์ไทย นักแสดง และเหล่าบุคคลสำคัญที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย
ถ้าพูดถึงซีรีส์หรือภาพยนตร์ LGBTQ+ ในประเทศไทยที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดี คือ ซีรีส์วายและหนังวาย โดยภาพยนตร์ที่บุกเบิกความเป็นวายและคงยังตราตรึงใจใครหลายคนอยู่จนถึงปัจจุบัน คือ “รักแห่งสยาม” ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญในยุคหนึ่งของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย
มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ รักแห่งสยาม เล่าถึงแรงบันดาลใจในการกำกับภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกๆ ที่สะท้อนตัวละครกลุ่ม LGBTQ+ ในแง่บวกว่า “เราเขียนเรื่องนี้ตั้งแต่เรียนอยู่มหาลัย ตอนเย็นก็ไปแฮงเอาท์แถวๆ สยาม ชอบดูผู้คนที่ผ่านไปมา สังเกตความสัมพันธ์หลายรูปแบบที่ผ่านสายตาไป แล้วก็พบว่า แท้จริงเราอยู่ในโลกที่มีความหลากหลายนะ แค่มันไม่ได้ถูกเอามาเล่าออกสื่อเท่านั้นเอง ก็เลยค่อยๆ เขียนสิ่งที่เราเห็น ผนวกประสบการณ์ทั้งของตัวเองและของคนรู้จัก ประกอบมาเป็นบทหนังเรื่องนี้ สิ่งที่เราต้องการจะสื่อถึงคนที่ดูรักแห่งสยาม ณ ตอนนั้น คือ ความรักเป็นสิ่งสวยงาม จะเกิดกับใคร เกิดตอนไหน มันก็สวยงาม มันเป็นพลังของชีวิต”
ด้านนักแสดงที่ต้องมารับบทบาทในภาพยนตร์ LGBTQ+ อย่าง ณัฐ ศักดาทร กับบทของ “ยุกต์” ในเรื่อง “FATHERS” เล่าถึงความคาดหวังในฐานะนักแสดงที่มารับบท LGBTQ+ ว่า “ผมอยากให้ผู้ชมได้เห็นความเป็นมนุษย์ในตัวละคร เพราะเมื่อคุณเริ่มมองใครบางคนในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง โดยเลิกหมกมุ่นเรื่องความแตกต่างของเขา คุณจะเริ่มฟังพวกเขามากขึ้น เห็นอกเห็นใจพวกเขามากขึ้น และเข้าใจพวกเขามากขึ้น ผมต้องการให้ผู้ชมตระหนักว่า ไม่ว่าเราจะมีอัตลักษณ์ทางเพศ หรือรสนิยมความชอบอย่างไร เราทุกคนต่างก็มีความเหมือนกันในหลายๆ ทาง สิ่งหนึ่งที่เราทุกคนต้องการ คือการมีครอบครัวที่ดีและอบอุ่นปลอดภัย หรือยิ่งไปกว่านั้น มันคงจะดีถ้าภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถช่วยจุดกระแส สร้างการถกเถียงในสังคม เกี่ยวกับความท้าทายทางกฎหมายและสังคมในปัจจุบัน ที่มีต่อคู่รักเพศเดียวกันที่มุ่งหวังจะสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ในประเทศไทย”
ทางฝั่งนักแสดงสาวมากความสามารถ นิ้ง-ชัญญา แม็คคลอรี่ย์ ที่หลายคนอาจคุ้นหน้าของเธอจากซีรีส์เรื่อง “เคว้ง” ทาง Netflix ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับ อิทธิพลของสื่อบันเทิงต่างๆ รวมถึงภาพยนตร์ ซีรีส์ ที่มีส่วนช่วยให้ผู้คนเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายในสังคม ได้อย่างน่าสนใจ
“เมื่อเราได้ดูภาพยนตร์หรือซีรีส์ต่างๆ เราจะเริ่มรู้สึกว่าโลกนี้มันยังมีอีกหลายเรื่อง หลายด้าน และยังมีมนุษย์อีกหลายแบบ ที่เราไม่เคยได้รู้ ได้เห็น หรือได้พบเจอมาก่อน เป็นสิ่งที่ดีมากที่ภาพยนตร์หรือซีรีส์ในยุคปัจจุบันนี้ เริ่มเปิดโอกาสให้ชาว LGBTQ+ เข้ามาร่วมมีบทบาทมากขึ้น ยิ่งบางเรื่องที่มีเนื้อหาที่สื่อออกมาให้เห็นว่า สิ่งที่คุณเป็น มันไม่ผิดอะไรเลย การที่คุณรู้สึกสับสนก็เป็นเรื่องปกติที่มันเกิดขึ้นกับหลายคน คุณไม่ได้แปลกแยก คุณแค่แตกต่าง และการแตกต่างไม่ใช่เรื่องที่ผิด แน่นอนว่าแรกๆ มันอาจจะเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับหลายคน แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ในโลกของอนาคตข้างหน้า เมื่อเราเปิดโอกาสให้พวกเขามากยิ่งขึ้น และผู้คนได้เห็นบ่อยๆ วันนึงมันก็จะกลายเป็นเรื่องปกติ ถึงตอนนั้นเราทุกคนจะเข้าใจและยอมรับมันไปเอง” ชัญญา อธิบาย
คณาธิป สุนทรรักษ์ หรือ ครูลูกกอล์ฟ ครูภาษาอังกฤษสุดเปรี้ยว ที่ผ่านการต่อสู้ในประเด็นทางเพศมาไม่น้อย กล่าวเสริมว่า “เห็นด้วยมากกกกก (ลากเสียงยาว) ซีรีส์หรือหนัง ช่วยให้ผู้คนเข้าใจความแตกต่างหลากหลายมากขึ้นจริงๆ ไม่ใช่แค่เรื่องความแตกต่างของ LGBTQ+ แต่เป็นความแตกต่างของทุกเพศทุกวัย ขอยกตัวอย่างเรื่อง “Sex Education” ก็แล้วกัน ถ้าพ่อแม่ได้มาดูซีรีส์เรื่องนี้กับลูก เขาจะมีความเข้าใจในตัวลูกและสังคมของลูกมากขึ้น เรื่องนี้มีประเด็นเยอะมาก และไม่ใช่แค่ประเด็นของ LGBTQ+ แต่มีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง การเติบโต การเรียนรู้ การอยู่ร่วมกัน สำหรับวัยรุ่นเอง ถ้าได้ดูเรื่องนี้ น่าจะได้อะไรเยอะมาก ตัวเอกคือ Otis ซึ่งเป็นเด็กผู้ชาย มีเพื่อนสนิทอย่าง Eric ซึ่ง Eric เป็นเด็กที่เป็นตัวของตัวเองสูงมาก มั่นใจ จัดจ้าน เด็กทั้ง 2 คน มีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว แต่ Otis ก็ดูแล Eric เป็นอย่างดี ไม่ bully ปฏิบัติต่อกันอย่างให้เกียรติ อย่างเพื่อนมนุษย์ เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีมากจริงๆ”
เมื่อถามเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ถึงซีรีส์เกี่ยวกับ LGBTQIA+ เรื่องโปรด “Sense8” ได้รับคะแนนโหวตมาเป็นอันดับแรก ทั้ง ณัฐ ศักดาทร, คณาธิป สุนทรรักษ์ และ ปันปัน นาคประเสริฐ ที่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ซีรีส์เรื่องนี้มีความโดดเด่นทั้งในประเด็นความหลากหลายและงานโปรดักชั่นที่ตื่นตา
“ซีรีส์เรื่องนี้โชว์ความเป็น LGBT ในหลายๆ มุมมอง อีกทั้งยังครบเครื่องทั้งเรื่องความรัก ฉากแอคชั่น บทที่เชื่อมโยงทุกคนเข้าหากันด้วยความเป็นมนุษย์ อีกทั้งปฏิวัติการถ่ายทำแบบที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน โลเคชั่นและฉากที่มีความไอคอนนิค สรุปคือโชว์หลายๆ ด้านของ LGBT ได้อย่างลึกซึ้งและสวยงามครับ และปันชอบคาแรกเตอร์ Nomi ในซีรีส์เรื่องนี้มาก ปันรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวละครนี้ เหมือนเห็นภาพของตัวเองในตัว Nomi รู้สึกเติบโตไปพร้อมกับเขา เห็นการเปลี่ยนแปลง เห็นสิ่งที่เขาต้องเจอ ตัว Nomi ไม่ได้เพอร์เฟกต์ มีหลายครั้งที่เขาต้องสู้ และเฟล แต่เขาก็หาสิ่งที่เขาเก่งเจอ และใช้จุดนั้นในการเอาชีวิตรอด ปันชอบใจสู้ของตัวละครนี้มาก” ปันปัน นาคประเสริฐ เจ้าแม่แห่งวงการ Drag Queen ของไทย กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีซีรีส์อีก 2 เรื่องที่เป็นหนึ่งในใจของอีกหลายคน ได้แก่ “Sex Education เพศศึกษา (หลักสูตรเร่งรัก)” ซีรีส์แนวดราม่าคอมเมดี้จากฝั่งอังกฤษที่เรียกเสียงฮือฮาได้ตั้งแต่ซีซั่นแรก ด้วยเนื้อหาที่สะท้อนปัญหาของวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ถูกต้อง การเหยียดเพศ การบูลลี่ ความรัก และอีกสารพัดปัญหาที่สังคมกำลังเผชิญ และ “Elite เล่ห์ร้ายเกมไฮโซ” ซีรีส์วัยรุ่นสุดเผ็ดร้อนจากฝั่งสเปน ที่ครบรส และหยิบยกความเหลื่อมล้ำในสังคมมาตีแผ่ได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดชนชั้น ฐานะ การแบ่งแยกเชื้อชาติ ประเด็นศาสนา ยาเสพติด และ LGBT
ด้าน ต้น-ธนษิต จตุรภุช นักร้องอาร์แอนด์บีดีกรีแชมป์ เล่าถึงซีรีส์แนว LQBTQ+ เรื่องโปรดว่า “เรื่องที่ผมชอบมีเยอะมากจริงๆ แต่ถ้าต้องเลือกก็จะขอเลือกเรื่อง “POSE วาดท่าท้าฝัน” เป็นซีรีส์เล่าเรื่องราวชีวิตของกลุ่ม LGBT แอฟริกัน-อเมริกัน และละติน ที่อาศัยอยู่ในนิวยอร์กในช่วงยุค 80 ซึ่งในยุคนั้น LGBT ยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ยุคที่เอชไอวีแพร่ระบาด และผู้คนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคนี้ เราได้เห็นการต่อสู้เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ การดำเนินชีวิต ความสัมพันธ์ ความรัก ผมว่ามันดราม่ามากเลยทีเดียว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นเหมือนชีวิตจริงของหลายๆ คน เราได้เห็นคนที่สังคมไม่ยอมรับ มาอยู่รวมตัวกันเป็นบ้าน เป็นสังคม เห็นวัฒนธรรมการจัดงานบอลของเค้า ซึ่งจัดเต็มมากในเรื่องของเพลง แฟชั่น การแต่งหน้า การเต้น การโชว์ต่างๆ และเนื้อเรื่องมันเป็นกึ่งๆ มิวสิคัลด้วย เลยชอบเรื่องนี้มากๆ”
นอกจากซีรีส์และภาพยนตร์จะช่วยสื่อสารความเข้าใจในประเด็น LQBTQ+ แล้ว เรายังสามารถค้นพบตัวละครในซีรีส์หรือภาพยนตร์นั้นๆ ที่เรารู้สึกว่าสะท้อนภาพของเราออกมา เพื่อให้เราเรียนรู้ เพื่อเป็นกำลังใจ หรือบางครั้งก็เป็นแนวทาง เหมือนอย่างที่ ชัญญา รู้สึกกับตัวละคร โชอีซอ จากซีรีส์เกาหลี Itaewon Class ธุรกิจปิดเกมแค้น “แม้หน้าตาจะคนละฝั่งแต่นิสัยใกล้เคียงมาก ดื้อ ไม่กลัวใคร ไหวพริบดี เจ้าเล่ห์ มุ่งมั่น อดทน ขยัน เฝ้าถามกับตัวเองถึงความหมายของการมีชีวิต พอได้ติดตามโชอีซอไปเรื่อยๆ ทำให้เรามีกำลังใจ เห็นถึงความพยายาม ความอดทนของเขา ที่ทำให้เราไม่ล้มเลิกความพยายามของเราเช่นกัน”
และที่สำคัญไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มีเพศสภาพแบบไหน เชื้อชาติใด นับถือศาสนาอะไร แม้แต่ฐานะทางสังคมเป็นอย่างไร ขอให้ภูมิใจในการเป็นตัวเอง และ #เป็นอย่างที่คุณเป็น “คุณควรเป็นอย่างที่ตัวเองเป็น แม้สังคมจะกดดัน ตีกรอบ หรือตัดสิน แต่ขอให้คุณซื่อสัตย์กับตัวเอง ว่าคุณเป็นแบบนี้แล้วโอเคแล้วแฮปปี้ที่สุด และการที่คุณเป็นตัวเอง ถ้ามันไม่ได้ทำร้ายใคร ก็เป็นในแบบของตัวเองต่อไป แต่ขอให้เลือกเดินในทางที่ดี บางครั้งเราอาจจะอึดอัดเหมือนหายใจไม่ออก กับการตีกรอบของสังคม แต่พี่ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน” ครูลูกกอล์ฟ กล่าว และ นิ้ง ชัญญา เพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า “เป็นเรื่องที่ดีแน่นอนหากเราไม่โดนสังคมตีกรอบและตัดสิน แต่เรื่องนี้เป็นไปได้ยาก เพราะเราควบคุมไม่ได้ แม้แต่ตัวเราเองที่มักจะเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า อย่าตัดสินคนอื่น หยุด! เสี้ยววินาทีนึงของเราก็มักจะตัดสินเค้าไปเรียบร้อยแล้ว เรื่องสังคมคิดยังไงกับเรานั้น ก็เลยดูเหมือนว่าจะไม่ใช่เรื่องที่สำคัญเท่าไหร่นัก แต่เรื่องที่สำคัญมากคือ คุณมีแค่ชีวิตเดียว คุณควรจะได้ #เป็นอย่างที่คุณเป็น อย่างภาคภูมิใจและมีความสุขกับมันที่สุดจนกว่าคุณจะหมดลมหายใจไป สุดท้ายแล้วไม่ว่ายังไง ผู้คนก็จะตัดสินคุณอยู่ดี หากยังไงคุณก็ต้องเจ็บปวด เจ็บแต่เป็นตัวเองไม่ดีกว่าหรือ”
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าสื่อบันเทิงมีอิทธิพลต่อการรับรู้และสร้างความเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายในสังคม และยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจ รวมถึงเปลี่ยนมุมมองของคนที่มีต่อกลุ่ม LGBTQ+ ได้อย่างเป็นรูปธรรม
“เราประทับใจกับคนที่ส่งข้อความมาบอกว่า หนังเรื่อง “รักแห่งสยาม” นี้เปลี่ยนความสัมพันธ์ของเขากับครอบครัวไปในทางที่ดีขึ้น บางคนที่กลัวการเปิดตัวแล้วที่บ้านไม่ยอมรับ เขียนมาบอกว่าหนังเรื่องนี้ทำให้ที่บ้านเข้าใจกันมากขึ้น หรือบ้านที่เกือบจะร้าวฉานกัน กลับกลายเป็นดีต่อกันเมื่อจูงมือกันไปดูหนังเรื่องนี้ นั่นเป็นครั้งแรกที่รู้สึกถึงพลังของภาพยนตร์ที่เราสร้าง มันไม่ได้ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน แต่ทำให้มุมหนึ่งของโลกมีความเคลื่อนไหวที่ช้าๆ แต่มั่นคง” มะเดี่ยว กล่าวทิ้งท้าย
Netflix เชื่อว่าสื่อบันเทิง เป็นช่องทางสำคัญที่ช่วยสร้างความเข้าใจ การยอมรับ และส่งเสริมการแสดงออกทางความสามารถให้กับคนทุกกลุ่มในสังคม และเลือกรับชมภาพยนตร์ ซีรีส์ และสารคดี เกี่ยวกับ LGBTQIA+ ที่น่าสนใจดังกล่าวได้บน Netflix
อัลบั้มภาพ 6 ภาพ