Da 5 Bloods: เลือดข้นคนสไปค์ ลี โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
หนังใหญ่ที่ลง Netflix เดือนนี้ และเป็นหนังที่โยงใยเข้ากับสถานการณ์คุกรุ่นทางการเมืองและปัญหาเหยียดสีผิวในอเมริกา คือเรื่อง Da 5 Bloods หนังว่าด้วยผลพวงของสงครามเวียดนามต่ออดีตทหาร G.I. ผิวสีสี่คน นอกจากการที่หนังออกฉายในช่วงพีคของการประท้วงต่อต้านการใช้ความรุนแรงของตำรวจ สืบเนื่องจากกรณี “เข่ากดขอ” ที่นำไปสู่การเสียชีวิตของชายผิวดำชื่อ จอร์จ ฟลอยด์ อีกประเด็นที่ทำให้หนังน่าสนใจสำหรับคนดูท้องถิ่นอย่างพวกเรา คือการที่หนังถ่ายทำในไทย โดยเฉพาะในป่าทางภาคเหนือแถบเชียงใหม่ เชียงราย แทบทั้งเรื่อง โดยใช้โลเคชั่นแหล่านี้แทนการไปถ่ายจริงๆ ที่เวียดนาม (ในอดีต หนังเกี่ยวกับสงครามเวียดนามมากมายก็ใช้เมืองไทยเป็นตัวแทนเวียดนาม)
สไปค์ ลี เป็นหนึ่งในผู้กำกับอเมริกันคนสำคัญของยุคสมัย และเป็นผู้กำกับผิวดำที่ใช้ภาพยนตร์เพื่อส่งเสียงและสร้างปรากฏการณ์ Black culture หรือวัฒนธรรมของคนผิวดำ มาตั้งแต่ยุค 1990 โดยใช้ทั้งลีลายียวนแบบหนังตลก ความจริงจังแบบหนังดราม่า การผลักให้วัฒนธรรมคนดำเป็นป๊อปคัลเจอร์ และองศาทางการเมืองที่ดุเดือด ไม่สงวนท่าที ไม่ไว้หน้าในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอเมริกันที่มีคนขาวเป็นใหญ่ และระบบระเบียบทางสังคมที่ไม่เป็นธรรม
Photo by Ian Gavan/Getty Images for Jaeger-LeCoultre
Da 5 Bloods มีสิ่งที่ว่ามาข้างต้นทั้งหมด บางทีอาจจะมีเยอะเกินไปจนหนังมีความกระจัดกระจาย และขาดความเข้มข้นไปพอสมควร ด้วยความยาวสองชั่วโมงครึ่ง เนื้อเรื่องว่าด้วยการเดินทางกลับมายังเวียดนามของอดีตทหารอเมริกันผิวดำ 4 คน ที่เคยร่วมรบจนแทบเอาชีวิตไม่รอดในสงครามเวียดนาม ในครั้งนี้ทั้งสี่เข้าสู่วัยเริ่มชรา แต่ขอรวมแก๊งออกผจญภัยครั้งสุดท้ายเพื่อค้นหาศพของอดีตหัวหน้าหน่วยที่เคยรบเคียงบ่าเคียงไหล่ และเพื่อตามหาทองคำที่กองทัพอเมริกันเคยซ่อนไว้ในป่าและสูญหายไป นัยนึงการเดินทางครั้งนี้เป็นการรำลึกอดีตครั้งหลัง เป็นการเผชิญหน้ากับปีศาจที่เคยสิงสู่จิตใจ และเป็นการไถ่ถอนบาปที่ยังค้างคาในใจของทุกคน ตั้งแต่การตายของหัวหน้า (แสดงได้เด่นมากโดย แชดวิค บอสแมน จาก Black Panther) หรือการกลับไปหาอดีตแฟนสาวชาวเวียดนาม และที่สำคัญ – และที่ สไปค์ ลี พยายามจะเสนอให้เห็น – คือทัศนคติและความกระอักกระอ่วนของทหารผิวดำ ที่ต้องถูกเกณฑ์ไปรบกับพวกเวียดกงในสงครามอันโหดร้ายในป่าเขตร้อนห่างไกล เพื่อปกป้องเสรีภาพแบบอเมริกัน ทั้งๆ ที่คนผิวดำในอเมริกาเองกลับไม่มีเสรีภาพ และไม่ได้รับความยุติธรรมอย่างที่รัฐบาลอเมริกาป่าวประกาศว่าจะสร้างให้คนทั้งโลกในยุคสงครามเย็น
ในบรรดาเพื่อน 4 คน คนที่มีบทเด่นที่สุดคือ พอล (เดลรอย ลินโด) คนผิวดำที่เป็นแฟนคลับ โดนัลด์ ทรัมป์ และเป็นผู้ที่เห็นว่าการมาขุดทองครั้งนี้เป็นการ “เอาคืน” จากกองทัพอเมริกันที่ไม่เคยเหลียวแลพี่น้องคนดำ ร่วมเดินทางไปกับเพื่อนแก๊งนี้อีกคนคือลูกชายของพอล ที่แอบตามพ่อมาเพราะเป็นห่วง จนกลายเป็นสมาชิกคนสุดท้ายในการผจญภัยครั้งนี้
Da 5 Bloods มีความเปิดหน้าชนแบบ สไปค์ ลี คือนอกจากจะเล่าเรื่องอย่างที่ว่ามา หนังยังเต็มไปด้วยการสอดแทรกประวัติศาสตร์ทางสังคมของอเมริกาที่เกี่ยวข้องกับคนผิวดำ เพื่อโยงให้เห็นว่าสงครามเวียดนาม เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของคนผิวสีในอเมริกา โดยลีไม่สนว่าการแทรกข้อมูลเหล่านี้เข้ามา จะมาขัดจังหวะการเล่าเรื่องหรือทำให้สไตล์ของหนังกระโดกกระเดก ประมาณว่าเชื่อมือว่าเอาอยู่ คนที่ดูหนัง สไปค์ ลี มาบ้างจะเห็นว่า แกไม่แคร์ว่าหนังจะโฉ่งฉ่างหรือไม่แนบเนียน ไม่ต้องห่วงเรื่องตีความหรือซ่อนนัยยะ เพราะสิ่งที่ผู้กำกับต้องการพูดและแสดงออก ต้องชัดเจนและมีความสำคัญเหนือองค์ประกอบอย่างอื่น
ผู้เขียนคิดว่าครั้งนี้ ลี อาจจะหนักมือไปหน่อย จนหนังเสียสมดุลไประหว่างทาง การผสมทั้งหนังผจญภัย หนังสไตล์เพื่อนแท้ หนังเสียดสีสังคมและประวัติศาสตร์ คลุกเคล้ากันอย่างมันมือ ทำให้หนังสนุกบ้างและอ่อนแรงบ้าง อารมณ์ที่กระโดดไปมาทำให้เราไม่อยู่กับหนังตลอด และที่สำคัญในฐานะคนไทย เราดูหนังแล้วเห็น “ฉาก” จนหนังเสียความน่าเชื่อไป กล่าวคือ ป่าในหนังเรื่องนี้ดูไม่น่ากลัว ไม่หลอกหลอนเหมือนป่าในหนังสงครามเวียดนามอื่นๆ พูดง่ายๆ คือเราดันดูออกว่านี่มันเชียงใหม่ เชียงราย มากกว่าจะเป็นป่าของพวกเวียดกง
แต่สุดท้ายยังไงๆ ก็ต้องให้เครดิต เพราะในฐานะหนังที่จับชีพจรของสังคมและประวัติศาสตร์ร่วมสมัย Da 5 Bloods ก็มีพลังในแบบของมัน การลากเส้นระหว่างความยุ่งเหยิงของสงครามเวียดนาม กับความวุ่นวายในอเมริกาในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้หนังมีความสด ประเด็นการเมืองเรื่องเลือดข้นคนผิวดำและเชื้อชาติ เป็นสิ่งที่ สไปค์ ลี ทำได้อย่างจะแจ้งและเข้าเป้าเสมอ ถึงจะยาวไปสักหน่อย แต่หนังแสดงให้เห็นว่า บาดแผลของสงครามช่างฝังลึกและอักเสบเข้ากระดูก ไม่ว่าจะเป็นสงครามร้อนบนท้องถนนของเมืองที่เต็มไปด้วยคนโกรธแค้น หรือสงครามเย็นที่ยังไม่อุ่นลงหลังจากผ่านไปหลายสิบปี
เกี่ยวกับผู้เขียน
ก้อง ฤทธิ์ดี
นักเขียน/นักวิจารณ์ภาพยนตร์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมากว่า 25 ปี
อัลบั้มภาพ 10 ภาพ