จดจำความอลังการของโรงหนังเก่าจากหนังสือคุณภาพสองเล่ม โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

จดจำความอลังการของโรงหนังเก่าจากหนังสือคุณภาพสองเล่ม โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

จดจำความอลังการของโรงหนังเก่าจากหนังสือคุณภาพสองเล่ม โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การที่โรงภาพยนตร์สกาลา กำลังจะปิดตัวลงหลังวันที่ 5 กรกฎาคมนี้ ก่อให้เกิดกระแสโหยหาความยิ่งใหญ่และเสน่ห์ขลังของโรงภาพยนตร์ stand-alone ที่กำลังจะหมดไปจากกรุงเทพฯ พร้อมกับการจากไปของสกาลา ในโอกาสนี้ขอแนะนำหนังสือภาพสองเล่ม ที่บันทึกภาพและเรื่องราวของโรงภาพยนตร์ stand-alone ในเมืองไทยไว้

Thailand’s Movie Theatres: Relics, Ruins, and the Romance of Escape

หนังสือตั้งโต๊ะเล่มหนาของฝรั่งอเมริกันผู้หลงใหลในโรงภาพยนตร์เล่มนี้ หนักไปที่รูปภาพ เสริมด้วยข้อมูลอันแน่นหนาเช่นเดียวกัน ฟิลิป จาบลอน เป็นนักค้นคว้าที่เดินทางถ่ายภาพและเก็บข้อมูลโรงภาพยนตร์แบบ stand-alone ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาหลายปี โดยได้รับการสนับสนุนจากทั้งหอภาพยนตร์และหน่วยงานเอกชน และท้ายที่สุดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกมากับสำนักพิมพ์ River Books ของ ม.ร.ว. นริศรา จักรพงษ์ เมื่อปีที่แล้ว

Thailand’s Movie Theatres: Relics, Ruins an the Romance of Escape เป็นการรวบรวมภาพและข้อมูลโรงหนังแบบ “ตั้งเดี่ยว” ทั่วประเทศไทยไว้แทบจะครบถ้วน จาบลอนเดินทางไปทั่วเมืองไทยเพื่อเสาะหา พูดคุย และถ่ายภาพโรงภาพยนตร์เก่าที่ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพทรุดโทรม บ้างทิ้งร้าง บ้างก็กำลังถูกเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น (ที่นิยมมากคือที่จอดรถ เพราะโรงหนังมีโครงสร้างหลังคาสูงอยู่แล้ว) หนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นถึงเสน่ห์ของงานสถาปัตยกรรมยุคกลางศตวรรษที่ 20 ผนวกกับบรรยากาศความเหงาและเศร้าสร้อยของความรุ่งเรืองของโรงหนังเหล่านี้ที่ผ่านพ้นไปแล้ว

โรงหนังสกาลาเป็นหนึ่งในพระเอกของหนังสือเล่มนี้ มีภาพจากโรงหลายภาพ โดยเฉพาะบันไดและลอบบี้ ที่สง่างามเป็นเอกลักษณ์ รวมทั้งประวัติอย่างละเอียดของโรง

Thailand’s Movie Theatres: Relics, Ruins, and the Romance of Escape หาซื้อได้ตามร้านหนังสือ หรือที่ River Books ถนนมหาราษฎร์

 

สวรรค์ 35 มม. (Once Upon a Celluloid Planet)

หนังสือจากทีม Filmvirus กลุ่มคนบ้าหนังที่มีผลงานมาต่อเนื่องและส่งเสียงให้มีการอนุรักษ์โรงหนัง stand-alone มายาวนาน “สวรรค์ 35 มม.” เป็นการรวบรวมภาพถ่ายของโรงหนังเก่ากว่าสิบแห่ง รวมทั้งสกาลาด้วย เป็นทั้งภาพเก่าโบราณ และภาพในยุคร่วมสมัยของสถานที่เหล่านั้น อีกทั้งยังมีบทความโดยนักเขียนคนดังมากมายประกอบ เช่น สุชาติ สวัสดิ์ศรี, แดนอรัญ แสงทอง, ปราบดา หยุ่น, อุทิศ เหมะมูล, มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ รวมทั้งผู้กำกับหนัง อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล บทความมีทั้งภาษาไทยและอังกฤษ

บรรณาธิการและหัวหอกในการจัดทำหนังสือ “สวรรค์ 35 มม.” คือ สนธยา ทรัพย์เย็น ร่วมด้วย โมรีมาตย์ ระเด่นอาหมัด จากกลุ่ม Filmvirus รวมทั้งทั้งคู่ยังเป็นคนถ่ายภาพในหนังสืออีกด้วย

เนื้อหาและบรรยากาศของหนังสือเล่มนี้ เป็นการหวนระลึกถึงโลกภาพยนตร์ในยุคที่ภาพยนตร์ยังเป็นฟิล์ม 35 มม. และโรงภาพยนตร์ยังเป็นวิหารแห่งแสงและเงาที่พาผู้ชมไปสู่โลกมหัศจรรย์ ก่อนหน้าที่ “หนัง” จะกลายเป็นฮาร์ดดิสค์ และโรงหนังจะกลายเป็นส่วนประกอบหนึ่งของห้างสรรพสินค้าเท่านั้น หนังสือเล่มนี้ยังให้ความสำคัญกับห้องฉายหนัง และคนฉายหนังด้วยระบบฟิล์ม ซึ่งเป็นความชำนาญที่ล้าสมัยลงเรื่อยๆ เมื่อฟิล์มไม่จำเป็นอีกต่อไป อีกทั้งยังทำให้เห็นว่า ความก้าวหน้าของดิจิทัล ส่งผลเสียหายต่อระบบโรงหนัง การจ้างงานคนฉาย ธุรกิจครอบครัว และสถาปัตยกรรมโรงภาพยนตร์ เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ห้ามไม่ได้ก็จริง แต่ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้มีแต่ผลดีเช่นกัน

หาซื้อ สวรรค์ 35 มม.  (Once Upon a Celluloid Planet) ได้ตามหร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป

 

เกี่ยวกับผู้เขียน
ก้อง ฤทธิ์ดี
นักเขียน/นักวิจารณ์ภาพยนตร์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมากว่า 25 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook