[รีวิว] Trolls World Tour - แอนิเมชันที่สอนเรื่องความหลากหลายให้เด็กได้เนียนที่สุด
แม้ในสหรัฐอเมริกาจะจับ Trolls World Tour ลงจัดจำหน่ายทาง Premium VOD แทนการฉายโรง แต่ในตลาดต่างประเทศ หนังก็ยังได้เข้าโรงฉายตามเดิมซึ่งก็ต้องบอกว่าเป็นโชคดีของเราเลยก็ว่าได้ที่มีโอกาสได้ดูแอนิเมชันสีสันสวยสดพร้อมงานเพลงสุดเฉียบกันในโรงหนัง
โดยTrolls World Tour ภาคนี้ได้เล่าย้อนตำนานของโทรลส์ ว่าด้วยกำเนิดแห่งเสียงดนตรีเมื่อพระเจ้ามอบสายเสียงที่เหมือนสายพิณไว้ให้ 6 สายแทนแนวเพลงแต่ละแนวทั้งคลาสสิก, ร็อก, พอป, เทคโน, คันทรีย์ และ ฟังก์ จนกระทั่งวันหนึ่งก็มีอันทำให้โทรลส์แต่ละเผ่าเอาสายเสียงของแนวเพลงตัวเองไปเก็บไว้ โดยไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นสาเหตุที่ทำให้โทรลส์แต่ละเผ่าพันธุ์ต่างแบ่งแยกแตกความสามัคคีและมุ่งแต่จะรักษาเส้นเสียงและแนวดนตรีของตัวเองให้ดีที่สุด
และนั่นก็เป็นที่มาให้ตัวละครใหม่ในภาคนี้อย่าง บาร์บ (ราเชล บลูม) โทรลส์เผ่าร็อคเดินหน้ารุกรานโทรลส์พันธ์ุอื่น ๆ โดยหวังเอาเพลงแนวร็อคให้เป็นจุดประสานให้โทรลส์กลายเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้ง และที่ผมต้องเขียนถึงบาร์บก่อนจะกล่าวถึงตัวละครพระนางอย่าง พอปปี (แอนนา เคนดริก) และ แบรนช์ (จัสติน ทิมเบอร์เลค) ก็เพราะตัวหนังในภาคนี้เองขับเคลื่อนด้วยตัวร้าย (Antagonist) อย่าง บาร์บ เป็นหลักและมันยังทำให้เห็นว่า พอปปี เองก็เหมือนอีกด้านของบาร์บในแง่ของการเอา ความเป็นหนึ่งเดียวมาเป็นข้ออ้างในการยึดครองคนอื่น ผิดเพียงแค่พอปปีหวังว่าทุกคนจะกลายเป็นเพื่อนกันหากโทรลส์ทุกคนชอบอะไร “เหมือนกัน”
และโดยที่ไม่ต้องอธิบายอะไรมาก Trolls World Tour ก็แทบจะมีสารทางการเมืองชัดเจนเหลือเกินและการที่มันมาในรูปแบบแอนิเมชันก็ทำให้มันสื่อสารกับเด็กได้เข้าใจง่ายเสียด้วย ว่าคนเราไม่จำเป็นต้องเหมือนกันหมด ยิ่งเมื่อแทนค่าแนวดนตรีด้วยสีผิว ศาสนา หรือความเชื่อแล้วล่ะก็ยิ่งชัดเจนทีเดียว โดยหลักฐานสำคัญนอกจากคำพูดของบาร์บที่เหยียดแนวเพลงพอปว่าไร้แก่นสารและมีดีแค่ท่อนฮุกติดประสาทแล้ว แม้แต่พอปปีเองก็ยังพยายามจะท้าทายความเชื่อของ โทรลส์เผ่าคันทรีย์ว่ามีแต่เพลงเศร้าและหดหู่ จนเผลอร้องเพลง Who let the dogs out จนกลายเป็นข้อบาดหมางใหญ่โต
และเมื่อเราเอาพลอตของหนัง Trolls ทั้ง 2 ภาคมาเทียบเรากลับพบความเชื่อมโยงในความต่างของภารกิจของพอปปีและแบรนช์ทั้ง 2 ครั้ง หากคราวที่แล้วพวกเขาต้องช่วยโทรลส์จากสัตว์ประหลาดที่จับพวกเขาเป็นอาหาร คราวนี้ก็กลายเป็นการปกป้องแนวเพลงตัวเองก่อนจะถูกกลืนกินจนอัตลักษณ์ของดนตรีตัวเองต้องหมดสิ้น จนสมองก็ซุกซนไปคิดถึงเรื่องราวความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และสีผิวที่สหรัฐอเมริกาเมื่อไม่นานมานี้แบบอัตโนมัติเลยล่ะ
และนั่นมันก็เปิดโอกาสให้เราได้ไปรู้จักแนวเพลงต่าง ๆ ผ่านการเดินทางของพวกเขาที่ยิ่งผ่านเวลาของหนังก็ยิ่งเห็นการหยิบยืมและปรับเปลี่ยน ทั้งพอปและร็อกที่ต่างก็มีฮุคโดน ๆ ไม่ต่างกัน หรือไม่ว่า ฟังก์ ฮิปฮอป หรือ เค-พอป ต่างก็มีแขนขาเป็นทำนองและจังหวะ จนเป็นที่มาของตอนจบสุดประทับใจ ซึ่งตรงนี้ต้องบอกว่ามันสามารถถ่ายทอดเรื่องยาก ๆ อย่างอัตลักษณ์ของดนตรีแต่ละประเภทได้ดีมากเหมาะกับเด็กจริง และก็แฝงข้อคิดของการยอมรับในความต่างของเพื่อนร่วมโลกให้เยาวชน จนเรากล้าคาดหวังเลยว่าหนังเรื่องนี้จะกล่อมเกลาให้พวกเขามองคุณค่าของมนุษย์ให้เท่ากันให้จงได้.
ส่วนข้อเสีย หนังยังมีจุดด้อยอยู่บ้างในเรื่องความสดใหม่ และมุกตลกที่บางทีก็ไม่เข้าเป้าหรือคนพากย์เล่นยังไม่ลงตัว โดยเฉพาะมุกเหนียม ๆ ของเจมส์ คอร์เดน ที่พากย์เป็น บิ๊กกี ที่เจ้าตัวดูจะถนัดมุกกาว ๆ มากกว่า แต่กระนั้นพอเพลงดัง ๆ ติดหูมาทีไรทั้ง Rock You Like A Hurricane , One More Time หรือจะเป็นเพลงเคพอปอย่าง Russian Roulette ของ Red Velvet ดังขึ้นมาก็อดจะโยกตามไม่ได้จริง ๆ จนกลายเป็นโปรแกรมที่ทำให้เรายิ้มกว้างที่สุดหลังโรงหนังเปิดได้เลย