คุยข้ามทวีปกับ “อดัม เดล ดีโอ” แห่ง Netflix ว่าด้วยวันที่ “สารคดี” เริ่มผลิบาน
ก่อนหน้านี้ Sanook TV/Movies ได้นำเสนอบทสัมภาษณ์ โดนัท-มนัสนันท์ พันธุ์เลิศวงศ์สกุล ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีไทยออริจินัลเรื่องแรกของ Netflix อย่าง BNK48: One Take ไปแล้ว ในวันเดียวกันนั้น เรายังมีโอกาสพูดคุยข้ามทวีปผ่านวิดีโอคอลกับ “อดัม เดล ดีโอ (Adam Del Deo)” รองประธานฝ่ายสารคดีออริจินัลของ Netflix อีกด้วย
“คุณเชื่อไหมปีที่ผ่านมาผู้ชมจำนวน 165 ล้านจาก 183 ล้านครัวเรือนเลือกรับชมภาพยนตร์สารคดี นั่นแปลว่าผู้ชมของเราทุก 10 คนจะมี 9 คนดูภาพยนตร์สารคดี นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าตื่นเต้นมากๆ” หนึ่งในสิ่งที่คุณอดัมเกริ่นนำกับสื่อมวลชนชาวไทย ซึ่งมันช่างน่าสนใจ เพราะส่วนใหญ่โดยทั่วไปคนก็จะมักจะคิดว่า สารคดีเป็นอะไรที่เข้าถึงยาก ดูยาก แต่ในเมื่อความนิยมพุ่งสู่ตัวเลขดังกล่าว ก็นับว่าเป็นทิศทางที่น่าจับตาไม่น้อยทีเดียว
มาลองตรวจสอบกันว่า BNK48: One Take จะเป็นก้าวแรกในการยกระดับสารคดีในเมืองไทยได้หรือไม่ เป้าหมายสำหรับสารคดีใน Netflix คืออะไร และถ้าอยากร่วมงานกับ Netflix ต้องทำเช่นไร ไปฟังจากปาก อดัม เดล ดีโอ กัน
ในความเห็นของคุณ คุณคิดว่า BNK48: One Take ซึ่งเป็นสารคดีไทยออริจินัลเรื่องแรกของ Netflix จะช่วยยกระดับสารคดีในเมืองไทยได้ในแง่ใดบ้าง?
อดัม เดล ดีโอ: สำหรับ One Take มันเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นมากที่เราได้ร่วมงานกับคุณโดนัท (มนัสนันท์ พันธุ์เลิศวงศ์สกุล - ผู้กำกับ) และทีมงานของเธอ เพื่อที่จะนำเสนอเรื่องการแข่งขัน การตามหาความฝันของเด็กผู้หญิงกลุ่มหนึ่งในประเทศไทย ผมคิดว่า One Take แฝงไว้ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจ และไม่เพียงแค่นั้น สารคดีเรื่องนี้ยังเป็นก้าวแรกที่สำคัญ เพราะหลังจากนี้ Netflix ก็จะเฟ้นหาผู้ที่สามารถเล่าเรื่องได้ดีอย่างคุณโดนัทในประเทศไทยต่อไป นอกจากนี้ยังมีสารคดีจากทวีปเอเชียที่มีชื่อเสียงระดับสากลอย่าง Street Food: Asia ซึ่งมีตอนของประเทศไทยด้วย รวมไปถึง Wild Wild Country ซึ่งมีผู้ชมชาวอินเดียชื่นชอบเป็นจำนวนมหาศาลจนตอนนี้กลายเป็นป็อปคัลเจอร์ของสารคดีระดับโลกก็ว่าได้ หรือล่าสุดอย่าง ARASHI’s Diary เกี่ยวกับศิลปินญี่ปุ่น ผมคิดว่าภาพยนตร์สารคดีทั้งหมดนี้ก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะมาจากประเทศที่พูดภาษาอังกฤษหรือไม่ ยิ่งหากการถ่ายทอดเรื่องราวมันมีความวิเศษ เมื่อรวมพลังกับแรงสนับสนุนต่างๆ ก็จะยิ่งทำให้มีผู้ชมเข้ามาให้ความสนใจ
หากถามแทนคนทำหนังชาวไทย มันมีความเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหนที่มีโอกาสจะได้ร่วมงานกับ Netflix?
ผมว่า Netflix มีโอกาสร่วมงานกับทีมงานทั่วโลกนะ เพราะเรามีออฟฟิศสาขาย่อยที่ทำให้คุณสามารถติดต่อกับเราทั้งที่ ลอนดอน, ลอสแอนเจลิส หรือสิงคโปร์สำหรับการทำงานในเอเชีย ซึ่งทีมงานของเราก็ทำงานอย่างหนักเพื่อตามหาผู้ที่จะสามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้ดี พร้อมกับการตามหาเรื่องราวที่น่าสนใจจากทั่วทุกมุมโลก อยากร่วมงานกับ Netflix เหรอ... ก็นำเสนอผลงานโดยตรงมาได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเพียงฟุตเทจหรือซีนใดซีนหนึ่ง ในบางคราวเราเองก็ตามหาผลงานจากเทศกาลภาพยนตร์หรือภาพยนตร์ที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว เราพยายามขยายความสามารถในการค้นหาออกไปในวงกว้าง เพื่อตามหาผู้มีฝีมือจากท้องถิ่นต่างๆ อย่างที่สิงคโปร์เราก็มี Original Documentary Executive คนหนึ่งที่คอยเดินสายตามหาผลงานและคนทำงานภาพยนตร์ของเอเชียอยู่ตลอด
แอบกระซิบได้ไหมว่ามีผลงานของผู้กำกับชาวไทยที่เตรียมได้ฉายทาง Netflix อีกหรือเปล่า?
มีครับ เรามีสารคดีออริจินัลอีกเรื่อง เพียงแต่ยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ ภายในปีนี้เราจะมาแจ้งให้ทุกคนได้ทราบกันอีกครั้ง
พักหลังๆ เราเห็นสารคดีรูปแบบใหม่ที่สั้นลง หรือแม้แต่สารคดีซีรีส์ซึ่งเป็น Netflix Original ด้วย ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง แล้วความยาวของสารคดีเป็นสิ่งสำคัญอย่างไร?
เราเห็นผลตอบรับที่ดีจากผู้ชมนะครับ ไม่ว่าจะเป็นสารคดีเรื่องยาว สั้น หรือจะเป็นซีรีส์ก็ตาม สิ่งที่สร้างเอนเกจเมนท์ (engagement) ของผู้ชมน่าจะเป็นเรื่องราวจากทั่วทุกมุมโลกมากกว่า เราไม่ได้มองเรื่องความยาวเป็นพิเศษ ส่วนมากเราจะดูก่อนว่า คอนเทนต์นี้เหมาะสมกับฟอร์แมตไหน เช่น Inside Bill’s Brain ซึ่งกำกับโดย เดวิส กุ๊กเกนไฮม์ ตอนแรกเขาก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นภาพยนตร์หรือซีรีส์ แต่พอเข้าสู่กระบวนการทำเขาก็ค้นพบว่า นอกจากเรื่องธุรกิจแล้ว ยังมีเรื่องชีวิตส่วนตัวซึ่งเต็มไปด้วยคุณค่าและน่ากล่าวถึงอีกมาก เราจึงตัดสินใจว่า เรื่องนี้ควรจะเป็นซีรีส์ 3 ตอนมากกว่าภาพยนตร์ 2 ชั่วโมงโดยทั่วไป สรุปก็คือเรามีความยืดหยุ่นซึ่งพร้อมจะปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างภาพยนตร์สารคดีให้ออกมาดีที่สุด
โดยปกติ สารคดีในประเทศไทยก็จะได้รับความนิยมน้อยกว่าหนังผี หนังตลก หนังแอคชั่น หรือแม้แต่วงการภาพยนตร์โลก สารคดีก็ยังเป็นรองหนังซูเปอร์ฮีโร่อยู่วันยังค่ำ อยากทราบว่าคุณมีเป้าหมายในการยกระดับสารคดีให้ก้าวไปสู่ความนิยมในระดับที่มากขึ้นหรือไม่?
ผมคิดว่าเราทำได้นะ เพียงแต่ในตอนนี้ภาพยนตร์สารคดียังขาดกำลัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพยากร อุปกรณ์ กราฟิก หรือการประพันธ์เพลง เป็นต้น เราจึงพยายามส่งแรงสนับสนุนในส่วนนี้ให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มความบันเทิงอีกขั้นลงไป ในทุกวันนี้เราเห็นแล้วว่ามันประสบความสำเร็จมากขึ้น ยอดเข้าชมภาพยนตร์สารคดีในไทยเองก็สูงขึ้น อาทิ Street Food: Asia, The Chef Show, Miss Americana, The Last Dance ฯลฯ ทั้งหมดนี้มียอดเข้าชมและเอนเกจเมนท์มหาศาล และต้องบอกว่าเราตื่นเต้นมากที่ได้ทำงานในลักษณะนี้กับคุณโดนัท เพื่อสร้างเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับศิลปินที่มีชื่อเสียงของไทยอย่าง BNK48 สำหรับเราการเปิดตัวสารคดีเรื่อง One Take สู่สายตาชาวโลกคือสิ่งที่น่าสนใจ