[รีวิว] Our 30 minutes sessions เทปลับสลับร่างมารัก-เพลงนี้เพื่อเธอ

[รีวิว] Our 30 minutes sessions เทปลับสลับร่างมารัก-เพลงนี้เพื่อเธอ

[รีวิว] Our 30 minutes sessions เทปลับสลับร่างมารัก-เพลงนี้เพื่อเธอ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แค่พลอตว่าด้วยวิญญาณที่ขอสิงร่างเด็กหนุ่มขี้อายเป็นเวลา 30 นาทีตามเนื้อเทปในหนึ่งหน้าก็ดูจะอุทานคำว่า “ความญี่ปุ่น!” ออกมาได้ชัดเจนละ ตัวหนังยังแอบซ่อนลูกเล่นของเทปคาสเซตต์ ฟอร์แมตสำหรับคอเพลงยุค 90 มาแบบห้ามใจไม่ให้กรอกลับทุกความรู้สึกของคนดูให้ย้อนกลับไปในวันวาน ทั้งรักแรก และความผิดบาปในอดีตตามไม่ได้เลยแหละ

หลัง อากิ (แมคเคนยู) มือกีตาร์และนักแต่งเพลงประสบอุบัติเหตุจนเสียชีวิต ทิ้งไว้เพียงเทปเดโมเพลงสุดท้ายในวอล์กแมนที่ถูกทิ้งไว้ริมสระน้ำ และโชคชะตาก็พาให้ โชตะ (ทาคุมิ คิตะมุระ) หนุ่มขี้อายได้พบมัน จนสิ่งมหัศจรรย์ได้เกิดขึ้นเมื่อโชตะกดเล่นเทปทำให้อากิสามารถยืมร่างของเขาได้เป็นเวลา 30 นาที อากิเลยใช้โอกาสนี้ฟอร์มวงขึ้นมาใหม่เพื่อสานต่อสัญญาในการเล่นงานคอนเสิร์ตฤดูร้อนที่เขาไม่มีโอกาสได้เล่นตอนยังมีชีวิตอยู่ รวมถึงการได้กลับไปใช้เวลาร่วมกับ คานะ (ซายุ คุโบตะ) หญิงสาวที่เป็นรักเดียวในชีวิตอีกครั้ง

ว่ากันในส่วนของพลอตเรื่องแล้ว ซาโตมิ โอชิมา แทบจะรังสรรค์เรื่องโดยเอาจุดเด่นจาก The 100th Love With You ผลงานก่อนหน้ามาหยิบใช้ทั้งเรื่องของวงดนตรี และการย้อนกลับมาแก้ไขสิ่งที่ผิด แต่ใน Our 30-minute sessions เงื่อนไขในการกลับมาไม่ใช่เพื่อช่วยชีวิตของใครสักคนเหมือนหนังเรื่องก่อน แต่คราวนี้มันคือการกลับมาของวิญญาณที่ผูกโยงกับสิ่งที่ผูกพันธ์เพื่อแก้ไขความผิดพลาด ซึ่งก็ไม่ใช่ธีมใหม่อะไรสำหรับหนังโรแมนติกทั่วโลก แต่รายละเอียดและเงื่อนไขของเทปคาสเซตต่างหากที่ทำให้หนังมันพิเศษ

โดยเฉพาะการนำเงื่อนไขของเทปคาสเซตมาใช้ในการกำหนดเวลา 30 นาทีของการ “ยืมร่าง” ที่อิงตามความยาวเทปใน 1 หน้าของคาสเซต หรือการ “อัดทับ” เพื่อให้เข้ากับเนื้อเรื่องช่วงหลังเมื่อหนังเริ่มกำหนดเงื่อนเวลาที่ตัวละครต้องรีบทำภารกิจให้เสร็จสิ้น ผลลัพธ์ของมันเลยทำให้หนังไฮคอนเซปต์เรื่องนี้ไปไกลกว่าแค่ขายแนวคิดเท่ ๆ แล้วเดินตามรอยหนังแนวเดียวกัน แม้จะมีข้อครหาว่าคนเขียนบทแค่เปลี่ยนจาก “แผ่นเสียงย้อนเวลา” มาเป็น “เทปคาสเซตสิงร่าง” ก็เถอะ

นอกจากเรื่องราวที่ถูกรังสรรค์ได้อย่างยอดเยี่ยมตามที่กล่าวมาแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้หนังแตกต่างและมีคุณค่าทางศิลปะคงหนีไม่พ้นงานกำกับของ เคนทาโร ฮากิวาระ ที่ไม่เน้นความฟูมฟายและใส่มุกตลกตามประสาหนังวัยรุ่นได้อย่างเหมาะเจาะพอดีไม่มากเกินจนน่ารำคาญควบคู่ไปกับการคุมโทนเรื่องให้เต็มไปด้วยความโรแมนติกควบคู่กับปมดรามาที่ค่อย ๆ เผยออกมา โดยเฉพาะเรื่องราวของโชตะที่เบื้องหลังบุคลิกขี้อายและเก็บตัวคือความสามารถด้านดนตรีที่เจ้าตัวแอบผลิตผลงานเงียบ ๆ เพราะไม่แน่ใจว่าความชอบจะกลายเป็นอาชีพได้ยังไงโดยอาศัยม่านตรงที่นอนไว้ปิดบังเวลาตนใช้เวลาส่วนตัวไปกับดนตรี

ซึ่งด้วยความที่หนังเน้นเดินเรื่องด้วยปมที่เรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยรายละเอียดที่ลึกซึ้งก็ทำให้มันมีอารมณ์และความบันเทิงเฉพาะตัวมากโดยเฉพาะงานภาพที่หนังพยายามคุมโทนสีฟ้าหลาย ๆ เฉด และสีโทนอบอุ่นที่ไปกันได้ดีกับเรื่องราว ดังนั้นเราเลยได้เห็นฉากมหัศจรรย์ต่าง ๆ ตั้งแต่การตากหนังสือให้ออกมาหายใจที่หนังก็หยิบมาเล่นตอนท้ายเพื่อเรียกน้ำตาคนดูอีกทีนึง และทีละน้อยเราจะเห็นการทำงานร่วมกันระหว่างบทของ ซาโตมิ โอชิมา และ งานกำกับเปี่ยมวิสัยทัศน์ของ เคนทาโร อากิวาระ ที่ไม่ยอมให้งานวิชวลแบบผู้กำกับมิวสิกวีดีโอมาบดบังสารที่บทพยายามจะบอกนั่นก็คือการทำความฝันในวันนี้ให้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้มันถูกอัดทับไปตามกาลเวลาได้อย่างดีเยี่ยม

นอกจากนี้การแสดงของทั้ง แมคเคนยู อาราตะ และ ทาคูมิ คิตามูระ ยังไปกันได้ดีทั้งการฉายเสน่ห์ของสองหนุ่มสองสไตล์ และบทดรามาที่ทำได้ดีเกินคาด ส่วน ซายุ คุโบตะ ก็มีดีมากกว่าหน้าตาสวย ๆ และรอยยิ้มสดใส เพราะเธอสามารถรับส่งบทดรามากับสองหนุ่มได้เป็นอย่างดี จนทำให้ Our 30 – Minute Sessions กลายเป็นหนังญี่ปุ่นที่ไม่ควรพลาดชมในโรงภาพยนตร์เป็นอย่างยิ่ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook