[รีวิว] The Maid สาวลับใช้ - ผี ชนชั้น และการก้าวข้ามแนวหนังที่คุ้นเคย
ตั้งแต่ Netflix เปิดตัวในไทยก็ทยอยอัดคอนเทนต์เด็ด ๆ มาเอาใจผู้ชมชาวสยามอยู่เนือง ๆ และยิ่งหลังจากเริ่มซื้อพวกละครไทย และซีรีส์ไทย รวมถึงร่วมลงทุนในการผลิตคอนเทนต์อย่างต่อเนื่องก็ย่อมชัดเจนแล้วว่าคอนเทนต์ไทยบน Netflix ดูจะเป็นไฮไลต์เด็ดสำหรับผู้ชมไทยไม่แพ้ซีรีส์เกาหลีที่ทยอยครองความนิยมอย่างต่อเนื่อง และหลังจากผลิตซีรีส์ไทยแนวระทึกขวัญอย่าง เคว้ง เปิดตัวไปปีก่อน ก็ถึงคราวคอนเทนต์หนังยาวอย่าง The Maid ของผู้กำกับ ลี ทองคำ มาให้ผู้ชมพิสูจน์ความน่ากลัวและลุ้นระทึกด้วยรสชาติแปลกใหม่แต่ไม่ระคายลิ้นกันแล้ว
โดยเรื่องราวใน The Maid หรือ สาวลับใช้ ก็แน่นอนว่ามันบ่งบอกชัดเจนว่านี่จะเป็นหนังที่เล่นกับการรับรู้หรือ Perceptionของคนดูต่อหนังผีที่มาในทรงเดียวกัน ตั้งแต่เปิดเรื่องที่มันฉายภาพสาวใช้คนก่อนหน้ากับความหลอนที่ต้องเข้าไปดูแลคุณหนูตัวน้อยที่มีปัญหาทางจิตพร้อมผีลิงสุดหลอนที่ทำให้เธอต้องขอลาออกจากงานแม่บ้านที่ทำอยู่ เป็นเหมือน Prologue หรือ อารัมภบทตามทำเนียมหนังฮอลลีวูด
จากนั้นสไตล์ภาพและการเล่าเรื่องก็มาในโหมดละคร ๆ ทันที ทั้งรถโบราณที่ไปรับตัว จอย (พลอย ศรนรินทร์) สาวรับใช้คนใหม่ของบ้าน และเมื่อมาถึงเธอก็เริ่มสังเกตได้ถึงความไม่ชอบมาพากลต่าง ๆ ทั้งลูกสาวที่ดูผิดปกติอย่างกับหลุดมาจากหนังเด็กนรกของฮอลลีวูดที่ชอบเห็นผี ๆ สาง ๆ หรือ คุณอุมา (สาวิกา ไชยเดช) คนแม่ที่แต่งตัวอย่างกับตัวเองอยู่มิลานแฟชันวีคตลอดเวลา และคุณผู้ชาย (ธีรภัทร์ สัจจกุล) ที่วัน ๆ มือไม่ได้ห่างจากแก้วเหล้าเลยทีเดียว
และตามสไตล์ว่าหลังจาก หัวหน้าแม่บ้าน (ณัฐนี สิทธิสมาน) พูดว่าอย่าสอดรู้สอดเห็น สาวจอยก็เดินสำรวจบ้านและทำทุกอย่างที่หัวหน้าแม่บ้านนางบอกทันที และก็เจอดีตามฟอร์มกับผีสาวคนใช้สุดหลอน และความลับเบื้องหลังการมาทำงานที่บ้านหลังนี้ของเธอก็ค่อย ๆ เฉลยออกมาในองก์สองและองก์สามของหนังตามลำดับ
ต้องยอมรับแหละว่าหากจะเอามาตรฐานการเล่าเรื่องหนังผีไทยระดับตำนานอย่าง เปนชู้กับผี ของ วิศิษย์ ศาสนเที่ยง หรือ สุขสันต์วันกลับบ้าน ของ ก้องเกียรติ โขมศิริ ที่ถือเป็นแม่แบบสำคัญของหนังมาเป็นตัวชี้วัดความกลมกล่อมของบทภาพยนตร์และการกำกับที่ดูปราณีตกว่าก็คงไม่ได้ ดังนั้นงานชิ้นนี้ของ ลี ทองคำ เลยเป็นเหมือนการทดลองดั่งที่เจ้าตัวได้ให้สัมภาษณ์กับผมเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 ในการฉายรอบสื่อมวลชนที่ กันตนาฟิล์มสตูดิโอ เสียมากกว่า ดังนั้นหากจะรีวิวและคิดตามเราอาจต้องแยกดูตามการเล่าเรื่องในแต่ละองก์ของหนังดังนี้
ผี..วิญญาณ..ที่ยังติดกับสถานที่
เรียกง่าย ๆ ว่านี่คือภาพจำของผีไทยและผีเอเซียเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะเรื่องของความแค้น อาฆาตพยาบาท ที่ทำให้วิญญาณยังไม่ไปไหนและเฝ้าวนเวียนอยู่รอบ ๆ สถานที่หรือบุคคลที่ตนผูกพัน สำหรับองค์แรกที่ ลี ทองคำ ตั้งใจทำเป็นหนังผีแบบไทย ๆ เน้นตุ้งแช่เอาให้หัวใจวายกันไปข้างนึงแท้จริงแล้ว เราจะสังเกตความผิดปกติในอะไรได้หลาย ๆ อย่าง ตั้งแต่ตุ๊กตาลิงท่าทางน่ากลัวและแถมมีวิญญาณลิงอีก
ส่วนการแต่งตัวของคุณนายอุมา ก็ชัดเจนเลยว่ามันแสดงถึงความไม่ปกติตั้งแต่ดีไซน์แล้ว โดยเฉพาะชุดที่แต่งตัวประหนึ่งอยู่ยุโรปทั้งที่ตัวเองอยู่เมืองไทย เหมือนต้องการ “หนี” จากอะไรสักอย่าง แต่แทนที่จะเป็นการวิ่งเหมือนสาวใช้อย่าง จอย เธอกลับใช้การแต่งตัวเพื่อหลบหลีกและทีละน้อยพอเรื่องราวไปเฉลยปมในองก์ที่ 2 เราจะเข้าใจได้เลยว่าทำไมการแต่งตัวของเธอถึงดูเป็นมิลานแฟชันวีคขนาดนี้
ด้านคุณชาย แม้จะดูถูกทำให้ด้อยบทบาทไปนิด แต่การปูพื้นว่าตัวเองเป็นเหมือนเบี้ยล่างของเมียตลอดเวลาก็แสดงถึงการถูกลดทอนอำนาจ โดยเฉพาะการที่หนังให้สถานะเป็นสามีที่เกาะเมียกินก็แน่นอนล่ะ การ “หนี” ที่ดีที่สุดในเวลาที่ตัวเองขยับไปไหนก็ลำบากคงไม่พ้นการ ดื่มเหล้า ที่ช่วยพรากสติที่ตอกย้ำความต้อยต่ำ และแน่นอนรวมถึง “ความผิดบาป” ที่จะเฉลยในองก์ที่ 2 ด้วย
รักต้องห้าม ดราม่า และปัญหาทางจิต
เรื่องที่คนดู ดูจะติติงหนังเป็นพิเศษคงเป็นช่วงองก์ 2 นี่แหละ เพราะอย่างที่ตาเห็น โทนของหนังถูกทำให้เบาลงกว่าองก์แรกที่เอาผีมา แฮร่…. ใส่คนดูจนเหนื่อยแล้ว แต่หากมองอย่างพินิจพิเคราะห์ มันคือการพยายามกะเทาะความคิด จิตใจ ตัวละครแต่ละตัว อย่างน่าสนใจทีเดียว อย่างคุณนายอุมา ที่สามีไม่เห็นความสำคัญของเธอ หรือ แรงปรารถนาด้านกามารมณ์ที่ไม่ได้รับการตอบสนองของคุณผู้ชาย
และนี่เองก็คือการเฉลยที่มาการตายอย่างน่าอนาถของ พลอย (น้ำหวาน กรรณาภรณ์) สาวรับใช้ที่รู้ใจเจ้านายทั้งสอง โดยเฉพาะการที่ต้องเป็นเครื่องดับความใคร่ของเหล่าผู้ดีที่ถึงเวลา “ติดสัด” ก็ทำตัวไม่ต่างจากเดรัจฉาน นั่นทำให้การพูดถึงอดีต หรือ ฉากแฟลชแบ็กต่าง ๆ กลับไม่ได้ให้ข้อมูลเพียงเรื่องว่า “พลอยตายยังไง” เพียงอย่างเดียว ตรงกันข้ามมันกำลังไปอธิบายพฤติกรรมของคนในบ้านในองก์ที่ 1 อีกด้วย
ในฉากเล็ก ๆ ของหนังที่ จอย ได้เข้าไปอยู่ในครัวร่วมกับพวกบรรดา สาวรับใช้รุ่นพี่ เราจะเห็นพฤติกรรมที่ดูธรรมดามากแต่ทว่ากลับมีที่มาทันทีเมื่อหนังบอกเล่าความจริงในองก์ที่ 2 นั่นคือการเสพย์ติดความเงียบและการห้ามไม่ให้ใครถามหรือสงสัยในบ้านของหัวหน้าแม่บ้าน การบิดเบือนความจริงของพ่อบ้านคนขับรถ และหนักสุดคือพฤติกรรมชอบฟังเพลง งัดถั่งงัด ของพี่แม่บ้านลุคสาวใช้อีสาน ที่เราเห็นกันมาจนเฝือและให้ภาพที่คลีเช่มาก ๆ แต่พอมาอยู่ในบริบทของเรื่องราวแบบนี้ก็ทำให้มันพิเศษอย่างบอกไม่ถูก
บ้าคลั่ง และ หลั่งเลือด
ในบทปิดท้ายคงต้องบอกว่าในเมื่อเรื่องราวได้เฉลยปมต่าง ๆ ครบถ้วนแล้ว การคิดบัญชีแค้นในองก์สุดท้าย เลยเต็มไปด้วยความบ้าคลั่ง และเป็นการปลดปล่อยและท้าทายความคิดผู้ชมชาวไทยอย่างแท้จริง เพราะไม่บ่อยหรอกที่หนังไทยจะหักมุมให้เรื่องราวในตอนท้ายพลิกผันและบิดทวิสต์ แนวหนัง หรือ Genre แบบหักศอกเหมือน “หนังคนละม้วน” ขนาดนี้
และที่ต้องชื่นชมมากคืองานกำกับศิลป์ในฉากปาร์ตีส่งท้ายเรื่องราวที่ให้ผู้ร่วมงานใส่ชุดสีขาว ที่ในที่นี้ไม่ได้แสดงถึงความบริสุทธิ์อย่างไร ในทางตรงกันข้ามเมื่อเรามาวิเคราะห์แล้วชุดสูทสีขาวคงไม่ได้แทนอะไรที่ผิดเพี้ยนไปจากชุดประจำตำแหน่งของบรรดา อีลิต (Elite) หรืออภิสิทธิชนที่มีตังค์และเวลาในชีวิตพอมาเสพย์ของฟุ่มเฟือยทั้งไวน์และอาหารคานาเป้แบบที่เห็นในหนังได้ ดังนั้นเมื่อเรื่องราวดำเนินมาสู่จุดที่บ้าคลั่งที่สุดของหนัง การนองเลือดเลยเหมือนการแก้แค้นที่ไม่เพียงแค่เรื่องส่วนตัว แต่มันยังสาวไปได้ถึงการปฏิเสธและกำจัดเรื่อง “ชนชั้น” อย่างอดคิดไม่ได้
เสียง… ดนตรีประกอบ… กับโสตทัศน์ของสาวลับใช้
ในเมื่อผมได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ คุณไตรเทพ วงศ์ไพบูลย์ หรือ คุณอู่ วง Kidnappers ผู้ควบคุมการมิกซ์เสียงในภาพยนตร์ก็เลยขออนุญาตสรุปประเด็นเกี่ยวกับการออกแบบเสียงหรือ Sound Design มาเพื่อวิเคราะห์ตัวหนังกันนะครับ โดยประเด็นแรกเลยคือการออกแบบเสียงใน 3 องก์ของหนัง องก์แรกที่เป็นหนังผี คุณอู่ เลยการดีไซน์การแสดงผลในแต่ละช่องสัญญาณ (Channel) ร่วมกับ ลี ทองคำ ผู้กำกับภาพยนตร์แบบคู่ขนานโดยเมื่อหนังตัดต่อเสร็จ ผู้กำกับจะมาร่วมดูว่า Sound Design ของหนังแต่ละซีนสามารถล่อหลอกคนดูได้หรือไม่ โดยเฉพาะคนไทยที่คุ้นเคยกับจังหวะตุ้งแช่ของหนังผีดีอยู่แล้ว
ซึ่งจากประสบการณ์ที่ได้ชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์ของ กันตนาสตูดิโอ วันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับหนังในองก์แรกจู่โจมคนดูหนักมาก ๆ และมิติเสียงทั้งเสียงเท้าบนพื้นไม้ของตัวละครจอย และ พลอย ที่เป็นผีก็ถูกออกแบบมาอย่างดีแบบถ้าสังเกตดี ๆ เราจะพบความแปลกแยกของทั้ง 2 ตัวละครผ่านน้ำหนักของเสียงฝีเท้าได้ดีเลยทีเดียว ซึ่งคุณอู่บอกว่าสำหรับผู้ชมที่รับชมทาง Netflix ก็จะได้รับประสบการณ์เดียวกันเมื่อต่อลำโพงโฮมเธียร์เตอร์ที่บ้านในระบบเสียง 5.1 แชนแนล ซึ่งผมพิสูจน์แล้วก็จริงตามที่คุณอู่บอกนะครับ
แต่สำหรับองก์ที่ 2 และ องก์ที่ 3 งาน Sound Design จะลดบทบาทของเสียงเอฟเฟกต์ลงเพื่อให้ดนตรีประกอบของ Bruno Brugnano อดีตโปรดิวเซอร์มือทองของค่ายแกรมมี่โดดเด่นและช่วยบอกเล่าเรื่องราวขึ้นมา แต่นั่นก็ทำให้เกิดความหมายที่ต่างจากองก์แรกของหนังเพราะเมื่อตัวละครไม่ใช่สิ่งแปลกแยกของบ้านดังนั้นเสียงแปลก ๆ ทั้งฝีเท้าและไม้ลั่นเอี๊ยดอ๊าดก็จะเริ่มหายไป เป็นการยอมลดบทบาทของเอฟเฟกต์เสียงให้ดนตรีประกอบได้ทำหน้าที่ได้อย่างดีทีเดียว
แม้หนังจะมีข้อน่าติติงในด้านงานกำกับและการหักมุมแบบไม่เหลือความน่ากลัวที่จู่โจมคนดูแบบหนังในองก์แรกอยู่บ้าง เมื่อมองจากมุมของคนดูหนังผี แต่หากเปิดใจและร่วมด่ำดิ่งไปกับการทดลองเล่าเรื่องที่ทวีความวิปลาสขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละองก์ของหนังและการแสดงที่น่าจดจำของพลอย ศรนรินทร์ ควบคู่ไปกับงานโพรดักชันที่เนี๊ยบ ถ่ายภาพได้สวยและงาน Sound Design ที่เร้าอารมณ์แล้วนี่จะเป็นประสบการณ์การชมภาพยนตร์ไทยแนวใหม่ที่รสชาติจัดจ้านไม่น้อยเลยทีเดียว
ปล. ผู้กำกับบอกว่าเรื่อง ลิงผี ถ้าอยากรู้ว่าหมายความว่าอะไรให้กลับไปดูที่เอ็นด์เครดิตท้ายเรื่องแล้วสังเกตดี ๆ