รับบทนางสมจริง ละครอิงพื้นที่และวัฒนธรรม โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์

รับบทนางสมจริง ละครอิงพื้นที่และวัฒนธรรม โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์

รับบทนางสมจริง ละครอิงพื้นที่และวัฒนธรรม โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มาคิดคิดดูแล้วนะคะคุณกิตติ สิ่งที่หน้าสื่อไทยพัฒนามาถึงยุคสมัยนี้ ส่วนหนึ่งก็คือละครไทยหลายๆ เรื่อง เน้นความสมจริงกันมากขึ้น ละเอียดกับการทำการบ้านเรื่องโปรดักชั่นกันมากขึ้น จนทำให้ละครหลายๆ เรื่องในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา เป็นละครที่ลงไปสมจริงถึงขั้นว่า คำพูดคำจา สถานที่ เสื้อผ้าใดใด ก็คือเป็นที่นั้นไปเลย ก็คือเค้าลงไปเรียลเบอร์นั้นกันแล้วค่ะ

งั้นสัปดาห์นี้ เทยขอรับบทนางสมจริงกันหน่อยนะคะคุณขา

แต่ก่อนนะเธอ ละครอะไรใดใด ไม่ว่าจะมีพื้นเพเรื่องราวมาจากภาคไหนก็ตาม เวลาปรับมาเป็นละครโทรทัศน์แล้วเนี่ย ก็จะมีความแบบปรับให้เป็นภาษากลาง คงจะถือว่าให้คนทั่วไปทั่วประเทศดู ก็เลยเป็นกลางไว้ก่อน ฉะนั้น แม้จะเป็นเรื่องที่กล่าวถึงพื้นถิ่น เรื่องราวที่เป็นพื้นบ้าน ระบุเป็นจังหวัด เป็นสถานที่ไหนๆ ไว้ ก็จะยังเป็นภาษากลางอยู่ดี

แต่ก็เพราะการปรับให้เป็นภาษากลาง แม้ว่าเราจะฟังกันรู้เรื่องทุกคำ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นข้อดี แต่ทว่าจริงๆ แล้ว การปรับภาษาที่เป็นเรื่องเล็กน้อย มันกลับทำให้เสียซึ่งรายละเอียด และมิติบางอย่างของเรื่องราวที่ผูกกับพื้นถิ่นนั้นๆ ไปอย่างสิ้นเชิง แล้วยิ่งหากมันถูกสร้างและกำกับโดยคนเมืองกรุงเทพ ช่องละคร ค่ายละคร หรือสถานีที่เป็นมุมมองของชาวกรุงเทพแล้วด้วย ก็กลายเป็นจริตแบบคนกรุงเทพไปสิ้นเลยเธอ 

ปอบผีฟ้า สู่ ปอบผีเจ้า

“ผีฟ้าเอย แสนสุดโสภา” เคยได้ยินกันใช่ม๊า กับเพลงอมตะ จากละครที่เป็นระดับตำนาน ที่เคยออกอากาศไว้ครั้งแรกเมื่อปี 2540 ซึ่งเนื้อเรื่องของปอบผีฟ้า เป็นเรื่องของวัฒนธรรมอีสาน ที่กล่าวถึงการไหว้ “ผี” บูชาสิ่งเร้นลับ เพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวพื้นถิ่นดั้งเดิม โดยที่ผีนั้นมีสองแบบ สองสถานะ คือ “ผีฟ้า” ซึ่งมักจะมาผ่านร่างทรง และใช้เพื่อรักษาโรค กับ “ผีปอบ” ซึ่งเป็นปีศาจดูดเลือดอันน่ากลัว ซึ่งหากผีทั้งสองมาอยู่ในร่างของคนคนเดียวกัน อะไรจะเป็นตัวแยกแยะ

เวอร์ชั่นปี 2540 ตัวละครทุกตัวพูดภาษากลาง แต่ก็จะปรับให้พูดช้าลง และลงท้ายด้วยคำว่าเจ้า ได้กลิ่นของความเป็นภาคเหนือมากกว่าภาคอีสาน และใช้การถ่ายทำในสตูดิโอมากกว่าการออกไปถ่ายสถานที่จริง และด้วยความที่เทคโนโลยีซีจีละครแต่ก่อนยังไม่ได้พัฒนามาก ความน่ากลัวของเลือด การจัดไฟ ก็เลยทำให้ดูยิ่งสยดสยองมากขึ้นไปอีก แต่ปอบผีฟ้า ถูกนำมาผลิตอีกครั้งในเวอร์ชั่นปี 2552 ซึ่งยังคงคอนเซปต์เดิมคือเน้นถ่ายในสตูดิโอ ไม่ได้ลงไปยังพื้นที่ดั้งเดิม และยังพูดภาษาที่มีความเป็นกลางมากกว่า เพิ่มเติมก็เพียงคือทำให้ซีจีละครชัดขึ้น 

แต่ทว่า ปอบผีเจ้า ที่เนื้อเรื่องยึดโครงประมาณเดิม แต่เส้นตัวละครการดำเนินเรื่องไม่เหมือนเดิมแล้ว กลับทำในสิ่งที่น่าสนใจในช่วงปีนี้ คือการใส่ใจกับภาษาพื้นถิ่น และพูดภาษาอีสานกันอย่างออรส แม้ว่านักแสดงที่ไม่ใช่คนพื้นเพ จะต้องฝึกพูดกันพัลวัน และอาจจะสำเนียงไม่ตรงบ้าง แต่นั่นทำให้กลิ่นของปอบผีเจ้า มันมีมิติของการเป็นพื้นถิ่นมากขึ้น และใช้วิธีขึ้นซับไตเติ้ลเอา เผื่อคนดูที่ไม่เข้าใจภาษาอีสาน ก็สามารถอ่านเอาได้ และรวมไปถึงโปรดักชั่นดีไซน์ที่สมจริงและลึกไปถึงเสื้อผ้าหน้าผม ที่ไม่ได้ประโคมความโอดองค์ของเจ้าในอุดมคติ แต่เป็นเจ้าเมืองที่อยู่ตามพื้นถิ่นจริงๆ นั่นเอง

นาคี และ กลิ่นกาสะลอง

แน่นอนว่าปอบผีเจ้า ไม่ใช่เรื่องแรกที่ทำความสมจริงลงลึกไปถึงระดับภาษา นาคี เป็นเรื่องแรกที่พาเราไปสำรวจความลึกลับและตำนานของพญานาคในภาคอีสาน กับวลีอมตะ “อีคำแก้วมันเป็นงู” ซึ่ง นาคี ใช้ภาษาอีสานกันทั้งเรื่อง ขึ้นซับไตเติ้ล รวมไปถึงเสื้อผ้าก็ใช้ผ้าจากคนท้องถิ่นมาใช้ในกองถ่าย ก็คือว่าสนับสนุนลงไปถึงท้องที่นั้นๆ จริงๆ และในส่วนของเนื้อหา ที่แม้จะยังวนเวียนอยู่กับความเชื่อเดิมของพื้นถิ่น แต่ละคร ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงความงมงาย ความรังเกียจในสิ่งที่แตกต่างไปจากพวกของตัวเอง ความใช้บรรทัดฐานของสังคมเล็กๆ ตัดสินสิ่งที่ไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมของตัวเองด้วยนั่นเอง 

ในขณะที่ กลิ่นกาสะลอง พาเราย้ายไปยังดินแดนภาคเหนือ “มึงบ่ต้องมาสะหลิดดกกับกู๋” ก็กลายเป็นคำด่าคำเมืองอันม่วนขนาดเลยเจ้า ซึ่งกลิ่นกาสะลอง ความโดดเด่นก็คือการมีตัวละครที่เป็นตัวแทนของยุคปัจจุบัน และความเป็นภาคกลางอยู่ด้วย ซึ่งก็คือเหล่าตัวละครที่อยู่ในชาติภพปัจจุบัน สลับกับการตัดกลับไปยังเรื่องราวในอดีตชาติ ที่พูดคำเมือง ละครตัดสลับระหว่างการมีซับไตเติ้ลกับไม่มีซับ ทำให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากขึ้นผ่านภาษา

ที่น่าสนใจก็คือ เนื้อหาของพื้นถิ่นภาคใต้ กลับยังไม่ปรากฎละครที่ปรับเนื้อหาที่อิงพื้นที่และวัฒนธรรมให้เราเห็น ล่าสุดเท่าที่เทยจำได้คือ “จำเลยรัก” ที่ปรากฎตัวละครที่พูดใต้รายล้อมอยู่ที่ตัวละครหลัก แต่ก็ไม่ได้มากมายหรือขั้นขึ้นซับไตเติ้ล เพราะเหล่าตัวเอก หรือแม้แต่ “นายหัว” นี่ก็พูดภาษากลาง ทั้งๆที่จริงๆแล้ว ฮีควรจะพูดภาษาใต้เพื่อรับกับคำว่า “หน่ายหั๊ว” ไปเลยเสียมากกว่า

หรือที่ขยับมาหน่อย ก็คงเป็นละครเรื่อง “ผีเสื้อกับพายุ” ที่ออกอากาศปี 2553 ในช่อง ThaiPBS ที่บรรยากาศพื้นหลังเป็นภาคใต้ทั้งหมด ละเอียดลงไปถึงขั้นว่าเพลงประกอบ ก็เป็นเพลงกลิ่นอายภาคใต้ ก็น่าเสียดายที่ตัวละครหลักยังคงใช้ภาษากลางอยู่

ซึ่งเทยอนุมานเอาว่า ที่ความเป็นใต้ต้องรอไปก่อน อาจจะเพราะภาษาใต้ พูดเร็ว ฟังยาก นักแสดงอาจจะต้องใช้เวลาฝึกกันนานกว่า ขึ้นซับไตเติ้ลดีนี้คงยาวกันทีเดียว แบ่งวรรคแบ่งตอนกันไม่ทันก็เป็นได้ แต่เร็วๆ นี้ก็อาจจะมีมาให้เราได้เห็นได้ชมกันก็ได้นะคะ ใครจะไปรู้

ความสมจริงในโลกของละครไทย เอาดีดีก็พัฒนามาไกลเหมือนกันนะคุณขา ไม่ใช่แค่บท หรือการแสดงที่รับกับจอใหญ่อันตระการตามากขึ้น แต่มันคือการใส่ใจและผูกเข้ากับคนดูที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและท้องถิ่นมากขึ้นตามไปด้วยแหละเธอ

เนี้ย วงการสื่อจะทำให้ดี ก็ทำได้แห๋ม ม่วนเจ้า

 

เหยี่ยวเทย รายงาน 

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ รับบทนางสมจริง ละครอิงพื้นที่และวัฒนธรรม โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook