ซีรีส์ Snowpiercer เงื่อนไขของรถไฟแห่งความไม่เท่าเทียม

ซีรีส์ Snowpiercer เงื่อนไขของรถไฟแห่งความไม่เท่าเทียม

ซีรีส์ Snowpiercer เงื่อนไขของรถไฟแห่งความไม่เท่าเทียม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ซีรีส์เรื่องล่าสุดที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ของสหรัฐอเมริกาทางช่อง TNT ซึ่งสตรีมมิ่ง Netflix ได้นำมาฉายตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมาจนครบความยาวทั้งหมด 10 ตอนนี้ซีซั่นแรกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดย Snowpiercer ว่าด้วยรถไฟที่เป็นดั่งเรือโนอาห์ที่บรรทุกผู้รอดชีวิตกลุ่มสุดท้ายของโลกไว้และออกเดินทางรอบโลกท่ามกลางสภาวะยุคน้ำแข็งอันแสนหนาวเหน็บ

Snowpiercer ได้รับการดัดแปลงมาจากนิยายภาพเรื่อง “Le Transperceneige” ของ Jacques Lob และ Jean-Marc Rochette โดยเวอร์ชั่นที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปคือเวอร์ชั่นของผู้กำกับ บงจุนโฮ ในปี 2013 นำแสดงโดย คริส อีแวนส์ ทิลดา สวินตัน เจมี เบลล์ ซอง คังโฮและเอ็ด แฮร์ริส โดยหนังใช้ต้นทุนในการสร้างประมาณ 40 ล้านเหรียญฯ และสามารถทำรายได้ไปทั่วโลกอยู่ที่ 86 ล้านเหรียญฯ

สำหรับเวอร์ชั่นทีวีซีรีส์นั้นออกฉายทางช่อง TNT ในสหรัฐอเมริกาช่วงวันที่ 17 พฤษภาคมปี 2020 โดยยึดโครงสร้างมาจากเวอร์ชั่นนิยายและเวอร์ชั่นภาพยนตร์ของบง จุนโฮ Snowpiercer ผ่านการพัฒนาบทและเรื่องราวกว่า 3 ปี ก่อนจะเกิดประเด็นความล่าช้าเนื่องจากบรรดาโปรดิวเซอร์มีความเห็นที่ไม่ลงรอยกันจนกระทั่งปี 2019 ทางช่อง TNT ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าซีรีส์เรื่องนี้พร้อมจะออกสู่สายตาของผู้ชมช่วงต้นปี 2020

สำหรับเรื่องราวในซีรีส์ Snowpiercer เริ่มต้นเรื่องราว 7 ปีหลังจากเหตุการณ์หายนะเมื่อโลกมนุษย์ถูกปกคลุมไปด้วยสภาพอากาศเป็นขั้วโลก ซึ่งมนุษย์จะไม่สามารถมีชีวิตรอดบนพื้นดินที่มีอุณหภูมิติดลบหลายองศา อย่างไรก็ตามยังมีนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อว่ามิสเตอร์วิลฟอร์ดผู้ประดิษฐ์คิดค้นขบวนรถไฟความยาวกว่า 1001 โบกี้ที่ใช้เวลาเดินทางรอบโลกภายในเวลา 133 วัน เพื่อรักษาอุณหภูมิของสิ่งมีชีวิต ตัวรถไฟจึงต้องมีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาโดยไม่มีวันหยุดพัก

บน 1001 โบกี้ผู้โดยสารจะถูกแบ่งออกตามชนชั้น วรรณะ และเนื่องด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ย ทำให้มนุษย์บนรถจักรดังกล่าวไม่ได้รับความเท่าเทียมกันตามระบอบประชาธิปไตยอย่างที่พวกเขาเคยรู้จักหรือคุ้นชินมาก่อนภาวะโลกล่มสลาย

เมลานี คาวิลล์ (เจนนิเฟอร์ คอนเนลลี่) คือหัวหน้าฝ่ายบริการต้อนรับของสโนว์เพียร์ซเซอร์ อีกทั้งยังเป็นโฆษกประจำรถไฟในการประกาศข่าวสารในแต่ละวันที่ผู้โดยสารจำเป็นต้องรับทราบ งานของเธอไม่ใช่แค่เพียงต้องรับมือกับผู้โดยสารชั้นหนึ่งที่หัวขบวนรถไฟแต่ยังรวมไปถึงท้ายขบวนที่เป็นกลุ่มพวกลักลอบขึ้นรถไฟขบวนนี้มาแบบไม่มีตั๋วโดยสาร ตลอดระยะเวลาที่ซีรีส์เรื่องนี้ดำเนินไป เราก็ยิ่งได้เห็นว่าเมลานีนั้น “เป็นมาก” กว่าแค่หัวหน้ารถไฟ แต่เธอแทบจะเป็นหัวใจและจักรกลหลักที่ขับเคลื่อนให้สโนว์เพียร์ซเซอร์ให้วิ่งต่อไปได้เรื่อยๆโดยไม่ตกรางกลางทางไปเสียก่อน

ขณะที่อันเดร เลย์ตัน (ดาวีด ดิกส์) อดีตนักสืบซึ่งเขาเป็นหนึ่งในผู้โดยสารท้ายขบวนที่ขึ้นรถไฟมาแบบไม่มีตั๋วเดินทาง เขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจะลุกขึ้นปฏิวัติการปกครองของรถไฟนี้อยู่เต็มแก่ ไม่นานนักเขาก็ได้รับข้อเสนอจากทางเมลานี คาวิลล์ในการให้ช่วยสืบคดีฆาตกรรมผู้โดยสารหัวขบวน เลย์ตันรู้ทันทีว่านี่คือโอกาสที่เขาจะขยายแผนการปฏิวัติที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้าให้สำเร็จ

ตัวละครหลักที่เป็นตัวชูโรง Snowpiercer ให้น้ำหนักสำคัญคือเมลานี คาวิลล์และอันเดร เลย์ตัน ที่เปรียบเสมือนเป็นขั้วตรงข้ามระหว่างแนวคิดในเชิงการเมืองอย่างชัดเจน สำหรับในมุมมองของเมลานีนั้น เธออาจจะปกครองและดูแลผู้โดยสารแต่ละคนในรูปแบบเผด็จการ (และตามฐานะทางการเงิน) ในขณะที่เลย์ตัน ต้องการความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรของขบวนรถไฟเฉกเช่นผู้โดยสารในชนชั้นอื่นๆ แบบระบอบประชาธิปไตย

ประเด็นสำคัญเราต้องวกกลับมาที่มีการมีอยู่ของขบวนรถไฟสโนว์เพียร์ซเซอร์ ว่าเครื่องจักรดังกล่าวถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นพาหนะในการเอาชีวิตรอดสุดท้ายของมวลมนุษยชาติ ดังนั้นการขายตั๋วโดยสารจึงเป็นปัจจัยหลักที่ผู้โดยสารบนขบวนรถไฟจำเป็นจะต้องมี แต่เมื่อมีคนที่อยากรอดชีวิตบางกลุ่มได้แอบลักลอบขึ้นมาบนรถไฟ ดังนั้นเราจึงต้องพิจารณาความถูกต้องในแง่ของหลักตรรกะและความเป็นไปได้ว่าจริงๆแล้วรถไฟขบวนนี้ไม่ได้เป็นทางรอดชีวิตแบบเรือโนอาห์ตามพระคัมภีร์ไบเบิ้ล แต่มันคือการใช้เงินตราซื้อลมหายใจให้กับชีวิตมนุษย์มากกว่าความถูกต้องตามระบอบจริยธรรม

แน่นอนว่าในฐานะมนุษย์คนหนึ่งทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องการจะมีชีวิตรอด มีปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ทัดเทียมกับผู้คนอื่นๆในสังคม แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นบนขบวนรถไฟสโนว์เพียร์ซเซอร์นั้นเริ่มต้นจากการปฏิวัติของคนที่ลักลอบขึ้นมาบนรถไฟขบวนนี้อย่างไม่ถูกต้อง ดังนั้นน้ำหนักที่เราจะรู้สึกเห็นอกเห็นใจพวกเขาจึงถูกลดทอนลงไปตามระยะเวลาที่ซีรีส์นี้ได้เผยให้เห็นมุมมองของทั้งฝั่งเมลานีและเลย์ตัน ว่าตกลงแล้วพวกเขากำลังต่อสู้อยู่กับอะไรกันแน่ระหว่างอุดมการณ์หรือการทำให้รถไฟขบวนนี้ยังสามารถวิ่งต่อไปได้โดยไม่ตกราง

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างเวอร์ชั่นหนังขนาดยาวของบง จุนโฮ ที่เหมือนจะวางตัวละครให้ค่อนข้างเป็นขาวกับดำที่ชัดเจน ทำให้ผู้ชมเลือกจะเอาใจช่วยตัวละครฝั่งท้ายขบวนมากกว่า แต่ในขณะที่เวอร์ชั่นซีรีส์ค่อนข้างทำให้ผู้ชม “เข้าใจ” สภาวะแวดล้อมที่ตัวละครทั้งสองฝั่งต้องเผชิญ จนบางทีเราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าก็แอบเอาใจช่วยให้เมลานีสามารถจัดการกับความวุ่นวายบนขบวนรถไฟนี้ให้ดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น เพราะท้ายซีซั่นแรกผู้ชมก็เริ่มจะมองเห็นด้วยซ้ำว่าในสภาวะ “ไร้ระเบียบ” นั้นนำมาซึ่งปัญหาอะไรบ้างและลุกลามบานปลายขนาดไหน

ซีรีส์ Snowpiercer ตอนนี้มีครบทั้ง 10 ตอนแล้วทาง Netflix ซึ่งดูแล้วได้อะไรให้คิดตามบ้างก็อย่างลืมแวะมาคุยกันนะครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook