การต่อสู้ของโรงหนังในวันที่ฮอลลีวูดไม่ปล่อยหนังมาเข้าฉาย

การต่อสู้ของโรงหนังในวันที่ฮอลลีวูดไม่ปล่อยหนังมาเข้าฉาย

การต่อสู้ของโรงหนังในวันที่ฮอลลีวูดไม่ปล่อยหนังมาเข้าฉาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ว่างโรงภาพยนตร์จะกลับมาเปิดให้บริการคนไทยเป็นเวลากว่าสองเดือนแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความคึกคักบริเวณหน้าโรงภาพยนตร์นั้นค่อนข้างเงียบเหงากว่าช่วงเวลาก่อนโควิด-19 แพร่ระบาดอยู่ไม่น้อย เราลองไปแวะเวียนดูกันดีกว่าโรงหนังสองเจ้าใหญ่ในไทยพยายามจะหาวิธีการอะไรให้ผู้ชมกลับเข้าโรงหนังอีกครั้งกันบ้าง

 

Mpass ปะทะ SF+ Unlimited

 

 

 

Mpass กับดูหนังแบบบุฟเฟ่ต์

แม้ว่าทางฝั่งเครือเมเจอร์จะนำร่องการทำบัตร Mpass หรือบัตรดูหนังรายเดือนในราคา 300 บาท (สำหรับบุคคลทั่วไป) มาตั้งแต่ปี 2562 แล้วก็ตาม แต่ด้วยข้อจำกัดของ “จำนวนสาขา” ที่สามารถใช้บริการได้มีแค่เพียงสาขาเมเจอร์รัชโยธิน เมเจอร์สุขุมวิท-เอกมัย เมเจอร์รังสิต เอสพลานาดรัชดา เอสพลานาดงามวงศ์วาน-แคราย เท่านั้น ทำให้จำนวนของผู้ชมที่ทำบัตรเหล่านี้ส่วนมากแล้วเป็นกลุ่มเฉพาะ “คนรักหนัง” หรือคนที่ค่อนข้างมีเวลาว่างในการใช้เวลาดูหนังมากกว่า 1 เรื่องต่อสัปดาห์

หากจะจำกัดความคนรักหนัง คือคนที่สามารถใช้เวลาอยู่ในโรงภาพยนตร์มากกว่า 2-3 ชั่วโมงและดูหนังในทุกรูปแบบ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงหนังฟอร์มยักษ์หรือหนังบล็อกบัสเตอร์จากฮอลลีวูด หนังฟอร์มเล็ก หนังอาร์ตเฮาส์ หรือกระทั่งหนังแปลกๆจากประเทศต่างๆทั่วทุกมุมโลกคนกลุ่มนี้ก็ไม่ลังเลที่จะดู

อย่างไรก็ตามข้อแม้ของการจ่ายเงินรายเดือน เดือนละ 300 บาท (ต่อเนื่องทุกเดือน 12 เดือน) อาจจะดูเป็นข้อผูกมัดเหมือนเราเป็นเมมเบอร์สมาชิกฟิตเนสก็ตาม แต่สำหรับคนรักหนังแล้วการชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ในถือได้ว่าให้อรรถรสที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อเทียบกับการนอนดูหนังทางสตรีมมิ่งที่มีปัจจัยรบกวนสมาธิในการดูหนังมากมาย อาทิ แชทไลน์จากโทรศัพท์มือถือ แม่เรียกลงไปกินข้าว หรือน้องหมาเกิดจะวิ่งขึ้นมาขย่มบนตัว

แต่หลังจากที่เมเจอร์ฯ กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ข้อจำกัดของบัตร Mpass ก็เปลี่ยนแปลงไป เมื่อ “จำนวนสาขา” ที่ร่วมให้บริการนี้เพิ่มมากขึ้นครอบคลุมเกือบทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมไปถึงจังหวัดที่เป็นหัวเมืองใหญ่ๆ ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการให้ผู้ชมรู้สึกว่าการกลับมาเข้าโรงหนังเป็นประจำนั้นไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว อีกทั้งโรงภาพยนตร์นั้นยังถือเป็น “ความบันเทิง” ที่ราคาย่อมเยาที่สุดนั่นเอง

รายละเอียดของบัตร http://www.majorcineplex.com/promotion/m-pass-regular-upgrade-2020

 

SF+ Unlimited มาทีหลังเพื่อลองตลาด

แม้จะปล่อยให้ MPass ครองตลาดบัตรรายเดือนมาพักใหญ่ๆ แต่ดูเหมือนว่า SF ก็อยากจะลองมาชิมลางการทำโปรโมชั่นในทิศทางเดียวกัน ซึ่งล่าสุดทางฝั่ง SF เลือกจะปล่อย SF+ แพ็กเกจดูหนังไม่อั้น ราคาพิเศษ 249 บาท แต่ระยะเวลาของโปรโมชั่นมีความยาวแค่เพียงวันที่ 8 สิงหาคม 2563 ถึง วันที่ 9 กันยายน 2563 (รวม 33 วันเท่านั้น) อีกทั้งยังมีเงื่อนไขในการใช้สิทธิ์ที่ถูกเพิ่มเข้ามาคือ สามารถใช้สิทธิ์ชมภาพยนตร์ได้ทุกเรื่อง (จำกัด 1 สิทธิ์/ 1 วัน และ 1 สิทธิ์/ 1 เรื่อง) ตลอดโปรแกรมฉาย นั่นหมายความว่า ใน 1 วันนั้นต่อให้มีหนังใหม่เข้า 5 เรื่อง ผู้ใช้สิทธิ์นี้ก็จะชมได้เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น ถ้าหากจะชมเรื่องอื่นๆอีกต้องมาดูในวันอื่น ซึ่งเงื่อนไขนี้อาจจะไม่เหมาะกับคนที่มีเวลาว่างแค่วันเดียวและต้องการจะดูหนังรวดๆ ชนิด 2-4 เรื่องขึ้นไป (อารมณ์ประมาณว่ามาโรงหนัง 1 วันอยู่กันตั้งแต่เช้ายันดึก) แต่มองในอีกมุมก็คือตัวโรงหนังเองต้องการกระจายแบ่งปันจำนวนที่นั่งในโรงภาพยนตร์ให้มากขึ้น เนื่องจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมยังคงดำเนินอยู่ ทำให้จำนวนที่นั่งโรงภาพยนตร์เหลือแค่เพียง 25-40% เท่านั้น

และเมื่อมองถึงสถานที่ตั้งของโรงภาพยนตร์ในเครือ SF เองที่เป็นโรงภาพยนตร์ที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าเป็นส่วนใหญ่ จึงถือได้ว่า “เป็นรอง” โรงภาพยนตร์สแตนอโลนของเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ ปัจจัยสำคัญคือโรง SF นั้นจำเป็นต้องจ่าย “ค่าเช่าพื้นที่” ให้กับอาคารที่โรงภาพยนตร์ในเครือ SF ตั้งอยู่ เมื่อพิจารณาไปถึงต้นทุน กำไรและโอกาสขาดทุน SF จึงจำเป็นต้องเดินหมากในเกม “บัตรรายเดือน” ให้รอบคอบและถ้วนถี่ เพราะในระยะยาวแล้วหากโปรโมชั่นนี้ยังคงดำเนินต่อไป นั่นหมายถึงรายได้ที่ลดลงของตัวโรงหนังด้วยนั่นเอง

รายละเอียดบัตร https://www.sfcinemacity.com/promotion/promo-1055

 

มีบัตรเดือนไปแต่เมื่อหนังที่เข้าฉายไม่ดึงดูดก็ทำให้เราไม่อยากเข้าโรงเช่นกัน

สารภาพกันตามตรงว่าตัวผู้เขียนเองก่อนโควิด-19 ระบาดก็ถือบัตร Mpass รายเดือนไว้เช่นกันและหลังจากมีบัตรนี้ก็เรียกได้ว่าไม่ได้ไปร่วมชมภาพยนตร์ในรอบสื่อมวลชนเลยทั้งนี้เพราะความสะดวกในการเดินทาง รอบเวลาที่อาจจะได้ดูหนังช้ากว่ารอบสื่อหน่อยแต่เหลือเวลาในการทำงาน เวลาในการทำกิจกรรมอย่างอื่นมากขึ้น บัตรนี้ก็ตอบโจทย์เราได้เป็นอย่างดี แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ก็คงต้องบอกว่าบรรดา “หนังใหม่” ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์นั้นหลายๆเรื่องไม่ได้อยู่ในความสนใจของเรา ไม่ว่าจะเป็นแอนิเมชั่น หนังไทยฟอร์มเล็ก รวมไปถึงหนัง VOD จากฝั่งต่างประเทศ ซึ่งว่ากันตามตรงว่าต่อให้เราอยากจะเข้าโรงภาพยนตร์แค่ไหนแต่เมื่อความน่าสนใจของตัวหนังไม่เพียงพอ เราก็ไม่อยากจะเสียเวลาในการเดินทางไปชมภาพยนตร์อยู่ดี ทำให้ตัวผู้เขียนเองตัดสินใจยกเลิกบัตรสมาชิก Mpass ไปชั่วคราว

อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าหลังจาก Train to Busan Peninsula กลับมาเข้าฉาย ทำให้โรงหนังกลับมาคึกคักอีกครั้ง เมื่อพิจารณาจากรายได้ที่ตอนนี้หนังสามารถทำเงินไปแล้วกว่า 29 ล้านบาท ก็พอเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่า คนไทยพร้อมที่จะกลับไปนั่งชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์กันอยู่แล้ว เพียงแต่พวกเขาอาจจะเฝ้ารอหนังฟอร์มยักษ์ที่จะกลับมาเข้าฉายอยู่นั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook