Wet Season ในโรง และหนังสิงคโปร์อื่นๆ ใน Netflix โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

Wet Season ในโรง และหนังสิงคโปร์อื่นๆ ใน Netflix โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

Wet Season ในโรง และหนังสิงคโปร์อื่นๆ ใน Netflix โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สิงคโปร์มีคนทำหนังรุ่นใหม่ๆ สลับขึ้นมาอยู่ในสปอตไลท์ในช่วงหลายปีหลัง ไม่ว่าคุณจะคุ้นเคยกับภาพยนตร์จากเกาะแห่งความศิวิไลซ์แห่งนี้อยู่แล้ว หรือยังนึกภาพหนังสิงคโปร์ไม่ออก เดือนนี้เป็นเดือนแห่งหนังสิงคโปร์ก็ว่าได้ เพราะสัปดาห์นี้ หนังดังของสิงคโปร์ Wet Season ในคิวเข้าโรงฉายในกรุงเทพ ส่วนใน Netflix ตลอดเดือนนี้และเดือนหน้าจะปล่อยหนังสิงคโปร์เหยียบร้อยเรื่องออกมา (ใช่ครับ เกือบร้อยเรื่อง) มีย้อนกลับไปถึงหนังในช่วงทศวรรษที่ 1990 ทั้งหนังตลาดป๊อปปูลาร์และหนังอินดี้ นับเป็นการสรุปประวัติศาสตร์หนังสิงคโปร์ร่วมสมัยฉบับย่อได้ประมาณนึง

เริ่มจาก Wet Season กันก่อน สรุปความกันแบบกำปั้นทุบดิน หนังเรื่องว่าด้วยเด็กมัธยมที่ตกหลุมรักคุณครู จากความห่วงใยอาทรแบบครู-ลูกศิษย์ เลยเถิดไปสู่เรื่องอื่นๆ อันนำมาซึ่งความสะเทือนใจและบอบช้ำในชีวิต

พล็อตประมาณนี้ไม่ใหม่ และเดาไม่ยากว่าหนังจะพาเราไปทางไหน แต่ผู้กำกับ แอนโธนี่ เฉิน ทำให้ Wet Season อบอวลด้วยความละเอียดอ่อน และเล่าเรื่องจากมุมมองของครูวัยสามสิบปลาย ได้อย่างเข้าอกเข้าใจ ประกอบด้วยรายละเอียดทางอารมณ์และทางสังคมอื่นๆ ที่ทำให้หนังสะเทือนใจไม่น้อย ที่สำคัญที่สุดเลยคือการแสดงของ โย หยานหยาน นักแสดงมาเลเซียเชื้อสายจีน ที่แสดงเป็นคุณครู ถ้าไม่ได้นักแสดงที่เข้าอกเข้าใจตัวละครขนาดนี้ รับรองว่านี่จะกลายเป็นหนังรักต่างวัยดาดๆ เรื่องหนึ่งไปเลย

หยานหยาน แสดงเป็น ครูหลิง เธอเป็นคนมาเลเซีย (เหมือนดาราที่แสดง) ที่แต่งงานกับคนสิงคโปร์และข้ามมาทำงานที่นี่ เธอสอนวิชาภาษาแมนดาริน ซึ่งหนังทำให้เห็นว่านี่เป็นวิชาที่คนในโรงเรียนเห็นว่าไม่จำเป็น จะเรียนจะสอนไปทำไม “มันก็แค่ภาษาจีน” ครูใหญ่ยังว่า ครูหลิงยังต้องดูแลพ่อตาที่แก่ชราช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และตัวเธอเองยังประหวั่นใจกับการที่เธอไม่มีลูกเสียที ความอัดอั้นทั้งหมดนี้นำพาไปสู่การที่เธอเกิดไปสนิทกับเด็กนักเรียนมัธยมวัย 16 ชื่อ เหว่ยหลุน ผู้แสดงออกว่าเขาสนใจวิชาภาษาจีนของเธอ เหว่ยหลุนยังเป็นเด็กที่พ่อแม่ทิ้งๆ ขว้างๆ ไม่ได้ใส่ใจดูแล จนทำให้ครูหลิงค่อยๆ กลายสภาพเป็นผู้ดูแล เป็นเพื่อน พี่สาว หรือตัวแทนแม่ไปเลย

หนังเรื่องก่อนหน้าของผู้กำกับคนนี้ คือหนังสิงคโปร์ที่โด่งดังที่สุดในรอบ 10 ปี Ilo Ilo เป็นหนังว่าด้วยคนรับใช้ชาวฟิลิปปินส์ในบ้านชนชั้นกลางของสิงคโปร์ หนังได้รางวัล Camera d’Or รางวัลสำหรับคนทำหนังใหญ่เรื่องแรก จากเทศกาลเมืองคานส์เมื่อปี 2013 ทำเอาสิงคโปร์ฉลองกันเอิกเกริก เพราะถือว่าเป็นรางวัลสูงสุดในประวัติศาสตร์หนังของประเทศเล็กๆ ที่ไม่ได้ทำหนังมากมายในแต่ละปี

ท่ามกลางเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างครูกับลูกศิษย์ Wet Season ยังคงพูดถึงเรื่องความเป็นคนนอกของครูหลิง การเป็นคนมาเลเซีย (จีน) ที่ต้องมาอยู่ในสิงคโปร์ ต้องตอบสนองค่านิยมแบบสิงคโปร์ และความรู้สึกเคว้งคว้างกลางเมืองใหญ่ของเธอเมื่อสภาวะภายในของตนถูกสั่นคลอน ใครจะว่าสิงคโปร์-มาเลเซีย ใกล้กันแค่โยนหินถึง แต่ช่องว่างทางสังคมวัฒนธรรมของคนทั้งสองประเทศบางครั้งห่างกันเท่ามหาสมุทร

นอกจากหนังใหม่อย่าง Wet Season เดือนนี้และเดือนหน้า Netflix จะปล่อยหนังสิงคโปร์อื่นๆ อีกนับร้อยเรื่องลงเมนู ทั้งหนังเทศกาลอย่าง Ilo Ilo, Sandcastle (เรื่องนี้แนะนำ) ยังมีหนังของผู้กำกับคนสำคัญ เอริค คู เรื่อง My Magic และ Meepok Man หนังหนังผี The Maid และหนังโรงแมนติกที่มีดาราไทย อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม แสดงนำ The Leap Year นอกจากนี้ยังมีชุดหนังตลกเสียดสีของผู้กำกับ แจ๊ค เนียว ผู้ล้อเล่นกับความเคร่งครัดและค่านิยมชนชั้นกลางสิงคโปร์ อย่าง I Not Stupid (เคยเข้าโรงในไทยเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน), I Not Stupid Two และ Where Got Ghost? ที่แนะนำเช่นกันคือหนังของผู้กำกับ รอยสตัน ตัน คนทำหนังสิงคโปร์ยุคบุกเบิกตลาดอินดี้ เช่นเรื่อง 881, 12 Lotus รวมทั้งหนังค่อนข้างใหม่ที่ลง Netflix ไปแล้วสักระยะ อย่าง A Land Imagined และ Yellow Bird ทั้งสองเรื่องเป็นหนังที่แสดงถึงเสี้ยวชีวิตแรงงานพลัดถิ่น และคนปากกัดตีนถีบในสิงคโปร์ อันเป็นภาพที่ไม่คุ้นเคยนักสำหรับคนที่มักมองว่าสิงคโปร์เป็นแดนศิวิไลซ์ร่ำรวย แบนราบไร้มิติ ซึ่งเป็นภาพลวงตาที่กล่อมคนทั้งโลกได้สำเร็จมาเป็นเวลาแสนนาน

 

เกี่ยวกับผู้เขียน
ก้อง ฤทธิ์ดี
นักเขียน/นักวิจารณ์ภาพยนตร์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมากว่า 25 ปี

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ Wet Season ในโรง และหนังสิงคโปร์อื่นๆ ใน Netflix โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook