“ตัวแม่” ในโลกของละคร โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์

“ตัวแม่” ในโลกของละคร โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์

“ตัวแม่” ในโลกของละคร โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สวัสดีเดือนสิงหาคม แม้จะเปิดเดือนมาด้วยข่าวที่ไม่ดีหลายอย่างเลยนะแม่ เหนื่อยอกเหนื่อยใจกับเรื่องรอบตัวอะไรเบอร์นั้นแม่ แต่เดือนนี้อ่ะแม่ เราก็คงเข้าใจกันดีว่ามันเป็นเดือนแห่งแม่ อ่ะแม่...เอ๊ะ และใช่ค่ะ เดือนสิงหาคม ยังมีวันสำคัญตามกำหนดการเดิมคือวันแม่แห่งชาติ พอพูดถึงเรื่องแม่ๆ เทยก็พอจะนึกถึงตัวแม่แซ่บๆ หลากหลายตัวละคร ที่น่าจะชวนเมาท์มอยกันกรุบ

มาค่ะ เรามาเมาท์เรื่องแม่ๆ ในโลกละครกันดีกว่า

จริงๆ แล้วคำว่า “ตัวแม่” ซึ่งเป็นภาษากะเทยนั้น ปั้นแต่งมาจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยเรา ก็คือเรานับถือความเป็นแม่ ยกย่องแม่ ผู้ที่ให้กำเนิดเรา แต่พอยุคสมัยเปลี่ยน สำหรับชาวเราและผู้มีความกะเทยในตัว ก็มักจะเรียกบุคคลที่มีชื่อเสียง นักแสดง และบุคคลที่สร้างเรื่องราวตั่งต่าง ให้กำเนิดตำนานที่ยังมีชีวิตขึ้นมา เราล้วนเรียกว่าแม่ทั้งนั้น ในโลกของละครก็เช่นกัน เราล้วนมีตัวละครที่เป็นตัวแม่ ควรค่าแก่การยกขึ้นไว้เช่นกัน

 

ดร.วิกานดา / เมียหลวง

แม้ว่า “เมียหลวง” บทประพันธ์ของ กฤษณา อโศกสิน จะถูกผลิตเป็นละครมาสามเวอร์ชั่นแล้ว แต่ความอร่อยของ “แม่” ที่ชาวเราชาวยกขึ้นหิ้ง ก็ต้องเป็น ดร.วิกานดา ในเวอร์ชั่นของพี่ป๊อก ปิยธิดา กับการเป็นวิกานดาที่นิ่งขรึม สุขุม น้ำเสียงที่เรียบเย็น และมองเมียน้อยอย่างอรอินทร์เวอร์ชั่นอั้ม อย่างไม่หวั่นเกรง กับวลีเด็ดที่ว่า “ถ้าชั้นอยู่ต่ำกว่านี้อีกนิดเดียว ชั้นจะตบคุณให้คว่ำไปต่อหน้าต่อตาคนมากๆ และจิกหัวขึ้นมาประจานความหน้าด้านไร้ยางอายของคุณ” หูย… แรงมากเลยแก

อย่างไรก็ตาม คาแรกเตอร์ ดร. วิกานดา ในทุกเวอร์ชั่น เป็นต้นตำรับเมียหลวงที่อยู่บนมาตรฐานที่คนไทยจะชอบเอามากๆ กับความเป็นเมียที่ไม่ได้นั่งอยู่บ้านเลี้ยงลูก แต่เป็นถึงอาจารย์มหาวิทยาลัย มีลูกศิษย์ และคนใต้บังคับบัญชาที่เคารพยำเกรง และยิ่งไปกว่านั้น ความนิ่งสงบ สยบความมั่นหน้ามั่นใจของ อรอินทร์ ที่มาแย่งสามีไป แต่ก็สามารถระงับความโกรธ แต่ก็ยังเชือกเฉือนได้อย่างดีเนี่ย มันเอร็ดอร่อย จนต้องยกตำแหน่งแม่ให้ไปซะหนึ่งค่ะ

เรยา / ดอกส้มสีทอง

ทางฝั่งเมียน้อย ก็ไม่น้อยหน้า อรอินทร์ เอง แม้จะตอบโต้ ดร.วิกานดา ได้อย่างถึงเครื่อง แต่ในโลกของเมียน้อยนั้น คนที่ยืนหนึ่งยืนแรง ก็ต้องยกให้กับ “เรยา วงเสวต เสว๊ตอะไรเนี่ย” ที่รับบทโดยคุณแม่ของวงการอีกที อย่าง ชมพู่ อารยา ที่การฟาดฟันฝีปาก และต่อสู้กับ เด่นจันทร์ ที่เป็นเมียหลวงมาเฟีย นี่ก็อร่อยอย่างหาคนมาเปรียบเทียบได้ยาก และ เรยา ยังเป็นต้นตำรับผู้หญิงอยากเป็นใหญ่ ไต่เต้าหากินได้อย่างสมศักดิ์ศรี กับประโยคเด็ดอย่าง “ทำไม เป็นลูกทูตแล้วมันยังไง มันวิเศษวิโสไม่เดินติดดินเหมือนคนอื่นหรือยังไง”..... แซ่บ!!!

เรยา เป็นภาคต่อของ “มงกุฎดอกส้ม” ชื่อของเธอ ถูกตั้งให้โดย “คำแก้ว” นางเอกของภาคก่อน ซึ่งตัวละคร เรยา เป็นกระจกสะท้อนต่อ “เจ้าสัวเช็ง” ผู้ชายที่มากเมียและมีอำนาจ หากกระจกสะท้อนกลับด้วยเรื่องราวของผู้หญิงที่จะมากผัว เผื่อไต่ขึ้นสู่อำนาจอีกที จะเป็นอย่างไร เนี่ย จะไม่ให้เรียกว่าแม่ ก็ไม่ได้ละป่ะ

ภัสสร / เลือดข้นคนจาง

การต่อสู่ของอีกหนึ่งคุณแม่ ก็ต้องไปดูอีกครอบครัวเช่นกัน กับครอบครัว จิรอนันต์ จาก เลือดข้นคนจาง คุณแม่ภัสสร ซึ่งรับบทด้วย แม่แหม่ม คัทลียา กับบทบาทลูกสาวคนที่สองจากครอบครัวคนจีน ผู้เป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมจิรามันตรา ภัสสรเป็นลูกสาวในครอบครัวคนจีน ซึ่งให้คุณค่าลูกชายมากกว่า และเพราะปมการตายของ ประเสริฐ พี่ชายคนโตของตระกูล ทำให้เธอตกเป็นเป้าของสังคมและกลายเป็นผู้ต้องหา เนื่องจากพฤติกรรมที่ไม่น่าไว้ใจหลายอย่างตอนเธอพบศพผู้ตาย รวมถึงความขัดแย้งที่เธอมีกับประเสริฐก่อนหน้านั้นกับวลีเด็ด “แล้วชั้นไม่ใช่ลูกป๊าเหรอ วันนี้มาบอกชั้นไม่ใช่คนในครอบครัวนี้ พูดออกมาได้ เฮงซวย” อร่อยมากแม่ และยิ่งไปกว่านั้น ความขัดแย้งในเรื่องเข้มข้นเบอร์นี้ ภัสสรยังต้องดูแลลูกชายอีกสี่คนไปพร้อมกับดูแลธุรกิจของครอบครัวด้วยล่ะเธอ ต้องให้นะ

เลือดข้นคนจาง เป็นเรื่องราวที่สะท้อนค่านิยมคนจีนออกมาได้อย่างเข้มข้น เนื่องจากค่านิยมแบบคนจีน จะยกย่องลูกชายมากกว่าลูกสาว เพราะลูกชายถือเป็นคนที่จะสืบแซ่สืบสกุลนั่นล่ะ เพราะงั้นลูกสาวอย่างภัสสร เลยต้องสู้มากกว่า ทำตัวให้เก่งกว่า กลายเป็นอีกหนึ่งแม่ หนึ่งตำนานแห่งการสู้ยิบตาเลยก็ว่าได้เธอ

พริ้ง / คนเริงเมือง

แทบจะเป็นตัวแม่ตัวเดียวที่ไม่จำกัดว่าจะเป็นเวอร์ชั่นไหน ก็ยังเผ็ดสะเด็ดสะเด่าไปเสียทุกเวอร์ชั่นจริงๆ กับคนเริงเมือง ที่ในโลกละคร ก็รับบทกันแซ่บๆไว้ ก็มีแม่ ใหม่ เจริญปุระ กับ จั๊กจั่น อคัมย์สิริ ซึ่งเล่นบทบาทของ พริ้ง กับไว้คนละแบบ แต่สิ่งที่ไม่ว่าเวอร์ชั่นไหนจะแสดงออกมา ก็จะมีความละม้ายคล้ายกันคือ “ความเริงเมือง” ชนิดไร้ขีดจำกัดของเธอนั่นเอง พริ้ง เป็นหญิงสาวที่พร้อมจะเริ่มต้นใหม่กับผู้ชายที่เธอเห็นผลประโยชน์เสมอ แต่ที่น่าคิดคือ เธอไม่เคยเป็นเมียน้อยใครซะด้วย หากแต่แต่งงานหลายหน มีความสัมพันธ์กับผู้ชายหลายคน แถมยังตอกหน้าแนวคิดคร่ำครึของคนที่ดีแต่จะหาประโยชน์กับคนอื่น ไม่ว่าจะกับคุณหญิงแม่สามีของเธอ กับประโยคแซ่บๆ “สมัยนี้อ่ะ เป็นยุคประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการคิดแล้ว อย่ามามัวแต่คร่ำครึ รัฐท่านจะว่าเอาได้ ว่าเราเป็นไดโนเสาร์เต่าล้านปี เป็นทาสในเรือนเบี้ย เป็นตัวถ่วงความเจริญของชาติบ้านเมือง” โอ้โห… ด่าในระบอบประชาธิปไตยที่แท้ทรู

ความน่าสนใจคือ พริ้ง วิ่งผ่านเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองของบ้านเราด้วย อย่างเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 และเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ละครไม่กี่เรื่องในบ้านเรา จะพูดถึงประวัติศาสตร์ในแง่มุมของผู้หญิงที่เป็นชนชั้นล่างด้วยล่ะ

แม่แย้ม แม่ย้อย แม่สำเภา / จักรวาลแม่ผัว

ไม่พูดถึงได้ยังไง กับฝีปากเหลือร้ายกับสามแม่ผัวส่งตรงจากนครสวรรค์ แม่แย้ม จาก สุดแค้นแสนรัก, แม่ย้อย จาก กรงกรรม และ แม่สำเภา จาก ทุ่งสเน่หา สามแม่ที่หลุดมาจากยุคสงครามเย็นยุค 80’s เมืองไทยชนบทท้องทุ่งนา ที่ทั้งสามพยายามจะปกป้องทรัพย์สมบัติของสามี และรักษาลูกหลาน และครอบครัวเอาไว้ให้คงสภาพเดิมไว้ให้มากที่สุด แม่แย้ม ที่แค้นฝังใจกับอีกตระกูล ยอมทำทุกอย่าง เพื่อให้ตระกูลขอตัวเองชนะบ้านอื่นให้ได้ เขามี บ้านเราต้องมีมากกว่า สาปแช่งเช้าเย็นให้กับบ้านที่มันทำบ้านเรา จนทำให้ลูกหลานต้องตกที่นั่งลำบาก หรือจะไปดูพี่สาวของนางอย่างแม่ย้อย ที่รักลูกหวงลูกไม่ต่างอะไรจากน้องสาว แถมกีดกันลูกสะใภ้ ไม่แบ่งไม่จัดการอะไรให้เท่ากัน สองพี่น้องนี้ว่าเหลือร้ายแล้ว ชายทุ่งใกล้ๆ กันอย่าง แม่สำเภา นี่ก็เจ็บไม่แพ้กัน แม่สำเภาก็คิดว่าความรักของคนเรามันจัดการได้ สลับคู่ สลับผลปรโยชน์ เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่ตัวเองต้องการ หูยยยยย ใครๆ ก็ลือกันไปสามบ้านแปดบ้าน ว่าแม่ผัวนครสวรรค์เนี่ย เลี่ยงได้เลี่ยงนะเออ

จักรวาลแม่ผัวทั้งสามเรื่อง สะท้อนให้เห็นว่าความเป็นแม่ในยุคสมัยนั้น ตั้งอยู่บนค่านิยมและความเชื่อที่ว่าผู้หญิง นางต้องเป็นผู้จัดการสิ่งต่างๆ ในบ้าน ดูแลบ้าน ดูแลลูก และผลประโยชน์ของลูก ผู้หญิงคนอื่นที่จะเข้ามาร่วมบ้าน จำเป็นจะต้องผ่านมาตรฐานของแม่ผัวเสียก่อน ชี้ได้ว่าผู้หญิงคนไหนดีไม่ดี และลูกชายในบ้าน ก็ต้องฟังชั้น เป็นอาณาจักรในบ้านที่ด่ากราดกันอร่อยซะไม่มีล่ะ อีกะหรี่!!!!

ยุคสมัยมันเปลี่ยน ความเป็นแม่มันก็เปลี่ยน ดังนั้นมันจะมาเป็นแม่เหมือนกันไม่ได้ เพราะแม่สมัยนี้ มันมีลูกอย่างเดียวไม่พอ มันต้องมีบ้าน มีรถ มีตำแหน่ง มีอาณาจักรถือครอง มีอำนาจได้ด้วยตัวเอง พึ่งผู้ชายบ้างไม่พึ่งผู้ชายบ้าง อาจจะพึ่งผู้ชายมากกว่าหนึ่งคนยังได้เลย ความเป็นมนุษย์แม่ มันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในบ้านอีกต่อไปแล้วล่ะเธอจ๋า

ดังนั้น ใครที่ให้กำเนิดความแซ่บระดับตำนาน เทยก็นับถือเป็นแม่ได้หมดนั่นแล อรรถรสมากแม่

 

เหยี่ยวเทย รายงาน

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ “ตัวแม่” ในโลกของละคร โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook