Tenet หนังเหลื่อมเวลา (แต่ไม่แสวงหาบทกวี) โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

Tenet หนังเหลื่อมเวลา (แต่ไม่แสวงหาบทกวี) โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

Tenet หนังเหลื่อมเวลา (แต่ไม่แสวงหาบทกวี) โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ยังคงเป็นมิติพิศวง เป็นการถกเถียง ถอดรื้อชิ้นส่วนเวลา แกะรอยตอบปัญหาฟิสิกส์ หน้าฟีดของเรายังเต็มไปด้วยปฏิกริยา คำอวย คำบ่น รีวิว แถมด้วยรีวิวของรีวิว เอากันให้มันสุดๆ ไปเลยกับ Tenet หนังใหม่ล่าสุดของ คริสโตเฟอร์ โนแลน หนังที่ถูกทำให้เป็นมากกว่าหนัง ทั้งจากความคาดหวังของแฟนๆ ที่รอแล้วรอเล่าหลังจากหนังถูกเลื่อนหลายรอบ และทั้งจากการแบกรับสถานะการเป็นหนังใหญ่ที่เชื่อว่าจะมาพลิกฟื้นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูดจากความโศกเศร้าจากไวรัส – และเท่ากับต้องพลิกฟื้นอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ทั้งโลกไปด้วย

หนักครับ โนแลน ที่ผู้เขียนรู้สึกมาตลอดว่าเป็นผู้กำกับมือหนัก ใน Tenet นี่หนักให้มันตกสเกลไปเลย พล็อตหนังอันว่าด้วยองค์กรลับที่ส่งมาเฟียค้าอาวุธโรคจิตอ่อนๆ มาขโมยชิ้นส่วนอุปกรณ์ (คล้ายๆ น๊อตหัวโตตัวใหญ่ๆ) ที่สามารถ invert เวลาได้ ไม่อยากใช้คำว่า “ย้อนเวลา” เพราะถึงมันจะย้อนจริงๆ ก็เถอะ แต่หนังเสนอไอเดียอันซับซ้อนว่าด้วยการ “เหลื่อมเวลา” ผกผันเอนโทรปี (ได้เวลากูเกิลกันครับ) โดยมีพระเอกและทีมงาน พยายามหยุดยั้งแผนการทำลายโลกครั้งนี้ นำไปสู่การวางแผนซ่อนเงื่อน และฉากต่อสู้ ไล่ล่า ตื่นเต้น ที่พลิกย้อนเวลาไปมา ผสมกับตัวละครเมียของผู้ร้ายที่หันมาเข้าข้างฝ่ายคนดี เพื่อช่วยลูกชายตัวเองจากเงื้อมมือผัวคลั่ง ฝ่ายพระเอกแสดงโดย จอห์น เดวิด วอชิงตัน ร่วมด้วย โรเบิร์ต แพททินสัน (ที่กำลังไปได้ดีมากในบทหลังๆ) ส่วนผู้ร้ายแสดงโดย เคนเนธ บรานาห์ (พูดสำเนียงรัสเซียกลั้วสระ) และนางเอกคือ เอลิซาเบธ เดอบิคกี ดาราอังกฤษ 

สนุกมั้ย ก็สนุกดี ฉากใหญ่นี่โนแลนทำได้ถึงอยู่แล้ว ทั้งระเบิดเครื่องบิน รถไล่ล่า ฉากจารกรรม ฯลฯ ที่พิเศษคือการที่ตัวละครในฉากเดียวกันไต่เส้นเวลาที่ต่างกัน บ้างเดินตามเวลาจริง บ้างถูก invert กลับมา ทำให้การทับซ้อนของมิติกลายเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าตื่นเต้นทางภาพ ที่เน้นๆ เลยคือฉากรถไล่ ที่บางคันวิ่งไปข้างหน้า บางคันวิ่งถอยหลัง ส่วนพล็อตเรื่องที่หลายคนเปรียบเทียบกับภารกิจเจมส์ บอนด์ ก็ตามนั้นอย่างที่คนจำนวนมาก (มาก) ได้ว่ากันไปหมดแล้ว

สำหรับผู้เขียน โนแลนในยุคตั้งแต่ Batman เป็นต้นมา (คือหลัง Insomnia) ได้ฝึกฝนฝีมือจนกลายเป็น blockbuster artist – เป็นคนทำหนังใหญ่สไตล์ฮอลลีวูดที่พยายามจะมีลายเซ็นของตัวเองชัดเจน แฟนๆ ที่ชื่นชอบยกย่องให้เป็นบิดาโน่นนี่ เสด็จโน่นนี่ก็มีให้เห็นตลอด แต่สำหรับหลายๆ คน (ที่ไม่ได้ปฏิเสธความเก่งในฐานะ “ช่างฝีมือ” และคนเขียนบทของโนแลน คือแกก็เขียนบทซับซ้อนได้เก่งและกล้าจริงๆ) โนแลนเป็นผู้กำกับที่ด้อยในด้านอารมณ์ความรู้สึก ไม่ละเมียดละไม และไม่สามารถสร้างตัวละครที่คนดูจะแคร์จริงๆ ได้ อาจจะมีบ้างในบางขณะ เช่นใน The Dark Knight หรือบางตอนใน Inception หรือเป็นเพราะว่า การเป็นนักคิดปริศนา นักสร้าง puzzle อันดับหนึ่งของฮอลลีวูด ทำให้หนังของโนแลน คร่ำเคร่งกับการ “อธิบาย” ความซับซ้อนของตัวเองจนเกินไป และใน Tenet นี่แหละที่ผู้เขียนรู้สึกว่า โนแลน หนักมือที่สุดกว่าทุกเรื่องที่ผ่านๆ มา

อ้าว แต่หนังบอกแล้วนี่นาว่า “Don’t try to understand it, just feel it” – นี่คือบทพูดจาก Tenet ที่คนอ้างอิงกันมากราวกับคาถา – ในตัวมันเองประโยคนี้ถูกต้องเลย เราดูหนัง เราต้อง feel หนัง feel ตัวละคร ไม่จำเป็นต้อง understand หรือเข้าใจทุกเม็ด แต่คำถามต่อไปคือ feel อะไร? ความตื่นเต้น ได้ ความสนุก ได้ ความลุ้น ก็ได้ ความฉลาด ยิ่งได้ แต่ Tenet ไม่ทำให้เรารู้สึกถึงอารมณ์ที่ลึกซึ้ง ไม่ได้เปิดสภาวะทางอารมณ์และการรับรู้ใหม่ ไม่ได้ทำให้เราเข้าถึงอารมณ์ของตัวละครและแรงผลักดัน ทั้งด้านมืดหรือสว่าง หรืออารมณ์ที่สื่อภาพยนตร์ในฐานะศิลปะน่าจะทำให้เรารู้สึก พูดอีกอย่างคือ หนังของโนแลน ไม่ได้มีความเป็นบทกวี แต่เป็นตำราที่เขียนได้สละสลวยหน่อยเท่านั้น อันนี้ต่างกับหนัง “อาร์ท” ที่เล่นกับแนวคิดเรื่องเวลาและการเคลื่อนผ่าน ยอกย้อนของกระแสธารความเป็นไป (ซึ่งเป็นลักษณะของหนังยุโรปมากกว่า) หนังของโนแลนเล่นกับ “เวลา” ในแบบฟิสิกส์ หรือแอสโตรฟิสิกส์ ต้นแบบคือไอน์สไตน์หรือนักวิยาศาสตร์รางวัลโนเบล ไม่ใช่แบบกวี วอลท์ วิทแมน (ที่หนังก็อ้างในรหัสลับที่พระเอกใช้) และไม่ใช่แบบปรัชญาหรือกวีนิพนธ์ ไม่ใช่เวลาในฐานะแนวคิดที่ abstract  – ซึ่งขอย้ำว่า การทำแบบนี้ไม่ได้ผิด ไม่ได้ด้อยค่า ไม่ได้ต่ำต้อยใดๆ ผู้เขียนเพียงเห็นว่า การเล่นกับเวลาแบบที่โนแลนชอบนั้น ไม่ได้เป็นการเคี่ยวกรำเอกลักษณ์ของสื่อภาพยนตร์ออกมาได้เต็มที่ และเป็นการมองภาพยนตร์จากมุมมองทุนนิยม มากกว่ามนุษย์นิยม

หลายคนบอกว่าจะกลับไปดูหนังซ้ำ เพื่อให้เข้าใจเรื่องถ่องแท้ อันนี้เข้าใจ การดู Tenet ซ้ำหลายๆ รอบ อาจจะคล้ายกับการที่เราต้องอ่านหนังสือหลายๆ รอบก่อนไปสอบเพื่อให้ตอบคำถามได้ ให้มันหายแคลงใจในปริศนาที่โนแลนซ่อนไว้ ไม่งั้นมันอึดอัดน่าดู แต่ส่วนตัว ผู้เขียนเชื่อว่า สิ่งที่สมควรอ่านซ้ำ ดูซ้ำ ประสบซ้ำ คือบทกวี เพราะเราสามารถอ่านบทกวีได้เป็นร้อยรอบโดยไม่เข้าใจทั้งหมด และไม่จำเป็นต้องเข้าใจทั้งหมดด้วย Tenet เป็นหนังสนุก อลังการ คุ้มค่าตั๋ว แต่คิดว่าดูรอบเดียวก็น่าจะรู้สึกถึงอารมณ์อันน้อยนิดที่สมควรจะรู้สึกแล้ว คิดว่าพอแล้ว และขอปล่อยให้นักแกะปริศนา นักทำข้อสอบ นักฟิสิกส์ และนักอื่นๆ ทำงานกันอย่างขันแข็งต่อไป

 

เกี่ยวกับผู้เขียน
ก้อง ฤทธิ์ดี
นักเขียน/นักวิจารณ์ภาพยนตร์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมากว่า 25 ปี

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ ของ Tenet หนังเหลื่อมเวลา (แต่ไม่แสวงหาบทกวี) โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook