รีวิว Tenet อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด

รีวิว Tenet อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด

รีวิว Tenet อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ต้องนับถือความกล้าหาญชาญชัยของตัวผู้กำกับอย่างคริสโตเฟอร์ โนแลนที่ตัดสินใจฉายหนังฟอร์มยักษ์ทุนสร้างราว 225 ล้านเหรียญฯ ซึ่งเปิดฉายในตลาดนอกประเทศอเมริกาก่อน 1 สัปดาห์ ส่วนในอเมริกาจะเข้าฉายวันที่ 3 กันยายนที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ตามโอกาสที่หนังจะประสบภาวะขาดทุนก็ถือได้ว่ามีสูงเนื่องจากตลาดโรงภาพยนตร์ยังไม่สามารถกลับมาเปิดรอบฉายได้มากตามปกติ แถมจำนวนที่นั่งในโรงภาพยนตร์จำกัดเช่นเดียวกัน

อย่างที่เรารู้ๆกันดี Tenet เป็นหนังที่ผู้ชมควรจะรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับหนังให้น้อยที่สุดแล้วเข้าไปทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงภาพยนตร์เอา แม้ว่าตัวหนังอาจจะดูทำความเข้าใจยากแต่ความเป็นจริงแล้วหนังของคริสโตเฟอร์ โนแลนแทบทุกเรื่องมีการวางแผน ทิ้งรายละเอียดเบาะแสเล็กๆน้อยๆ (Clue) เอาไว้ตลอดรายทางของเรื่อง ซึ่งทำให้คนดูที่หูไวตาไว มักจะจับทิศทางได้ประมาณหนึ่ง

พูดง่ายๆ Tenet อยู่ในกลุ่มหนังที่เรียกร้องสมาธิจากผู้ชมค่อนข้างสูง เป็นหนังในกลุ่มที่ต้องรับชมในโรงภาพยนตร์เท่านั้นเพื่ออรรถรสสูงสุด เพราะผู้ชมไม่อาจจะละสายตาหรือวอกแวกไปเหลือบมองจอโทรศัพท์หรือวิ่งออกไปเข้าห้องน้ำได้แม้แต่นาทีเดี๋ยว ซึ่งเราก็ต้องชื่นชมความ “เนี้ยบ” ของตัวผู้กำกับคริสโตเฟอร์ โนแลนที่สามารถตรึงผู้ชมให้โฟกัสอยู่กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเช่นกัน

แม้ทฤษฎีวิทยาศาสตร์ที่หนังพยายามอธิบายคนอื่น อ้างไปถึงหลักฟิสิกส์และทฤษฎีสัมพัทธภาพอันแสนน่าปวดหัว แต่หนังก็ไม่ได้ทำให้รายละเอียดเหล่านี้ดูย่อยยากและกลายเป็นอุปสรรคอันแสนหนักอึ้งสำหรับผู้ชม ถ้าเราพอจะค่อยๆเกาะเกี่ยวเรื่องราวไป ก็จะพบว่ามันเป็นสิ่งที่หนังเลือกจะหยิบมาอธิบายให้คนดูที่ไม่ได้เรียนจบสายวิทย์ดูหนัง “รู้เรื่อง” เช่นกัน

เอาเข้าจริงแล้วโครงสร้างของ Tenet คือหนังในตระกูลสายลับ 007 ที่ผสมผสานกับหนังวิทยาศาสตร์ว่าด้วยเส้นเวลาอันบิดเบี้ยวและจินตนาการที่ว่าด้วยการที่มนุษย์สามารถเดินทางข้ามเส้นเวลาจากอดีตไปยังปัจจุบันหรือเดินทางต่อไปยังอนาคตโดยที่สามารถเปลี่ยนแปลงรายละเอียดบางอย่างของประวัติศาสตร์โดยไม่ส่งผลต่อเหตุการณ์ในภาพรวมของจักรวาล

เหนืออื่นใดก็ตามเราจะพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครพระเอก (จอห์น เดวิด วอชิงตัน) และนีล (โรเบิร์ต แพททินสัน) เป็นตัวละครแนวคู่หูที่เกือบจะกระโดดข้ามไปเป็นตัวละครที่มีความสัมพันธ์แบบวาย อยู่ไม่น้อยเพราะช่วงเวลาท้ายเรื่องที่สถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลายและทำให้คนดูเข้าใจที่มาที่ไปทั้งหมด เกือบจะน็อคหมัดใส่คนดูให้น้ำตาไหลไปตามๆกัน

จะว่าไปแล้ว Tenet จัดได้ว่าเป็นหนังที่เล่น “ท่ายาก” กับคนดู ดังนั้นการทำความเข้าใจรายละเอียดทั้งหมดที่อยู่ในหนังเพียงรอบเดียวนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่หินเกินไปสักนิด แต่ถ้าใครชอบที่จะคิดตามหนังเยอะๆ ตามไปตกผลึกกับสิ่งที่หนังทิ้งรายละเอียดไว้ให้ผู้ชม การตามไปดูอีกสักรอบก็น่าจะเป็นหนทางที่ดีไม่น้อยครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook