9 เรื่องน่ารู้ ก่อนดู Mulan ฉบับคนแสดงของ Disney
![9 เรื่องน่ารู้ ก่อนดู Mulan ฉบับคนแสดงของ Disney](http://s.isanook.com/mv/0/ud/20/102733/102733-thumbnail.jpg?ip/crop/w1200h700/q80/jpg)
ได้เข้าฉายในที่สุดสำหรับภาพยนตร์ Disney Live Action ประจำปี 2020 ที่เป็นหนังฟอร์มยักษ์ระดับทุนสร้าง 200 ล้านเหรียญฯ Disney คาดหวังว่าจะเป็นความสำเร็จที่ “ห้ามล้มเหลวเป็นอันขาด” สำหรับการนำภาพยนตร์แอนิเมชัน 2 มิติสุดฮิตจากปี 1998 เรื่อง Mulan กลับมาปัดฝุ่นทำใหม่ แต่อุปสรรคใหญ่หลวงเกินคาดคิดก็คือ การมาถึงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้หนังต้องเลื่อนฉายจากกำหนดเดือนมีนาคมมาไกลถึงเดือนกันยายน และส่งผลให้อาจจะทำให้หนังไม่ได้กำไรกลับคืน
หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่เริ่มสร้างจนถึงวันที่ได้ฉายโรง (สำหรับในบ้านเรา) หนัง Mulan เองก็มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายในกระบวนการสร้าง รวมถึงดราม่าที่เกี่ยวกับตัวนักแสดง ซึ่งถ้าหากมองปัญหาแค่เฉพาะที่เบื้องหลังแล้วก็อาจจะสร้างขึ้นมาเป็นหนังได้อีกเรื่องหนึ่งทีเดียว วันนี้ What the Fact รวบรวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเบื้องหน้าและเบื้องหลังทั้งหมดที่เกิดขึ้นของ Mulan มาชวนอ่าน-ชวนวิเคราะห์เพื่อให้ไปดูหนังอย่างมีอะไรและดูให้สนุกขึ้นได้
ที่มาที่ไปของ “มู่หลาน” ตามตำนานจีน
สำหรับมู่หลาน (木蘭) หลายคนในจีนก็ยังเข้าใจว่า เป็นบุคคลที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์จีน ในขณะที่อีกกลุ่มก็ให้ความเป็นว่า เป็นเพียงเรื่องแต่ง มู่หลานถูกกล่าวถึงในบทกลอนเก่าที่สุดคือ “มู่หลานฉือ” (木蘭辭) หรือ “ลำนำมู่หลาน” (Ballad of Mulan) ซึ่งถูกรวบรวมอยู่ในบันทึกรวมเพลงโบราณที่มีอยู่ในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั้งเก่าและใหม่ในช่วงศตวรรษที่ 6 ราวปลายสมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581-618) หรือต้นราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) โดยถือกันว่า ตำราชุดนี้ได้สูญสลายไปตามกาลเวลาและไม่สามารถหาตัวอย่างหรือต้นฉบับได้แล้ว แต่ว่าในราวศตวรรษที่ 11 สมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960-1127) กวีนามว่า “กัวเม่าเฉียน” (郭茂倩) (มีชีวิตในปี ค.ศ. 1041-1099) ได้เขียนตำราชื่อ เยี่ยฝูชี (樂府詩) เพื่อรวบรวมเพลงและร้อยกรองต่าง ๆ โดยอ้างว่าได้นำเรื่องลำนำมู่หลานมาจากตำรากู่จินเยี่ยลู่อีกที เนื้อความในลำนำมู่หลานที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันนี้จึงมาจากฉบับที่กัวเม่าเฉียนเขียนอ้างอิงอีกที
![](https://s.isanook.com/mv/0/ud/20/102733/102733-20200905010007-a188ba7.jpg?ip/resize/w728/q80/jpg)
“ลำนำมู่หลาน” เดิมน่าจะเป็นเพียงเพลงร้องที่ชาวบ้านในศตวรรษที่ 4-5 ร้องกัน เพื่อปลุกเร้าความกล้าหาญว่า ถึงจะเป็นผู้หญิงอ่อนแอก็อาสาช่วยรบกับผู้ชายเพื่อปกป้องบ้านเมืองได้ เพราะในช่วงนั้นจีนต้องรบรากับพวกกลุ่มอานารยชนภายนอกบ่อยครั้ง โดยในช่วงแรกเข้าใจว่าเรื่องราวมู่หลานอาจอิงกับแนวคิดแบบชนเผ่าและความเสียสละเพื่อชนเผ่ามากกว่าความกตัญญู โดยเล่าถึงวีรกรรมของสตรีชนเผ่านางหนึ่ง มีชีวิตอยู่ในยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ (ค.ศ. 420-589)
เธออาสาปลอมเป็นชายไปรบแทนพ่อที่ชราและน้องชายที่ยังเล็ก ออกเดินทางข้ามแม่น้ำและภูเขากว่าพันลี้เพื่อเข้าร่วมกองทัพของข่านแห่งราชวงศ์เว่ยเหนือ สงครามดำเนินไปถึงสิบกว่าปีจึงสิ้นสุด สร้างความดีความชอบไว้มากมาย ข่านต้องการมอบตำแหน่งเลขาธิการกองทัพให้ แต่เธอกลับขอเพียงม้าตัวหนึ่งเพื่อขี่กลับบ้าน เมื่อถึงบ้านจึงได้จัดแจงแต่งกายคืนตามเพศจริง เพื่อนทหารหนุ่มที่ตามมาส่งต่างตกใจว่า รบร่วมกัน 12 ปี กลับไม่รู้ว่ามู่หลานคือสตรี (อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมได้ที่ “สตรีที่ออกรบแทนบิดา จนถึงสตรีที่ฆ่าตัวตายเพราะไม่อยากเป็นสนม “มู่หลาน” กับเรื่องเล่าสุดอลหม่านก่อนจะมาถึงฉบับหนังดิสนีย์“)
การปรากฏตัวของ “มู่หลาน” ในฉบับภาพยนตร์
มู่หลานปรากฏตัวครั้งแรกบนแผ่นฟิล์มเป็นลักษณะการเล่นงิ้วหน้ากล้องในหนังชื่อ Hua Mulan cong jun (1927) แล้วก็ถูกผลิตซ้ำอยู่อีกหลายหน เปลี่ยนนักแสดงไปอีกหลายฉบับ
![](http://s.isanook.com/mv/0/ud/20/102733/102733-20200905010008-17a7ef1.jpg)
![](https://s.isanook.com/mv/0/ud/20/102733/102733-20200905010008-17a7ef1.jpg?ip/resize/w728/q80/jpg)
จนกระทั่งฉบับที่คนทั่วโลกได้รู้จักตัวละครนี้จริง ๆ ก็ตอนที่ Disney ได้นำมาผลิตเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันสองมิติในปี 1998 และทำให้มู่หลานถูกนับเป็นหนึ่งในเจ้าหญิง Disney ไปด้วย (ถูกบันทึกให้เป็นเจ้าหญิงลำดับที่ 8 ในลิสต์รายชื่อของเจ้าหญิง Disney) ทั้งที่ไม่ได้ครองคู่กับเจ้าชายเหมือนเรื่องอื่น ๆ แต่ได้รับการยอมรับและยกย่องจากจักรพรรดิ
หนังทำรายได้รวมทั่วโลกไป 304 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้าง 90 ล้านเหรียญฯ และได้เข้าชิงออสการ์สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย ซึ่งหลายคนก็คงคุ้นกันดีกับเพลง Reflection ที่ร้องโดย Lea Salonga แต่ดราม่าของฉบับนี้ในปี 1998 นั้นคือการไม่ถูกยอมรับเลยจากประเทศจีน เพราะหนังไม่ได้รับอนุญาตให้ฉายในปี 1998 จนได้ฉายในปีถัดไป ซึ่งในเวลานั้นการแพร่ระบาดของแผ่นก็อปละเมิดลิขสิทธิ์กำลังเฟื่องฟู พอหนังฉายจริง ๆ ชาวจีนส่วนใหญ่ก็ได้ดูจากแผ่นก็อปไปแล้วเรียบร้อย นอกจากนั้นหนังก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ฉายในช่วงเทศกาลตรุษจีนตามที่ Disney หวังไว้ เพราะทางการจีนสงวนช่วงเวลาทองอย่างตรุษจีนไว้ให้กับเฉพาะหนังจีนเท่านั้น
สำหรับภาพยนตร์ที่นำเรื่องของมู่หลานมาเป็นวัตถุดิบนั้น เคยถูกนำเสนอในเวอร์ชันหนังจีนนำแสดงโดย “เจ้าเหว่ย” (Viki Zhao) ผู้เคยโด่งดังจากซีรีส์ “องค์หญิงกำมะลอ”
ก่อนหน้านี้ในปี 2010 ก่อนที่ Disney จะหันมาเอาจริงเอาจังกับการดัดแปลงภาพยนตร์การ์ตูนในอดีตของตัวเองให้มาเป็นหนัง Live Action อย่างทุกวันนี้ ก็เคยมีแผนจะให้ “จางซิยี่” หรือ Ziyi Zhang จาก Memoirs of a Geisha (2005) มาเล่นภายใต้การกำกับของ Chuck Russell จากหนังหน้ากากเทวดา The Mask (1994) ที่ฟัง ๆ แล้วดูไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะเอาเสียเลย ต่อมา Disney ก็เคยหมายมั่นจะให้ผู้กำกับชื่อดังอย่าง Ang Lee หรือหลี่อัน จาก Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000) และ Life of Pi (2012) มากำกับ Mulan ฉบับคนแสดงแต่เขาปฏิเสธ
![](https://s.isanook.com/mv/0/ud/20/102733/102733-20200905010012-92181a7.jpg?ip/resize/w728/q80/jpg)
![](https://s.isanook.com/mv/0/ud/20/102733/102733-20200905010013-3cc1f70.jpg?ip/resize/w728/q80/jpg)
รวมถึงเคยมีข่าวออกมาในปี 2017 ว่า นอกจาก Disney แล้ว ค่าย Sony ก็เคยอยากจะคิดสร้างหนังจากตำนานเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ถอยฉากไป และในปี 2020 นี้ ในจีนเองก็จะมีภาพยนตร์ Mulan สำหรับฉายบนแพลตฟอร์มสตรีมมิงของตัวเองด้วยเช่นกัน
ฉบับใหม่ระดมทีมนักแสดงทั่วฟ้าเมืองจีน
บทมู่หลานในฉบับนี้ ตกเป็นของนักแสดงเชื่อสายจีน (แต่ถือสัญชาติอเมริกัน) “หลิวอี้เฟย” ที่โด่งดังจากหนังฮอลลีวูดเรื่อง The Forbidden Kingdom (2008) ที่เป็นหนังล้อเรื่องราวในไซอิ๋วประกบเฉินหลงและเจ็ตลี นอกจากนั้นยังมีนักแสดงจีนอีกมากมายมาร่วมสมทบทั้ง “ดอนนี่ เยน” (Donnie Yen) จากหนังเรื่องราวอาจารย์ยิปมัน ปรมาจารย์มวยหยุ่งชนทั้ง 4 ภาคอย่าง Ip Man (2008-2019) และ Rogue One: A Star Wars Story (2016) ในบทขุนศึก, “กงลี่” (Li Gong) จากหนัง Farewell My Concubine (1993) และ Memoirs of a Geisha (2005) ในบทแม่มดที่เป็นตัวร้าย รวมถึง “เจ็ตลี” (Jet Li) จาก Hero (2002) และ The Mummy: Tomb of the Dragon Emperor (2008) ในบทของจักพรรดิ
![](http://s.isanook.com/mv/0/ud/20/102733/102733-20200905010015-72d1927.jpg)
![](http://s.isanook.com/mv/0/ud/20/102733/102733-20200905010016-0e0fc33.jpg)
![](http://s.isanook.com/mv/0/ud/20/102733/102733-20200905010018-26b541c.jpg)
![](http://s.isanook.com/mv/0/ud/20/102733/102733-20200905010020-e24282d.jpg)
ส่วนผู้กำกับนั้น ตกเป็นของผู้กำกับหญิงชาวนิวซีแลนด์ Niki Caro ผู้เคยฝากผลงานเอาไว้อย่าง Whale Rider (2002), North Country (2005) ที่นำแสดงโดย Charlize Theron และ The Zookeeper’s Wife (2007) นำแสดงโดย Jessica Chastain ที่จะมาทำหน้าที่ตีความใหม่
ในที่แรกเธอก็เจอกระแสดราม่าพอสมควรเหมือนกันเพราะความ “ไม่ใช่คนจีน” และในยุคนี้การหาผู้กำกับจีนหรือเชื้อสายจีนมากำกับก็ไม่ใช่เรื่องยาก (อย่างเช่นตอนแรกที่ Disney อยากได้หลี่อันมากำกับเพื่อลดกระแสดราม่าแบบนี้) แต่ Caro ก็ได้โชว์วิสัยทัศน์และให้ความเชื่อมั่นกับ Disney ในการประสานวัฒนธรรมจีนเข้ากับวัฒนธรรมการเล่าหนังแบบดิสนีย์จนเป็นผู้กำกับหญิงคนแรกที่ได้กำกับหนัง Disney ทุนสูงระดับ 200 ล้านเหรียญฯ
![](http://s.isanook.com/mv/0/ud/20/102733/102733-20200905010022-e83eacc.jpg)
จงใจดัดแปลงมู่หลานให้ "ไม่เหมือนเดิม"
ในฉบับภาพยนตร์ Live Action ปี 2020 นี้ จะไม่ได้เป็นการดัดแปลงจากฉบับการ์ตูนแบบตรง ๆ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเนื้อหาหลายอย่างเพื่อให้เกิดการยอมรับในตลาดประเทศจีน และหนังเองก็ได้ผู้สร้างหนังของจีนมาร่วมลงทุนด้วย องค์ประกอบที่เปลี่ยนไปเช่น หนังจะไม่ได้เป็นมิวสิคัลที่มีเพลงประกอบเพราะ ๆ (หลายคนที่เคยชื่นชอบเพลง My Reflection จากฉบับการ์ตูนและรอฟังคงจะต้องผิดหวัง แต่จากตัวอย่างพอได้ฟังตอนเป็นเพลงสกอร์ก็ทำให้ได้ขนลุกอยู่ไม่น้อย)
และเจ้ามังกรตัวจิ๋ว “มูซู” ที่เคยเป็นทั้งเพื่อนคู่ซี้และไม้เบื่อไม้เมาของมู่หลาน ก็ถูกเปลี่ยนเป็นนกฟีนิกส์แทน เนื่องจากเมื่อครั้งออกฉายปี 1998 ถูกกระแสดราม่าจากชาวจีนเรื่องการนำเอามังกร สัตว์ที่เป็นเทพศักดิ์สิทธิ์ของจีนมาสร้างเป็นตัวตลก อย่างไรก็ตามเจ้าจิ้งหรีดนำโชคออย่าง “คริครี” จากฉบับภาพยนตร์แอนิเมชันยังจะได้กลับมากับฉบับคนแสดงนี้
มังกรน้อยมูซูกับเจ้าจิ้งหรีดคริครี จาก Mulan (1998)
ตัดบทแม่ทัพหลี่ชางออก เลี่ยงประเด็นรักร่วมเพศ
Jason Reed ผู้อำนวยการสร้างก็ได้ออกมาอธิบายถึงเหตุผลของการตัดตัวละครแม่ทัพ “หลี่ชาง” ผู้มีบทบาทสำคัญทั้งการเป็นผู้นำทัพและคนรักของมู่หลานในฉบับการ์ตูนออก เพราะตัวละครนี้เป็นตัวละครที่แสดงออกถึงความรักร่วมเพศภายในเรื่อง (หลี่ชางชอบมู่หลานในตอนที่ปลอมตัวเป็นผู้ชาย) หลังจากการตัดตัวละครตัวนี้ เขาก็ถูกตั้งคำถามว่า Disney อยากจะเบี่ยงประเด็น ไม่แตะต้องถึงประเด็นที่ละเอียดอ่อนนี้หรือเปล่า?
คำตอบของ Reed ก็คือ ทีมสร้างแยกหลี่ชางออกเป็นสองตัวละคร คนแรกคือแม่ทัพ “ถัง” (ดอนนี่ เยน) ผู้ที่เปรียบดังพ่อและอาจารย์ในหนัง และอีกคนคือ “ฮงฮุย” (โยซัน อัน) ทหารที่อยู่ในหมู่ทัพเดียวกับมู่หลาน โดย Reed ให้ความเห็นว่า ในช่วงเวลาการเคลื่อนไหวของ #MeToo (กระแสเรียกร้องของผู้หญิงในฮอลลีวูด ต่อการคุกคามทางเพศโดยผู้บริหารระดับสูงของค่ายหนังและผู้มีอิทธิพลในวงการ) การมีแม่ทัพที่สนใจในเรื่องเพศกับพลทหาร จะดูเป็นเรื่องที่น่าอึดอัดและคิดว่ามันไม่ค่อยเหมาะสม
ถึงอย่างนั้นก็มีอีกกระแสที่บอกว่า การมีตัวตนอยู่ในเรื่องของหลี่ชาง ก็เป็นการลดทนศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของมู่หลานลงไปเหมือนกัน เพราะทำให้เห็นว่าท้ายที่สุดตัวละครผู้หญิงก็ไม่อาจทัดเทียมผู้ชาย และต้องลงเอยอีหรอบเดิม นั่นคือมาแต่งงานมีคู่ครองกับหลี่ชางอยู่ดี แม้ว่าจะไปออกรบได้อย่างเกรียงไกรแค่ไหนก็ตาม
Yoson An ผู้รับบท “ฮงฮุย” ทหารที่ใกล้ชิดกับมู่หลาน ได้อธิบายว่าตัวละครของเขากับมู่หลานเริ่มพัฒนาความสัมพันธ์จากการฝึกและเคารพรักกันในแบบเพื่อนทหาร แต่เมื่อถามถึงประเด็นความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศ เขากลับเลี่ยงที่จะตอบและอธิบายว่า พวกเขามีหลายมิติหลายแง่มุมและผู้ชมก็จะได้เห็นตอนได้ชม
นักแสดง หลิวอี้เฟย และโยซันอัน
ดราม่า “หลิวอี้เฟย” สนับสนุนจีนปราบม็อบฮ่องกง
ดราม่าที่อาจทำให้ Disney หวาดหวั่นในทีแรกว่า จะทำให้มีผู้ชมภาพยนตร์น้อยกว่าที่ควรจะเป็น (แต่พอเจอสถานการณ์โควิด-19 เข้าไป ปัญหานี้จึงดูเล็กไปเลย) ก็เกิดจากการที่หลิวอี้เฟยได้โพสต์ข้อความลงบนแพลตฟอร์มเว๋ยบ่อ (Weibo) โซเชียลมีเดียยอดนิยมของประเทศจีนโดยแปลเป็นภาษาไทยว่า “ฉันสนับสนุนตำรวจฮ่องกงและช่างเป็นความอัปยศของคนฮ่องกงจริง ๆ” โดยประโยคหลังนั้นเขียนเป็นภาษาอังกฤษ โพสต์ดังกล่าวของหลิวอี้เฟยถูกกดไลก์มากกว่า 78,000 ครั้ง และมีการรีทวีตซ้ำกว่าอีก 69,000 ครั้งในตอนนั้น ซึ่งความคิดเห็นในโพสต์ดังกล่าวของเธอพ้องไปในทิศทางเดียวกันกับนักแสดงจีนหลายคนที่สนับสนุนตำรวจฮ่องที่ปราบปราบม็อบ อย่างเช่น “เฉินหลง” เป็นต้น
ถึงแม้ว่า Twitter, Facebook และ Instagram จะถูกห้ามใช้งานในประเทศจีน แต่แพลตฟอร์มต่าง ๆ เหล่านี้ มีแฮชแท็กใหม่ขึ้นมาว่า #BoycottMulan และยังมีการแท็กถึง Disney เรียกร้องให้มีบทลงโทษต่อหลิวอี้เฟย ไม่อย่างนั้นก็จะไม่สนับสนุนเข้าไปชมภาพยนตร์ Mulan ในโรงภาพยนตร์จากการทวีตแสดงความเห็นเช่นนี้ แต่สุดท้าย Disney ก็ไม่ตอบโต้ เลือกใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว
ดราม่า “หลิวอี้เฟย” โดนด่าลืมกำพืดไม่พูดว่าตัวเองเป็นคนจีน
เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ หลิวอี้เฟยได้ไปให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Variety โดยเธอถูกตั้งคำถามว่าหากจะให้พูดมอตโตหรือคติประจำใจของตัวละครมู่หลาน เธอจะเลือกตอบด้วยคำว่าอะไรบ้าง “ซื่อสัตย์ กล้าหาญ และจริงใจต่อครอบครัว” ซึ่งเธอยังขยายความว่า มอตโตเหล่านี้เป็นคติประจำใจของตัวเธอเองด้วยเช่นกัน
ฉันภูมิใจที่เป็นคนเอเชียค่ะ และฉันก็ภูมิใจที่ได้รับโอกาสจะแสดงความสามารถ ซึ่งฉันจะทำออกมาให้ดีที่สุดค่ะ”
หลิวอี้เฟยที่งานรอบปฐมทัศน์ของ Mulan ในสหรัฐฯ
หลังจากบทสัมภาษณ์ถูกแปลงเป็นคลิปและถูกเผยแพร่ออกต่อมาในวันที่ 12 มีนาคม ก็เริ่มมีกระแสต่อต้านจากชาวจีนที่ได้รับชม เป็นต้นว่า “ถ้าเธอจะอายที่จะเป็นคนจีนขนาดนั้นละก็ ฉันขอแนะนำให้หลิวอี้เฟยไม่ต้องกลับมาทำมาหากินที่จีนอีกต่อไปเลยก็ดีนะ” และหลายเสียงก็พร้อมจะแบน ไม่ติดตามผลงานภาพยนตร์ของเธออีก กลายเป็นว่าชาวจีนที่เคยสนับสนุนเธอเพราะออกมาเป็นกระบอกเสียงให้ยุติการประท้วงในฮ่องกง กลับกลายมาเป็นผู้ต่อต้านเธอแทน
หลิวอี้เฟยที่เป็นชาวอู่ฮั่นโดยกำเนิด (เมืองที่เป็นต้นตอของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19) นักแสดงสาววัย 32 ปีที่ถือสัญชาติอเมริกันหลังจากย้ายมาอยู่นิวยอร์กตั้งแต่ 10 ขวบ เธอได้รับสมญานามว่า “หนึ่งในสี่บุปผาแห่งวงการบันเทิงแดนมังกร” ซึ่งหมายถึงนักแสดงที่สวยและมากความสามารถที่สุด ณ ปัจจุบัน ส่วนคนที่เคยครองตำแหน่งนี้มาแล้วในยุคก่อน ๆ ได้แก่ เจ้าเหว่ย (เคยเล่นเป็นมู่หลานมาก่อน), จางซิยี่ (เกือบจะได้เล่นเป็นมู่หลาน), โจวซวิ่น และ ซูจิงเล่ย
ในวันที่เธอต้องออดิชันทดสอบหน้ากล้องบทนี้ เธอบินจากปักกิ่งมายังลอสแอนเจลิสเพื่อเล่นบทมู่หลานถึง 5 ฉาก และหนึ่งในนั้นคือการพูดบทยาว 5 หน้ากระดาษซึ่ง Niki Caro ผู้กำกับบอกความประทับใจของเธอที่มีต่อหลิวอี้เฟยว่า เธอพูดบทได้ตรงทุกคนอย่างไม่ผิดเพี้ยน ท้ายที่สุดเธอคือผู้ได้รับคัดเลือกจากนักแสดงที่มาทดสอบกว่า 1,000 คน และในเรื่องนี้เธอเล่นฉากสตันท์เองถึง 90%
ผู้กำกับ Niki Carlo และหลิวอี้เฟย
หนังเลื่อนฉายทั้งหมด 4 ครั้ง
Mulan นั้นเรียกได้ว่า เป็นทัพหน้าของหนังฟอร์มยักษ์ปีนี้ที่ถูกวางตัวให้ลงสนามแข่งขันช่วงโควิด-19 ยังไม่ซาไป โดยเข้าชิงกับหนัง Tenet ของค่าย Warner Brothers ส่วนค่ายอื่นนั้นถอยหนังนี้ไม่ปลายปีหรือไม่ก็ปีหน้าไปเลยเพราะไม่อยากเสี่ยงขาดทุน เดิมที่ Mulan มีกำหนดฉาย 27 มีนาคม 2020 และได้ทำการเปิดฉายรอบปฐมทัศน์ในสหรัฐฯ ไปแล้ว เมื่อวันที่ 20 มีนาคมพร้อมกระแสคำวิจารณ์ด้านบวก ถึงอย่างนั้นช่วงเวลานั้นเองก็เป็นช่วงที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐฯ พุ่งสูงมากจนท้ายที่สุดเครือโรงภาพยนตร์ทั้งหมดในสหรัฐฯ ออกมาประกาศปิดให้บริการ
ภาพเคาน์เตอร์ขายตั๋ว Mulan ในจีน ช่วงเดือนมีนาคม ขณะที่พนักงานสวมหน้ากากอนามัย (ภาพจาก nbcnews.com)
Disney จึงขยับวันฉายครั้งที่ 2 เป็น 24 กรกฎาคม ตามหลัง Tenet ที่วางคิวไว้เป็น 17 กรกฎาคม แต่พอ Tenet ดูท่าจะฉายไม่ได้ตามกำหนดแรก ก็ขยับวันฉายมาเป็น 31 กรกฎาคม ทำให้ Disney ไม่ค่อยปลื้มที่ Mulan จะเป็นหนังฉายเปิดเรื่องแรก เพราะเสี่ยงเจ๊งและคนดูส่วนใหญ่อาจยังไม่พร้อมจะกลับมาดูหนังในช่วงเวลานั้น และทำการเลื่อนกำหนดฉายหนังใหม่รอบที่ 3 เป็น 21 สิงหาคม และ Tenet ก็เลื่อนกำหนดฉายตัวเองเป็นรอบที่ 3 เช่นกันมาเป็น 27 สิงหาคมในการฉายตลาดทั่วโลก ก่อนจะเข้าฉายในสหรัฐฯ วันที่ 4 กันยายน รอบนี้ Mulan เลยเลื่อนมาชนแบบไม่หนีต่อแล้ว กำหนดให้วันที่ 4 กันยายน หนังเข้าสตรีมมิงใน Disney+ และฉายโรงในตลาดต่างประเทศที่ไม่มี Disney+ เปิดให้บริการ
หนังฟอร์มยักษ์ของ Disney เรื่องแรกที่สตรีมมิงลง Disney+
Disney+ แก้ปัญหาหนังออกฉายล่าช้าด้วยการให้บางประเทศที่มีแพลตฟอร์มสตรีมมิง Disney+ ได้ดูหนัง Mulan ในวันที่ 4 กันยายนนี้ ด้วยราคา 29.99 เหรียญฯ (ราว 930 บาท ซึ่งเหมาะแก่การดูทั้งครอบครัว) ซึ่งจะเป็นการขายแบบที่ไม่ใช่บริการปกติบน Disney+ เพราะผู้ใช้จำเป็นต้องจ่ายค่าเข้าชมเพิ่มอีก นอกเหนือจากการจ่ายค่าสมาชิกรายเดือน 6.99 เหรียญฯ ก่อนที่ในเดือนธันวาคมปีนี้จะสามารถชมได้โดยไม่ต้องจ่าย 29.99 เหรียญฯ
การกำหนดกลยุทธ์แบบนี้นับเป็นครั้งแรกของ Disney ที่ต้องทดลองและวัดใจว่า ความสำเร็จจากการขายแบบสตรีมมิงจะพอฟัดพอเหวี่ยง เรียกกำไรกลับคืนจากคนดูทั่วโลกใกล้เคียงกับการนำหนังเข้าฉายโรงหรือไม่ เพราะจะว่าไป Disney+ ก็มีฐานผู้ชมเพิ่มขึ้นมาเป็น 60.5 ล้านคนทั่วโลก ครองอันดับ 3 แพลตฟอร์มนี้ที่มีจำนวนสมาชิกทั่วโลกมากสุด รองจาก Netflix และ Amazon Prime Video ต้องมาดูผลลัพธ์เมื่อ Disney สรุปผลรายได้ออกมา (ในกรณีที่ยอมเปิดเผย) ส่วนประเทศที่ไม่มีแพลตฟอร์ม Disney+ ก็ได้ชมหนังในโรง (เช่นในประเทศไทย)
นักวิเคราะห์ทางการเงินได้คาดการว่า หาก Disney อยากได้ทุนสร้าง 200 ล้านเหรียญฯ คืน เฉพาะในส่วนรายได้ที่จะได้จาก Disney+ พวกเขาจำเป็นต้องมีผู้เสียเงินเพิ่มเพื่อเช่าหนังจำนวน 6.7 ล้านบัญชีสตรีมมิง ซึ่งไม่ถือว่าเยอะมากและพอสู้ไหว เพราะคิดเป็น 11% ของผู้ใช้ทั้งหมด และหากเพิ่มค่าโปรโมตไปอีกราว ๆ 50 ล้านเหรียญฯ จะต้องมีผู้เช่า 8.4 ล้านบัญชีสตรีมมิง หรือ 13.8% ของผู้ใช้ทั้งหมด และหากไม่มีเหตุการณ์โควิด หนังน่าจะทำเงินในสหรัฐฯ ไปได้ประมาณ 210 ล้านเหรียญฯ และทำรายได้ทั่วโลกไป 750 ล้านเหรียญฯ หักลบกลบหนี้จะได้กำไรอยู่ที่ประมาณ 375 ล้านเหรียญฯ