หนัง โจว ซิงฉือ : ซีรีส์ "คนเล็ก" หนังเฮฮาที่ซ่อนปรัชญาไว้ในความตลกของคนยุค 90'S

หนัง โจว ซิงฉือ : ซีรีส์ "คนเล็ก" หนังเฮฮาที่ซ่อนปรัชญาไว้ในความตลกของคนยุค 90'S

หนัง โจว ซิงฉือ : ซีรีส์  "คนเล็ก" หนังเฮฮาที่ซ่อนปรัชญาไว้ในความตลกของคนยุค 90'S
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ย้อนกลับไปในยุค 10-20 ปีก่อนหน้านี้ ไม่มีอะไรจะสุนทรีย์ไปกว่าการได้นั่งดูภาพยนตร์ฮ่องกงที่ "โจว ซิงฉือ" รับบทนักแสดงนำอีกแล้ว 
 

เส้าหลินซ็อคเกอร์, คนเล็กกุ๊กเทวดา และ คนเล็กหมัดเทวดา คือสุดยอดหนังที่ไม่ว่าคุณจะดูเต็มๆ หรือดูผ่านๆ คุณจะต้องได้รับรู้ถึงความตลกที่เป็นหน้าฉากของหนัง โจว ซิงฉือ อย่างแน่นอน 

อย่างไรก็ตามบนความตลกโปกฮาถึงขีดสุด มีเรื่องราวที่ไม่ตลกซ่อนอยู่ เรื่องราวของปรัชญา, กัดจิกสังคม และการสะท้อนปัญหาของฮ่องกง คือสิ่งที่ โจว ซิงฉือ พยายามสะท้อนโดยนำความตลกฉาบบังหน้าเอาไว้ ซึ่งถ้าหากมองให้ลึกลงไป คุณจะเข้าใจว่าความตลกนี้ซ่อนความเจ็บปวดของชาวฮ่องกงเอาไว้เสมอมา

ติดตามเรื่องที่ซ่อนอยู่ของยอดหนังในความทรงจำพร้อมกับ Main Stand ได้ที่นี่ 


ฉาบหน้าด้วยความฮาครืน! 

หนังซีรี่ส์ "คนเล็ก" ของ โจว ซิงฉือ นั้น จริงๆ แล้วไม่ได้มีความเกี่ยวพันอะไรกันเลยในแต่ละเรื่อง อาทิ คนเล็กหมัดเทวดา, คนเล็กของเล่นใหญ่ หรือแม้แต่ คนเล็กตัด 5 เอ เพราะเรื่องเหล่านี้ล้วนแต่เป็น "ชื่อไทย" ที่ค่ายหนังของไทยซื้อมาแปลใหม่ เพื่อให้เกิดภาพจำว่าเมื่อได้ยินคำว่า คนเล็ก นั่นหมายถึงว่าจะเป็นหนังฮ่องกงที่มี โจว ซิงฉือ แสดงนำ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ของค่ายหนังในช่วงนั้นที่พยายามทำให้คนไทยติดคาแร็คเตอร์เหล่านี้ให้ได้ นอกจากซีรี่ส์ คนเล็ก แล้ว ยังมีตัวอย่างชัดๆ อีกหลายเรื่อง อาทิ "คนเหล็ก" ที่จะนำแสดงโดย อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ หรือ "ฟัด" ที่แสดงโดย เฉินหลง นั่นเอง


Photo : Online Station 

มู้ดและโทนของหนัง โจว ซิงฉือ นั้น หากมองแต่ภายนอกแล้วจะเป็นหนังสีจัดๆ จี๊ดๆ บ่งบอกถึงความเบิกบาน เร้าอารมณ์ให้ความรู้สึกแจ่มใส ความสดใส ความร่าเริง เหมือนกับการได้พบแสงอาทิตย์ในวันใหม่ และสำหรับคนไทย แค่มู้ดและโทนยังไม่พอ มันยังบวกเข้ากับลีลาการพากย์ของทีมพากย์ที่ขึ้นชื่อเรื่องการใส่มุกได้เนียนที่สุดซึ่งนั่นก็คือ "พันธมิตร" มันยิ่งกลายเป็นเหมือน 2 แรงบวกที่ทำให้หนัง โจว ซิงฉือ เป็นหนังฮ่องกงแนวตลกที่ครองใจชาวไทยไปได้อย่างง่ายดาย และเปลี่ยนวิธีการเสพหนังตลกจากฝั่งตะวันออกไปเลยทีเดียว

ตัวละครแต่ละตัวถูกออกแบบมาให้มีลูกเล่นซับซ้อน สามารถเล่าเรื่องจากตัวละครนั้นได้หลายแบบ ที่สำคัญคาแร็คเตอร์แต่ละตัวต้องมีความ "จี๊ด" ซ่อนอยู่ สามารถเรียกเสียงฮาของคนดูได้ แม้ว่าจะดูเป็นตัวละครที่ดูจริงจังขนาดไหนก็ตาม อย่างตัวละคร เทพเมฆาอัคคี หรือ ลาสต์บอส ของเรื่อง คนเล็กหมัดเทวดา นั้นคือตัวอย่างที่ชัดเจนมาก เพราะหนังบรรยายถึงความเก่งกาจเกินใครของเทพเมฆาอัคคีมาตลอด แต่เมื่อพระเอกอย่าง โจว ซิงฉือ แหกคุกเข้าไปเปิดประตูห้องขังของเทพเมฆาอัคคีได้ ภาพที่นึกไว้ก็มลายหายไปอย่างสิ้นเชิง จากมาดจอมมารตามแบบฉบับหนังกังฟู กลายเป็นตาแก่หัวล้านใส่เสื้อกล้ามและรองเท้าแตะ เรียกได้ว่าแค่เห็นหน้าก็รู้แล้วว่าเป็นตัวโกงสายฮาอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ยังมีบทของหัวหน้าแก๊งขวานซิ่ง ในเรื่อง คนเล็กหมัดเทวดา อีกเช่นกัน ที่ความจริงแล้วเป็นสายดุดัน แต่ โจว ซิงฉือ ก็ปรับให้หัวหน้าแก๊งจอมโฉดกลายเป็นตัวฮาได้ด้วยการทาฟันให้เป็นสีดำ หนำซ้ำยังมีฉากเต้นรำขวานแบบยกแก๊งด้วยท่าเต้นที่แปลกประหลาด ซึ่งจุดนี้ โจว ซิงฉือ บอกว่า เขาแค่รู้ว่าตัวของนักแสดงบทหัวหน้าแก๊งนั้นเคยเป็นนักเต้นมาก่อน และเขาเชื่อว่าการเอาการเต้นรำขวานมาใส่ให้แก๊งมาเฟีย เป็นอะไรที่ขัดกันสุดๆ แต่สุดท้ายแล้วคนดูจะอินกับฉากนี้ได้แน่

"ผมพยายามทำให้บทแก๊งขวานซิ่งเป็นแก๊งที่แปลกประหลาดจากแก๊งโฉดอื่นๆ ผมเคยเห็นเขาเต้นแล้วผมก็เอะใจขึ้นมา คิดว่า ทำไมไม่ให้แก๊งนี้เต้นกันล่ะ? ผมรู้ว่ามันดูไร้สาระ แต่สำหรับผม ผมว่ามันก็สมเหตุสมผลดี เพราะจากบทเดิมที่จะให้พวกเขาเดินส่ายอาดแบบแก๊งสเตอร์ การให้พวกเขาเดินรำขวานแทนทำให้เป็นการสื่อกับคนดูว่า พวกเขาไม่ได้โหดร้ายอย่างเดียว บางสิ่งที่พวกเขาทำมันก็ดูแปลกและตลกดี" โจว ซิงฉือ เล่าถึงแนวคิดการออกแบบตัวละครของเขาในแต่ละเรื่อง  


Photo : Cinapse 

สิ่งสำคัญที่สุดของหนังตลกนอกจากคาแร็คเตอร์แล้ว ก็คือมุกตลกที่ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ส่วนใหญ่เน้นไปที่การรับส่งโบ๊ะบ๊ะ ของ 2 ตัวละคร ซึ่งภาพที่เราจะจำได้ คือการที่ตัวเอกอย่าง โจว ซิงฉือ จะต้องคอยทะเลาะ, วางแผน, ปรึกษา หรือ ด่าทอ คู่หู ที่ในช่วงแรกคือ อู๋ ม่งต๊ะ นักแสดงระดับรางวัลจากเรื่อง ผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ ที่มีพรสวรรค์ในการแสดงหนังตลกไม่แพ้กัน ยิ่งทำให้มุกแต่ละมุกที่ออกมากลมกล่อมยิ่งกว่าเดิม     

เหนือสิ่งอื่นใด คือเนื้อเรื่องในหนังแต่ละเรื่องของ โจว ซิงฉือ นั้น ไม่ใช่หนังตลกที่มีแต่ขายมุกอย่างเดียว เขายังวางเส้นเรื่อง จุดเกิด จุดพีก และตอนจบ เอาไว้อย่างแยบยล ซึ่งในจุดนี้ถ้าใครเป็นแฟนหนังของ โจว ซิงฉือ น่าจะเห็นภาพในทันที เพราะเขาจะวางบทตัวเองในฐานะพระเอกให้เป็นพวก Loser หรือไอ้ขี้แพ้เต็มขั้น จนถึงขีดสุด ตกอับถึงขีดสุด เช่น การเป็นตำรวจชั้นปลายแถวที่โดนคำสั่งมาเป็นจราจรในเรื่อง คนเล็กนักเรียนโต 2 (Fight Back to School 2, 1992), บทลูกคนรวยตกยากเพราะความไม่เอาไหนของตัวเองในเรื่อง ยาจกซู (King of Beggars, 1992) และบทสำคัญที่คนจำแม่นที่สุดอย่าง จิ๊กโก๋ข้างถนนใน คนเล็กหมัดเทวดา และ ศิษย์สำนักเสี้ยวลิ้มยี่ตกอับใน เส้าหลิน ซ็อคเกอร์


Photo : RediChina 

ถึงกระนั้น ทุกบทมีปลายทางเหมือนกัน นั่นคือการอยากจะเป็นคนรวยหรือคนยิ่งใหญ่ในบั้นปลาย โดยแต่ละส่วนของหนังถูกเชื่อมโยงโดยมุกตลก (พร้อมเสียงพากย์) ที่ทำให้ฮาจนท้องคัดท้องแข็ง ซึ่งแท้จริงแล้วกว่าจะได้แต่ละฉากนั้นมีเบื้องหลังที่ไม่ได้ตลกอย่างที่คิดเลย 
 

เบื้องหลังที่ไม่ตลก

แม้หน้าฉากหนังของเขาจะเรียกเสียงหัวเราะได้แทบทุกๆ 10 วินาที แต่เบื้องหลังการทำงานแต่ละเรื่องซึ่งเหล่านักแสดงที่เคยร่วมงานกับ โจว ซิงฉือ ได้บอกกล่าวคือ "อาโจว" เป็นคนที่ทุ่มเทกับการทำหนังแต่ละเรื่องมากจนถึงขั้นที่ว่าเป็นเพอร์เฟ็คชั่นนิสต์ ที่พร้อมจะฉะกับนักแสดงของตัวเองหากไม่ได้ตามเป้าหมายที่เขาวางไว้ 

"โจว ซิงฉือ เป็นคนที่จะโกรธมากหากมีข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นในหนังของเขา เขาเป็นคนที่จริงจังกับการสร้างหนังหนึ่งเรื่อง เขาจะไม่ด่าคุณหรอกถ้าคุณแสดงไม่ดี แต่หากคุณลองไม่ทุ่มเทและทำงานหนักเพื่อบทบาทที่คุณได้รับสิ รับรองได้เลยว่าเขาระเบิดลงแน่" Si-Cheun Lee มือเขียนบทประจำตัวของ โจว ซิงฉือ กล่าว


Photo : RediChina  

ซึ่งเหตุผลเดียวที่เขาทำแบบนั้นคือ เขาต้องการสร้างความประทับใจและฝากข้อคิดให้กับคนดูได้รู้ว่า ภายใต้ความฮานั้น มีสาระและมีสารบางอย่างที่เขาอยากจะบอกกับทุกคนอยู่ ซึ่งสิ่งที่เขาพยายามจะสื่อชัดที่สุดคือ "เรื่องของชนชั้น" หรือกลุ่มคนระดับรากหญ้าในฮ่องกง ที่มักจะปรากฎในทุกๆ เรื่องผ่านตัวละครที่ยากจน และพยายามทุกทางเพื่อให้ลืมตาอ้าปากได้นั่นเอง

ฮ่องกง เป็นดินแดนที่อยู่ภายใต้อาณัติของจีน จากการคืนเขตอาณานิคมให้จากอังกฤษเมื่อปี 1997 ด้วยความที่มีพื้นที่เป็นเกาะ ผลิตน้ำจืดเองไม่ได้ และไม่สามารถขยายอาณาเขตได้นอกจากการถมทะเล สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุด คือที่อยู่อาศัยซึ่งมีจำกัดสำหรับประชากรที่เพิ่มขึ้นทุกๆ วัน นั่นทำให้หลายครอบครัวที่ไม่มีเงินต้องอยู่กันอย่างแออัด เป็นห้องแถวเล็กๆ บางห้องมีขนาดพื้นที่อยู่แค่ 1.4 ตารางเมตรจนถูกเรียกว่า บ้านกรง  

ถึงแม้บ้านกรงจะมีขนาดเล็กและมีสภาพรอบข้างที่แออัด ทว่าค่าเช่าของห้องเล็กๆ เหล่านี้กลับมีราคาตีเป็นเงินไทยอยู่ที่เดือนละ 5-6 พันบาท แต่นั่นก็เพราะไม่มีทางเลือกอื่นๆ อีกแล้ว นั่นจึงทำให้มีครอบครัวกว่า 1 แสนครัวเรือนต้องอยู่ในสภาพที่เลือกไม่ได้ และอยากจะขยับขยายให้เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ โจว ซิงฉือ เข้าใจและอินกับมันอย่างที่สุด เพราะเขาเคยมีประสบการณ์ร่วมมาอย่างโชกโชน 

"คุณมักจะทำภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับชนชั้นแรงงานและรากหญ้า อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณสนใจจะทำหนังจากผู้คนกลุ่มนี้ที่สุด?" ผู้สัมภาษณ์จากศูนย์เอเชียแปซิฟิคศึกษา มหาวิทยาลัย UCLA ถาม โจว ซิงฉือ และเขาตอบด้วยตนเองว่า 

"อาจจะเป็นเพราะผมเข้าใจมันดี เพราะพื้นเพชีวิตของผมก็เติบโตขึ้นมาจากการเป็นเด็กข้างถนน มันคือโลกที่ผมคุ้นเคย มันเป็นเรื่องที่ผมเป็นห่วงและอยากตีแผ่เสมอมา ดังนั้นตัวละครประเภทลูสเซอร์จึงปรากฎในหนังของผมเสมอ" โจว ซิงฉือ ตอบ 

ชีวิตจริงของเขาเป็นเช่นนั้น โจว ซิงฉือ เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้างกันตั้งแต่ 7 ขวบ เขาเลือกอยู่กับแม่เลี้ยงเดี่ยวและมีพี่สาวกับน้องสาวอีก 2 คน ตัวของ โจว ซิงฉือ นั้นเห็นความลำบากของแม่ที่พยายามหาอาหารในเมืองที่ค่าครองชีพสูงมาให้ลูกๆ ได้กินตั้งแต่เด็กจนโต เขาจึงเป็นเด็กที่ตั้งใจเรียนมาโดยตลอด เพราะหวังจะพาครอบครัวออกจากความยากจน ซึ่งแน่นอนว่าสุดท้ายเขาก็ทำได้จริงๆ จากเด็กข้างถนนกลายเป็นนักแสดงหนังระดับพันล้านเหรียญของประเทศ  


Photo : RediChina 

จากการเติบโตในชนชั้นเกือบล่างสุด ทะลุขึ้นมาถึงการเป็นบุคคลแถวหน้าของประเทศ โจว ซิงฉือ ถ่ายทอดทุกสิ่งลงในหนังของเขาโดยใช้ความฮาฉาบไว้ ถ้าคุณดูเอาตลกนั่นไม่ผิดอะไร เพราะนั่นคือวัตถุประสงค์แรกในการสร้างหนังของเขา แต่ถ้าคุณตั้งใจดู คุณจะเข้าใจชีวิตและความเป็นชนชั้นแรงงานในฮ่องกงมากขึ้นเยอะ
 

ตลกแบบดราม่า ตีตรา โจว ซิงฉือ 

หนังเรื่องแรกที่ โจว ซิงฉือ ก้าวขึ้นมาดูแลโปรเจกต์ด้วยตัวเองแทบจะครบวงจรคือเรื่อง คนเล็กกุ๊กเทวดา (The God of Cookery, 1996) เมื่อได้โอกาสกำกับเอง เขาเลือกที่จะไม่ใส่ความฮาเข้าไปทั้งหมดเหมือนกับตอนที่เขาเป็นนักแสดง แต่เขายัดดราม่าชีวิต โดยเฉพาะการต้องสู้เพื่อให้ได้ลืมตาอ้าปากเข้าไป ซึ่งหลังจากนั้นก็กลายเป็นธีมหลักของซีรี่ส์ คนเล็ก เสมอมา 

ซึ่ง ณ ที่นี้ เราจะเอาเรื่องที่คนไทยคุ้นที่สุดอย่าง เส้าหลิน ซ็อคเกอร์ รวมถึง คนเล็กหมัดเทวดา มายกตัวอย่างถึงปรัชญาที่ซ่อนอยู่ในหนังสุดฮาเหล่านี้ ซึ่งธีมของหนังทั้ง 2 เรื่องเข้าตำราลูสเซอร์เหมือนกันเป๊ะ แต่ชั้นเชิงในการเล่าแต่ละตอน โจว ซิงฉือ ซ่อนปัญหาเรื่องชนชั้นของฮ่องกงเอาไว้ด้วย


Photo : Cinapse 

อย่างแรกที่ชัดเจนที่สุด คือชีวิตจริงนั้นโหดร้ายเหลือคณาไม่เหลือที่ว่างให้กับความฝันอีกต่อไป โดยตัวหนังนั้นใช้ "กังฟู" เป็นตัวแทนของความโบราณและความตกยุคเมื่อโลกเข้าสู่ทุนนิยม ในเรื่อง เส้าหลินซ็อคเกอร์ แม้สมาชิกในทีมจะเคยเป็นจอมยุทธ์ฝีมือดีจากวัดเส้าหลิน ทว่าวันหนึ่งความสามารถพิเศษเหล่านั้นกลับหมดความหมาย ไม่มีใครสนใจกังฟูอีกต่อไป มีแต่เพียงปากท้อง และการหาปัจจัย 4 ที่กลายเป็นคอนเทนท์หลักของชีวิต นั่นเองเราจึงได้เห็นจอมยุทธ์ตกอับจากสารพัดอาชีพ เช่นต้องหันเหเป็นไปเป็นเด็กเสิร์ฟรองรับอารมณ์คนขี้เมา, ไปเป็นพนักงานบริษัททั้งๆ ที่ตัวเองไม่มีความสามารถ และแลกกับการโดนเจ้านายโขกสับไม่เว้นวัน หรือแม้กระทั่งอดีตจอมยุทธ์ที่เหาะเหินเดินอากาศได้ ยังต้องกลายมาเป็นคนจัดสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งตัวละครทั้งหมดที่กล่าวมาหมดสภาพจอมยุทธ์ อาศัยอยู่ในบ้านรูหนู และไม่มีใครให้ค่าอีกต่อไป 

ส่วนเรื่อง คนเล็กหมัดเทวดา นั้น มีการเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนขึ้นไปอีก ด้วยการเนรมิตฉากหลักของเรื่องอย่างตรอกเล้าหมูสุดเสื่อมโทรม ที่พยายามดัดแปลงมาจากย่าน เกาลูน (แหล่งชุมชนแออัดที่สุดในฮ่องกง) ทว่าภายในกลับเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของยอดวรยุทธ์มากมาย ที่ต้องทิ้งตำราทั้งหมดซึ่งร่ำเรียนมาเพื่อสู้ชีวิตในบทบาทกรรมกร, ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า หรือแม้แต่คนขายปาท่องโก๋ ซึ่งถึงแม้จะพยายามมีชีวิตในแบบที่โลกบังคับให้มี แต่สุดท้ายพวกเขาก็ยังอดมื้อกินมื้อ มีเงินไม่พอค่าเช่าแม้กระทั่งตรอกเล้าหมูสุดเสื่อมโทรมก็ตาม

และอีกเรื่องที่จัดเจนมากที่สุด คือฉากที่พระเอกซื้อคัมภีร์จอมยุทธ์มาจากคนไร้บ้านนั้น คัมภีร์เล่มดังกล่าวมีค่าไม่กี่เหรียญ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วตอนสุดท้ายหนังเฉลยว่า นั่นคือคัมภีร์ฉบับของแท้จริงๆ ซึ่งสิ่งที่จะสื่อก็คือ โลกหมุนไวขึ้นทุกวัน สิ่งใดที่เก่าแก่ถึงแม้จะเคยมีคุณค่า แต่ถ้าไม่ปรับตัวก็จะตายไปตามกาลเวลานั่นเอง 

ท้ายที่สุด สถานการณ์เหล่านี้ก็บีบให้หลายคนที่เป็นชนชั้นแรงงานไม่มีทางเลือกในการลืมตาอ้าปาก จนต้องเลือกทางเดินที่ถึงแม้รู้ว่าผิด แต่ก็ต้องทำเพื่อปากท้อง เช่นการปลอมตัวเป็นแก๊งขวานซิ่งปลอม หรือการขอเข้าแก๊งขวานซิ่งโดยแลกกับการทำผิดกฎหมายอย่างไม่เกรงกลัว (แหกคุกช่วยเทพเมฆาอัคคี)

อย่างไรก็ตามหากจะเป็นหนังที่สมบูรณ์แบบได้ นอกจากปัญหาเรื่องของชนชั้น กัดจิกโลกทุนนิยมแล้ว สิ่งสุดท้ายที่ โจว ซิงฉือ ฝากไว้ในหนังของเขาให้กับคนดูคือ "จงกล้าที่จะฝัน" แม้ว่าโลกความจริงจะดูโหดร้ายและมืดมนแค่ไหนก็ตาม ซึ่งบทตัวละครที่กลายเป็นตัวแทนแห่งความกล้าหาญ ก็คือตัวพระเอกของเรื่อง นั่นก็คือตัวเขานั่นเอง


Photo : Cinapse 

บทพระเอกของหนัง โจว ซิงฉือ จะเป็นตัวเดินเรื่องที่คอยบอกตัวละครที่เป็นตัวแทนของชนชั้นแรงงานในเรื่องว่า "อย่ายอมแพ้" เช่น การรวบรวมศิษย์พี่ศิษย์น้องในเรื่อง เส้าหลินซ็อคเกอร์ ให้กลับมามองคุณค่าที่ตัวเองมี (พลังกังฟู) ที่ถึงแม้ที่สุดแล้วใครจะมองว่าตกยุคและเป็นของไร้ค่า แต่หากสามารถประยุกต์ใช้กับสิ่งต่างๆ ในสถานการณ์ปัจจุบันได้ สิ่งที่ผู้คนเคยมองว่าไร้ค่าก็จะกลายเป็นพลังที่ทำให้ชีวิตได้เจอกับโอกาสที่ดีขึ้น (ในที่นี้หมายถึงการเป็นแชมป์ฟุตบอลของประเทศ) 

นอกจากนี้ในตอนจบของ เส้าหลินซ็อคเกอร์ หนังพยายามจะบอกว่าทุกๆ อย่างนั้นมีที่ทางของมัน หากกังฟูที่ใช้ในการต่อสู้มันตกยุค ก็แค่ปรับเปลี่ยนเอากังฟูมาใช้ในรูปแบบของการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพแทน ซึ่งในตอนจบจะเห็นได้ว่าผู้คนในฮ่องกง กลายเป็นยอดวรยุทธ์ขึ้นมาอีกมากมาย และทำให้ชีวิตในเมืองสุดแออัดนี้มีสีสันขึ้นมา สำคัญที่สุดคือทำให้พวกเขาเปิดช่องทาง ได้เจอโอกาสที่รออยู่ เช่นการขนกระสอบข้าวที่แบกได้ทีเป็น 10-20 กระสอบเป็นต้น เรียกได้ว่าถึงแม้จะเป็นกรรมกร ก็เป็นกรรมกรที่แข็งแกร่งทำเงินได้มากกว่าเดิมเป็น 10 เท่านั่นเอง 


Photo : Cinapse 

จากบรรทัดแรกมาถึงตรงนี้ คุณจะพบว่าหนังที่ถูกเล่าด้วยความตลก ได้ซ่อนแง่คิดปรัชญาและสะท้อนปัญหาสังคมเอาไว้มากมาย สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับผู้รับสารว่าตีความมันออกมาในแบบไหน ... และจะนำสารนั้นไปปรับใช้กับตัวเองอย่างไรเท่านั้นเอง

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook