ปัญหาโครงสร้างการศึกษาไทยใน ฉลาดเกมส์โกง โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์

ปัญหาโครงสร้างการศึกษาไทยใน ฉลาดเกมส์โกง โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์

ปัญหาโครงสร้างการศึกษาไทยใน ฉลาดเกมส์โกง โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระแสของเด็กรุ่นใหม่ ที่ออกมาเรียกร้องเรื่องใดใด ดูเหมือนจะไม่ได้สงบลงโดยง่าย จากอาทิตย์ก่อน ที่เทยจะได้ชวนตะมอยถึงเหล่าเด็กพลังกิฟต์ไปแล้ว อาทิตย์นี้ เทยก็จะขอลดความแฟนตาซี ลดพลังวิเศษของเด็กกิฟต์มาคุยกันถึงอีกหนึ่งละครที่เพิ่งจบไป และเป็นประเด็นเกี่ยวกับการต่อสู้ของเด็กรุ่นใหม่เช่นกัน อย่าง ฉลาดเกมส์โกง เดอะ ซีรีส์ นั่นเอง

ไปค่ะคุณกิตติคะ

 

ฉลาดเกมส์โกง เดอะ ซีรีส์ เป็นผลงานที่ดัดแปลงมาจากภาพยนตร์ที่เคยโด่งดังและประสบความสำเร็จไปทั่วโลกในชื่อเดียวกัน Bad Genius : ฉลาดเกมส์โกง ซึ่งหลังจากความสำเร็จนั้นแล้ว ทาง GDH ก็มีความอยากจะนำคอนเทนต์สุดแซ่บนี้ มาเล่าต่อขยายสายสี่สายห้า ให้กลายเป็นซีรีส์ขนาดยาว ให้ชาวเราชาวเธอได้รับชมกันค่ะ

แน่นอนว่าสี่นักแสดงหลักที่มารับบทบาทสี่ฉลาดเกมส์โกงในเวอร์ชั่นละครนี้ ลิน (จูเน่ เพลินพิชญา), แบงค์ (เจ้านาย จินเจษฎ์ ), พัฒน์ (ไอซ์ พาริส) และ เกรซ (นาน่า ศวรรยา) ได้ร่วมกันฟาดฟันรวมถึงสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น จนนำไปสู่บทสรุปที่ฟาดคำถามให้กับคนดูได้หน้าสั่นกันต่อไป ว่าในโลกของการศึกษาไทย มันมีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นอย่างในละครจริงหรือไม่จริงแล้วซิ

เทยเลยจะมาสรุปเป็นประเด็นเก็บตกให้เห็นเป็นข้อๆ ไปเลยนะเธอเอ๋ย

 

ค่าแปะเจี๊ยะ

คำอันคุ้นหูที่เราๆ เธอๆ น่าจะเคยได้ยิน กับการเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษา หากแต่ไอ้ค่าบำรุงที่ว่า ดันเป็นการเก็บโดยโรงเรียนรัฐบาล ที่มันก็ออกจะแปลกๆ หน่อยใช่ไหมล่ะ กับการบอกกับผู้ปกครองว่า จ่ายสิ แล้วลูกคุณจะได้โควต้าเรียนที่นี่อย่างแน่นอน ในเรื่องพ่อของลิน จำเป็นจะต้องหาเงินมาจ่ายให้กับทางโรงเรียน เพื่อให้ลินได้เรียนต่อไป แม้ว่าลินจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งเหล่านี้ก็ตามที ในขณะที่คนที่ลำบากทั้งครอบครัวอย่างแบงค์ ก็คืออย่าหวัง ว่าการจะหาแปะเจี๊ยะมาจ่ายนั้น ก็คือเลิกฝันไปได้เลย ฉะนั้นการจะบอกว่า การศึกษาไทยนั้นเท่าเทียมกับทุกคนนั้น ในโลกของฉลาดเกมส์โกง สะท้อนให้เราเห็นแล้วว่า จ้อแล้วหนึ่ง

 

เธอต้องเรียนคอร์สพิเศษที่ครูสอน ถึงจะสอบได้

แม้ว่าการที่ลินเรียนเก่งนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า เธอจะสามารถเอาชนะทุกอุปสรรคในโรงเรียนได้ สิ่งผิดปกติที่แทรกซึมอยู่ในระบบการศึกษา ยังคงแทรกตัวอยู่ เช่นเดียวกับการเข้าสนามสอบของเธอ และพบว่าตัวเธอและเพื่อนเธอ กำลังโดนเอาเปรียบ เมื่อข้อสอบที่คุณครูเอามาใช้ชอบในห้องสอบ มันดันเหมือนกับข้อสอบที่เพื่อนของเธอเคยเอามาให้ลินช่วยทำให้จากคลาสเรียนพิเศษ เธอโกรธที่ครูกำลังเอาเปรียบเธอและเพื่อนๆ เธอเริ่มต้นโกงเพื่อเอาคืนจากจุดเล็กๆ นั้น อย่างไรก็ตาม เรื่องแบบนี้ เกิดขึ้นได้ และเคยเป็นประเด็นดราม่าเมื่อหลายปีก่อน มีคุณครูในโลกแห่งความจริงถูกแฉจนหมดเปลือก แต่อย่างไรก็ตาม การเติบโตของโรงเรียนสอนพิเศษ ก็ยังคงเกิดขึ้น เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า คุณครูในระบบการศึกษา ไม่สามารถจะหาเลี้ยงตัวเองได้พอ และต้องใช้วิธีเล่นนอกเกมส์ โดยหากินกับความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษาอยู่ดี

กฎที่เข้มกับนักเรียน แต่ไม่เข้มกับครูด้วยกัน

อำนาจนิยมในโรงเรียนปรากฏชัดเจนจากเหตุการณ์หลังจากลินถูกจับได้ว่าเธอและเพื่อนๆ ร่วมมือกับทุจริตการสอบ ลินหารายได้จากการเล่นทริกกับการทุจริตการสอบเพื่อเอาคืนคุณครูกับเพื่อนๆ ประโยคที่น่าสนใจก็คือ ผู้อำนวยการลงโทษลิน ด้วยการใช้คำว่า นักเรียนไม่ควรหาเงินแบบนี้ในโรงเรียน ลินถึงกับหัวเราะออกมาแล้วถามว่า แล้วทีครูทำ ไม่เห็นมีใครจะว่าอะไรเลย จากตรงนี้เราเห็นได้ชัดเลยนะคะว่า กฎบ้าบอคอแตกเนี่ย จะศักดิ์สิทธิก็ต่อเมื่อใช้กับนักเรียนที่มีอำนาจต่ำกว่า แต่พอเป็นครูบาอาจารย์ ก็กลายเป็นตีมึนไป แล้วให้เด็กนั่งรับผิดชอบอยู่ฝ่ายเดียว เรื่องแบบนี้ มันคุ้นมากเลยนะเออ

 

แบงค์ ถึงแกไม่โกง ชีวิตก็เหมือนจะโกงแกอยู่ดี

ตัดภาพมาที่พ่อเด็กเก่ง แต่ชีวิตโศกไม่ไหว โศกแล้วโศกอีก กับแบงค์ เด็กเก่งที่ไม่ต้องพึ่งโรงเรียนพิเศษ ไม่ต้องพึ่งลินอย่างแบงค์ กับชีวิตที่ต้องแบกรับภาระจากทางบ้าน แม่ที่ปวดหลังกับการทำงานหนัก ซักผ้าด้วยมือ ต่อชีวิตกับความหวังว่าซักวันจะถูกหวยกับเค้าบ้าง ชีวิตชนชั้นล่างแบบครอบครัวแบงค์ ฝากความหวังไว้กับอนาคตของแบงค์ แบงค์ที่อะไรก็ดูเหมือนจะติดขัดไปหมด แม้แต่ที่จอดรถมอเตอร์ไซค์คันน้อย ยังต้องถูกแบ่งให้กับคนที่ได้รับอภิสิทธิ์ในโรงเรียนมากกว่า โศกไม่ไหว แต่ก็นั่นแหละค่ะ ลินก็ได้บอกกับแบงค์ไปแล้วว่า ถ้าแบงค์ไม่เลือกที่จะสู้กับระบบเฮงซวยนี่ ระบบนี้ก็จะโกงแกอยู่ดี และเราจงมาทำให้ตัวเราเอาชนะระบบนี้ไปด้วยกันเถิด กับการใช้ความฉลาดเพื่อเอาชนะการวัดระดับการสอบระดับประเทศหรือ STIC การตัดสินใจของแบงค์ ถูกบีบด้วยการกระทำที่นอกเกมส์อีกครั้งจากพัฒน์ และเมื่อคนชนชั้นล่างไม่เหลืออะไรให้ยึดเหนี่ยวอีกแล้ว แบงค์ก็ต้องยอมสละความดีเดียวที่เหลืออยู่ ด้วยการเข้าร่วมแผนการโกงหม้อใหญ่นี้

 

บทสรุปที่ทิ้งรอยแผลไว้ขนาดใหญ่

บทสรุปที่สำคัญของฉลาดเกมส์โกง ที่เหมือนกันทั้งเวอร์ชั่นหนังและบทซีรีส์ คือการที่แผนอันล้ำลึกของลิน ก็มีช่องโหว่ และทำให้แบงค์กลายเป็นผู้ถูกจับได้อยู่คนเดียว เขายอมที่จะเอาตัวเองแลกความผิดเพื่อปกป้องลินเอาไว้ และกลายเป็นคนรับบาปทั้งหมดไว้เอง สิ่งที่น่าสนใจคือเมื่อทุกอย่างจบลง และลินได้โอกาสที่จะไปต่อ เธอขอให้แบงค์เลิกโกงซะเถอะ ในขณะที่แบงค์ เหมือนจะไม่ยอมจบแค่นั้น ในเมื่อชีวิตมันโกงเขา เขาก็จะโกงมันต่อไปจนถึงที่สุด เพื่อให้ชีวิตเขามันดีขึ้นกว่าที่เป็นมา จนกลายเป็นคำถามปลายเปิดที่ว่า คนเราจะเป็นคนดีได้ ก็ต่อเมื่อเห็นโอกาสใช่หรือไม่ ถ้าหมดสิ้นแล้วซึ่งโอกาส คนมันก็โกงได้ทั้งนั้น

 

ฉลาดเกมส์โกง ที่ดูเหมือนจะกระชากแคมเปญ โตไปไม่โกง มาตบหน้าซ้ายขวาหยั่งกะละครไทยเลยนะคะเนี่ย เราได้เห็นมิติของตัวละครที่ซับซ้อน แต่ต่อขยายอะไรมากมายในเวอร์ชั่นของซีรีส์ และกลายเป็นกระแสในโลกโซเชี่ยลที่ร้อนแรงจับต้องได้มากว่า การกระทำของลินที่มีต่อแบงค์นั้น ถือเป็นการละทิ้งปัญหา เพียงเพราะว่าตัวเองได้รับทางเลือกที่ดีกว่าหรือไม่ หรือแม้แต่ประโยคที่ร้ายการอย่าง “เรื่องคดี เดี๋ยวพ่อจัดการให้เอง” ก็อาจจะยิ่งตอกย้ำโครงสร้างที่มันบิดเบี้ยวจนถึงแก่นของสังคมไทยได้เลยว่า ความดีความเลวมันขึ้นอยู่กับความเหลื่อมล้ำนี่แหละเธอ

 

ถ้าเธอต้องการการเปลี่ยนแปลง ละครน้ำดีแบบนี้ ก็ตีแผ่ให้เราได้เห็นความซับซ้อนของปัญหาแล้ว คนเสพสื่ออย่างเราๆ จะจัดการ และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้อย่างไร เราและเธอก็คงต้องคนหาคำตอบอย่างฉลาดและมีเล่ห์กลกันต่อไปแล้วล่ะค่ะเธอขา

 

เหยี่ยวเทย รายงาน

อัลบั้มภาพ 20 ภาพ

อัลบั้มภาพ 20 ภาพ ของ ปัญหาโครงสร้างการศึกษาไทยใน ฉลาดเกมส์โกง โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook