[รีวิว] GREENLAND นาทีระทึกวันสิ้นโลก-หนังโลกแตกแดกดันมนุษย์หนีอุตลุดสุดมัน
พลอตของ GREENLAND กล่าวถึงเหตุการณ์อุกาบาตชื่อคลาร์กที่มุ่งตรงมาถล่มโลก แต่รัฐบาลกลับสามารถช่วยเหลือคนได้เพียงหยิบมือจึงเลือกคนในสาขาอาชีพที่จำเป็นต่อมนุษย์ได้เดินทางสู่ที่หลบภัยโดยหนึ่งในนั้นได้แก่ครอบครัวแกริตี้ประกอบด้วย จอห์น (เจอร์ราด บัตเลอร์) พ่อบ้านวิศวกรโครงสร้างที่กำลังมีปัญหาระหองระแหงกับ เอลลี (โมเรนา บัคคาริน) ภรรยาสาวสวย ซึ่ง เนธาน (โรเจอร์ เดล ฟลอยด์) ลูกชายของพวกเขาที่เกิดมาเป็นโรคเบาหวานแต่กำเนิด
แต่ในระหว่างทางสู่ กรีนแลนด์ พื้นที่หลบภัยของรัฐบาลพวกเขาก็จำต้องเผชิญกับอุปสรรคนานับประการทั้งผู้คนที่ไม่พอใจที่ตัวเองไม่ได้รับเลือก หรือเหล่านักเลงเริ่มออกปล้นสิ่งของจากร้านค้าจนบ้านเมืองเข้าสู่กลียุคอย่างสมบูรณ์แบบ และในขณะที่พวกเขากำลังพยายามเอาตัวรอดก็เริ่มเห็นถึงสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ที่ทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอด
ก่อนอื่นคงต้องบอกไว้ก่อนว่า GREENLAND อาจไม่ได้มีรูปรอยการเล่าเรื่องที่ต่างจากหนังโลกวิบัติเรื่องอื่นนัก มันยังมีฉากอุกาบาตถล่มเมือง ฉากร้านค้าถูกปล้นและเผา รวมไปถึงคาแรกเตอร์ของมนุษย์ที่มีความเห็นแก่ตัวไปจนถึงฉากบังคับอย่างสถานการณ์บีบคั้นจนพระเอกต้องวิ่งออกมาเอายาเบาหวานให้ลูกทั้งที่เครื่องบินกำลังจะออกเดินทาง แต่ต้องชื่นชม ริก โรมัน วาฟ ที่ยังอุตส่าห์หามุมใหม่ในการเล่าเรื่องให้สนุกและลุ้นไปกับพระเอกได้อย่างไม่น่าเชื่อ
โดยเฉพาะการเปรียบเปรยระบบการคัดเลือกผู้รอดชีวิตของรัฐบาลที่แทบไม่ต่างจากพระเจ้า โดยหนังก็สามารถสร้างซีนสะเทือนอารมณ์ได้ตั้งแต่ซีนแรก ๆ อย่างการปฏิเสธรับเด็กสาวข้างบ้านแม้จะเป็นเพื่อนของลูกชายเพียงเพราะกฎห้ามนำคนอื่นเข้าไปในสนามบิน ซึ่งลำพังซีนนี้ซีนเดียวเราก็สัมผัสได้แล้วว่าตัวหนังจะต้องมีอะไรมาช็อกความรู้สึกคนดูแน่ ๆ
และมันก็มาตามนัดจริง ๆ หนังมีฉากที่โชว์สัญชาตญานดิบของมนุษย์ที่ดูโหดร้ายหลายฉากทั้งกราดยิงในร้านยา ฉากคนแปลกหน้าที่พร้อมห้ำหั่นกันให้ได้สิทธิเดินทางไปยังที่ปลอดภัยโดยไม่สนหลักการมนุษยธรรมใด ๆ เลยทำให้มันโดดเด่นออกมาจากหนังภัยพิบัติโลกแตกเรื่องอื่นที่พยายามเน้นฉากโชว์สเปเชียลเอฟเฟกต์อลังการแต่ตรงข้าม GREENLAND สามารถเล่าเรื่องในเชิงหนังเอาชีวิตรอดได้อย่างระทึกใจและกระแทกความรู้สึกคนดูได้อย่างไม่น่าเชื่อ
และทีละน้อยมันก็ค่อย ๆ ปรับสู่สารด้านศาสนาอย่างไม่ต้องสงสัย ที่เห็นได้ชัดคือหนังพยายามเน้นป้าย โบสถ์บัพติศมา (Babtism) ซึ่งในทางสัญลักษณ์แล้วก็เดาได้ไม่ยากว่ามันจะนำไปสู่การพูดเรื่องการล้างบาปแน่นอน โดยเฉพาะกรณีของจอห์นที่แบกความผิดบาปต่อครอบครัวเป็นส่วนผลักดันให้เขาพาเมียและลูกตัวเองออกเดินทางไปในที่ปลอดภัยให้จงได้
ซึ่งก็มีส่วนคล้ายเรื่องราวในพระคัมภีร์อย่างเรือของโนอาห์ (Noah’s Ark) ไม่น้อยเลยทีเดียว เพียงแต่เปลี่ยนจากเหล่าสรรพสัตว์และครอบครัวมาเป็นมนุษย์และที่สำคัญสารด้านศาสนายังไปไกลถึงขั้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านคาแรกเตอร์ของจอห์นที่ตอนแรกเขาต้องเผชิญอุปสรรคนานาจากความเห็นแก่ตัวจนในตอนท้ายเรื่องเหมือนเขาพยายามพิสูจน์ตนเองให้พระเจ้าเห็นไม่น้อยกับความพยายามช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์หลังเป็นพยานเหตุการณ์สะเทือนใจตอนกลางเรื่อง
และแม้หนังจะมีฉากบังคับให้ต้องขายสเปเชียลเอฟเฟกต์ตระการตาแต่ GREENLAND ก็เลือก “โชว์” อย่างพอดี โดยนอกจากฉากอุกกาบาตพุ่งชนโลกจนเกิดความวินาศสันตะโรแล้ว มันยังทำหน้าที่รองรับเรื่องราวที่เล่าผ่านท้องฟ้าลุกเป็นไฟสร้างบรรยากาศวันสิ้นโลกให้เราได้ตามตัวละครไปลุ้นกับการเอาชีวิตรอดของเขาแทนซึ่งถือเป็นความโชคดีที่หนังก็ได้นักแสดงที่ดีเสียด้วย
แม้เจอร์ราด บัตเลอร์จะสร้างชื่อในฐานะดาราหนังบู๊แต่สำหรับ GREENLAND ผู้กำกับอย่าง ริก โรมัน วาฟ ที่พ่วงกันมาจาก Angle Has Fallen (2019) กลับให้โอกาสเขาในการเติมความเป็นมนุษย์ทั้งความเป็นพ่อและสามีลงไปในตัวละครส่วน โมเรนา บัคคาริน นอกจากความสวยที่มองเพลินเป็นทุนเดิมฝีมือการแสดงของเธอก็ไม่ได้ดีน้อยไปกว่ารูปร่างหน้าตาเราสัมผัสได้ถึงความเป็นแม่ที่อยู่ในทุกซีนจนเราอดลุ้นตามไม่ได้