อีกครั้งกับ October Sonata บทเพลงเดือนตุลา โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
ออกฉายครั้งแรกในโรงภาพยนตร์เมื่อปี 2552 October Sonata หรือชื่อไทยว่า รักที่รอคอย ไม่ได้ดังเปรี้ยงปร้าง ไม่ได้ทำเงินมากมาย แต่กลายเป็นหนังที่ถูกใจคนดูที่แสวงหาความจริงจังในหนังไทย หนังได้รางวัลจากหลายสถาบันในปีนั้น และที่น่าสนใจคือ ถึงจะผ่านไป 11 ปี หนังกลับยังมีคนจำได้ พูดถึง และราวกับจะยิ่งทวีความลึกซึ้งตามกาลเวลาและกระแสประวัติศาสตร์เมื่อ “เดือนตุลา” กลับมาอยู่ในสำนึกของคนรุ่นใหม่ทั้งในมิติการเมืองและสังคม จะบอกว่าเป็นหนังที่มาก่อนกาลก็พอได้
October Sonata กลับมาลง Netflix ได้ถูกจังหวะเวลาในเดือนนี้
ว่าสั้นๆ นี่เป็นหนังรักสามเส้า โศกซึ้งในชะตากรรมหัวใจอันพลัดพราก อันมีฉากหลังเป็นเหตุการณ์สั่นสะเทือนของเดือนตุลาในช่วงประมาณปี 2513-2520 พระเอกคือ รวี ชายเปี่ยมอุดมการณ์ นางเอกคือ แสงจันทร์ สาวโรงงานที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่ต่อมาไต่เต้าทางความคิดและต่อสู้จนกลายเป็นนักเขียนเพื่อชีวิตคนดัง อีกหนุ่มหนึ่งคือลิ้ม ลูกจีนในไทยที่กลายเป็นเถ้าแก่เจ้าของกิจการ มีชีวิตเหนือซากปรักหักพังทางสังคมและการเมืองหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา
ผู้เขียนบท-ผู้กำกับ สมเกียรติ์ วิทุรานิช สร้างบทหนังที่ประสานเรื่องโรแมนติกเข้ากับภาพใหญ่ของประวัติศาสตร์ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียว แสดงให้เห็นว่าชีวิตคนธรรมดา ที่ต้องต่อสู้ไปวันๆ ที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาหัวใจและปัญหาเศรษฐกิจ ต่างได้รับอิทธิพลจากลมการเมืองและความเปลี่ยนแปลงที่บางครั้งพวกเขาก็มองไม่เห็น เราไม่ได้เห็นหนังไทยที่ละเมียดละไมกับการเขียนบทเช่นนี้บ่อยครั้งนักในช่วงหลัง และถึงแม้บางคนจะบอกว่ามันออกจะติด “เชย” อยู่เล็กๆ แต่ October Sonata ก็พิสูจน์แล้วว่ายืนหยัดผ่านทศวรรษมาได้โดยไม่ยี่หระสักเท่าไหร่
ในหนัง พระเอกกับนางเอกพบกันที่งานศพของมิตร ชัยบัญชา เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2513 พระเอกอันดับหนึ่งของประเทศที่เสียชีวิตในอุบัติเหตุอันน่าตกใจ ความตายที่โหดร้ายและเหลือเชื่อทำให้แฟนๆ ของมิตรจำนวนหลายพันแห่กันมาที่วัดแค นางเลิ้ง เพื่อดูศพของเขาให้มั่นใจว่าข่าวที่ได้ยินไม่ใช่เรื่องโกหก รวีกับแสงจันทร์เจอกันที่นั่น ความตายอันเป็นปรากฏการณ์เกิดนำคนสองคนให้พบและผูกพันกัน – ไม่เคยมีหนังเรื่องไหนที่ใช้หมุดหมายทางวัฒนธรรมอย่างการตายของมิตร ชัยบัญชา มาเป็นจุดตั้งต้นของเรื่องในแบบที่ทั้งตรงไปตรงมา และที่กินใจเช่นนี้
รวีเป็นลูกชาวนาที่มีการศึกษาและอุดมการณ์ แสงจันทร์ จากที่อ่านหนังสือไม่ได้ เกิดประกายตื่นรู้เมื่อรวีเอาหนังสือ สงครามชีวิต ของศรีบูรพาให้เธอ ทั้งสองนัดเจอกันทุกปีในวันที่ 8 ตุลา ทุกๆ ปี เราเห็นความเติบโตของทั้งสองและกระแสแห่งความเป็นไปในช่วงเวลาแห่งความยุ่งเหยิงทางการเมืองของไทยที่ส่งผลต่อชีวิตของพวกเขา ทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 อุดมการณ์ฝ่ายซ้ายที่เติบโตในหมู่คนหนุ่มสาวเป็นทั้งเครื่องหล่อเลี้ยงหัวใจและอุปสรรคในความสัมพันธ์ของทั้งสอง ตรงกันข้ามกับลิ้ม ตัวละครที่แสดงถึงชนชั้นคหบดีจีนในไทย ที่เฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายและอุทิศตัวให้กับการสร้างฐานะและการเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ
น่าสนใจที่หนังรักที่มีคำว่า “ตุลาคม” ในชื่อเรื่อง กลับมาส่งแรงสะท้อนในยุคปัจจุบัน ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองและความสนใจในประวัติศาสตร์ของคนรุ่นใหม่ มิติทางอารมณ์ของ October Sonata อาจจะอยู่ในขนบหนังรักสามเส้าแบบฮอลลีวูดคลาสสิก แต่ผู้เขียนคิดว่านั่นเป็นความตั้งใจของผู้กำกับ ที่อยากให้หนังมีบรรยากาศโบราณแบบเรื่องราวในวรรณกรรมยุค 2500 ที่ตัวละครชอบอ่าน แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ การที่หนังสร้างเรื่องราวการเดินทางของตัวละครผ่านเหตุการณ์ใหญ่ในส่งผลกระทบต่อประเทศ และแสดงให้เห็นว่า ราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการยึดมั่นในอุดมการณ์มันสูงแค่ไหน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ส่วนความ “โรแมนติก” ซึ่งหมายถึงทั้งความรักความผูกพัน และหมายถึงความฝันอันสูงส่งเกินตัวของผู้มีอุดมการณ์ ถูกตีความให้โยงใยสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก
อีกอย่างคือ ดาราในหนังทั้งสามคน ก้อย-รัชวิน วงศ์วิริยะ, โป๊ป-ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ และ บอย-พิษณุ นิ่มสกุล ได้รับบทที่ดีที่สุดในชีวิตการแสดงของพวกเขา ในยุคสมัยที่หนังไทยหรือทีวีไทย ไม่สามารถ “โรแมนติก” ขนาดทำหนังที่แตะการเมืองได้ (อย่างน้อยก็ในตอนนี้) คงยากที่จะเห็นดาราดังวัยหนุ่มสาวในบทที่จริงจังและยืนหยัดต่อกาลเวลาในแบบนี้อีก
October Sonata ดูได้ใน Netflix
อัลบั้มภาพ 7 ภาพ