รวมฉาก CGI "สุดปัง" ตลอดกาลของหนังจักรวาลมาร์เวล

รวมฉาก CGI "สุดปัง" ตลอดกาลของหนังจักรวาลมาร์เวล

รวมฉาก CGI "สุดปัง" ตลอดกาลของหนังจักรวาลมาร์เวล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจาก What the Fact เคยนำเสนอ 13 บาดแผลอันเจ็บปวด เมื่อ CGI เหล่านี้ในหนังจักรวาลมาร์เวล…ไม่ปังปุริเย่! ไปแล้ว เดี๋ยวแฟน ๆ MCU จะพาลเคืองว่า ฉาก CGI หรือวิชวลเอฟเฟกต์ดี ๆ ก็มีไม่น้อย วันนี้จึงขอนำเสนอ 6 ฉาก CGI สุดปังของหนังจักรวาลมาร์เวลที่อยู่ในความทรงจำ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นหนังฮีโร่ในจักรวาลมาร์เวลแล้ว ความอลังการของงานวิชวลเอฟเฟกต์หรือคอมพิวเตอร์กราฟิกนั้นไม่เป็นสองรองใคร จนถึงขณะนี้ Avengers: Endgame (2019) ก็ยังครองสถิติหนังที่มีช็อต CGI มากที่สุดในโลกอยู่ราว ๆ 3,000 ช็อต (โดยเฉลี่ยหนังฟอร์มยักษ์สักเรื่องจะมีอยู่ 1,000-1,500 ช็อตก็หรูแล้ว)

ทุกชุดของ Spider-Man ใน MCU

หากย้อนกลับไปใน Spider-Man ฉบับแรกของผู้กำกับ Sam Raimi ในปี 2002 Tobey Maguire ต้องสวมชุดไอ้แมงมุมจริงแสดงตลอดการถ่ายทำ แบบที่ไม่มีฉากไหนที่ชุดถูกสร้างจาก CGI เพียว ๆ เลย แต่พอมาถึงฉบับของ Tom Holland นับตั้งแต่ Homecoming (2017) เป็นต้นมา ชุดเกือบทั้งหมดในหนังถูกสร้างจาก CGI ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่ปัญหาเรื่องความแนบเนียนและสมจริง เพราะแฟน ๆ ก็ชอบทุกชุดสูทของเวอร์ชันนี้ โดยเฉพาะชุด Iron Spider-Man ที่ Peter Parker ได้จากลุงสุดที่รัก Tony Starks ในภาค Infinity War (2018) ต้องมาคอยตามดูกันต่อว่า ในภาค 3 และภาคต่อ ๆ ไป เงาเทคโนโลยีของ Iron Man จะยังปรากฏอยู่ในชุดสูทของ Spider-Man ในรูปแบบไหนอีกบ้าง

มิติกระจกของ Doctor Strange

หนังที่ยกระดับด้านงานภาพและวิชวลเอฟเฟกต์ของหนังจักรวาลมาร์เวลไปเลยก็คือ Doctor Strange (2016) ที่ถึงขนาดพาตัวหนังไปเข้าชิงสาขาวิชวลเอฟเฟกต์ยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์มาแล้ว ทั้งที่ตลอดทั้งเรื่องหนังไม่ได้มีช็อต CGI มากนัก แต่แม้จะมีน้อยก็เปี่ยมคุณภาพ ฉากที่หน้าตื่นตาคงหนีไม่พ้นฉากการต่อสู้ในมิติกระจกที่เอาเมืองทั้งเมืองมาพลิกตะแคงตีลังกากันเกือบตลอดเรื่อง ยิ่งกว่าใน Inception (2010) ที่เมืองพลิกไปมาแค่ไม่กี่ฉาก แม้ว่าอาจจะมีคนบอกว่าหนังก็อปไอเดียจากหนังของ Nolan มาแต่ก็ต้องยอมรับ Doctor Strange ก็นำฉากและวิชวลนี้มาต่อยอดให้อลังการไปอีกได้อย่างน่าสนใจ ทีมงานสร้างวิชวลเอฟเฟกต์ก็ได้รับโจทย์จาก Marvel Studios มาเช่นกันว่า ให้ใช้ CGI เพื่อเสริมความสมจริงและเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

Steve Roger ร่างผอมลีบ

ความอ่อนโยนและยึดมั่นในคุณธรรมของ Steve Rogers ก่อนที่เข้าจะกลายเป็น Captain America และคงความดีงามภายในจิตใจเรื่อยมาจนถึงแขวนโล่ไปใน Endgame มีส่วนเริ่มต้นมาจากการที่เขาเคยเป็นผู้แพ้ทางร่างกายอย่างที่ไม่อาจแม้แต่จะอาสารบเพื่อรับใช้ชาติในภาค Captain America: The First Avengers (2011) ก่อนที่เขาจะได้รับเซรุ่ม Super Soldier เพียงหนึ่งเดียวจนทำให้ร่างกายล้ำบึก เขาเคยมีน้ำหนักเพียงแค่ 43 กิโลกรัมเท่านั้น และฉาก CGI ที่เนรมิต Steve ร่างผอมลีบก็ทำออกมาได้เนียนจนถึงขั้นดูน่ากลัว

Lola Visual Effects ผู้รับผิดชอบงานวิชวลเอฟเฟกต์ของหนังเรื่องนี้ ต้องใช้ถึง 3 เทคนิคในการทำให้ Chris Evans ออกมาดูผอมแห้ง นั่นคือเทคนิค De-Aging ลดอายุใบหน้า (ราว 10%) เทคนิคใช้มุมกล้องถ่ายหลอกเหมือนกับที่ผู้กำกับ Peter Jackson ใช้ถ่ายเหล่า Hobbit น้อยใน The Lord of the Rings (2001-2003) เพื่อให้ดูตัวเล็กกว่านักแสดงคนอื่น และเทคนิคการแต่งหน้าเสริมเข้าไปอีก โดยทีมวิชวลเอฟเฟกต์สร้างหน้าตาและรูปร่างของ Evans จาก CGI เพียว ๆ เพียงแค่ 5% จากทั้งหมดเท่านั้น เหตุผลที่ต้องทำกันถึงขนาดนี้ก็เพราะ Marvel Studios อยากจะให้ Evans ได้โชว์การแสดงจากตัวจริง ไม่ใช่ให้คอมพิวเตอร์เล่นแทน

Tony Stark วัยรุ่นด้วยเทคโนโลยี De-Aging

แม้ว่าเทคโนโลยีเอฟเฟกต์ลดอายุของนักแสดงที่เรียกว่า De-Aging จะถูกพัฒนาและนำมาใช้ในหนังหลายเรื่องมากขึ้นจนถึงตอนนี้ แต่ผู้กำกับหลายคนก็ยังไม่ค่อยเชื่อมั่นในผลลัพธ์ที่บอกว่า ดูหลอกตา และทำให้เลือกกลับไปใช้วิธีหานักแสดงคนอื่นมาแสดงบทเดิมในวัยเยาว์แทน (เช่นหนัง Furiosa ภาคต้นของ Mad Max: Fury Road) แต่หนึ่งในตัวอย่างความเข้าท่าของเทคโนโลยีนี้ ก็คือการลดอายุของใบหน้า Tony Stark หรือนักแสดง Robert Downey Jr. ลงไปเป็นช่วยวัยรุ่นตามเนื้อเรื่องช่วงย้อนความทรงจำในอดีต

แม้ว่าด้วยเนื้อหาอาจจะดูขัดแย้งกับเส้นเวลาเดียวกันนี้จากหนังเรื่องอื่นที่เคยเล่าไปแล้ว แต่ก็คงไม่มีใครเถียงว่าการได้เห็นใบหน้าอันอ่อนเยาว์ของ Downey Jr. ที่เหมือนหลุดมาจากหนังเมื่อ 30 ปีก่อนอย่าง Air America (1990) ทีมงานวิชวลเอฟเฟกต์ที่ใช้เทคโนโลยี De-Aging ในหนังเรื่องนี้คือทีมเดียวกับที่แปลงหน้าของ Brad Pit ตั้งแต่แก่ยันเด็กใน The Curious Case of Benjamin Button (2008) มาแล้ว จึงไม่แปลกใจว่าถึงทำงานออกมาได้เนียนขนาดนั้น (เพราะทำมาแล้วทั้งเรื่อง แค่ฉากเดียวสบายมาก)

ฉากแอ็กชั่นใน Captain America: The Winter Soldier

ภาคแยกของ Captain America: The Winter Soldier (2014) ที่เป็นเอกเทศ มีประเด็นของเรื่องโดดเด่นเป็นของตัวเอง (ซึ่งเป็นประเด็นการแทรกแซงทางการเมืองและการใช้อำนาจในทางที่ผิดที่กลายเป็นความคลาสสิกไปโดยปริยาย) ต่างจาก Civil War (2016) ที่ดูจงใจจะให้ฮีโร่มาปะทะกันมากกว่า หนังภาค 2 เป็นเรื่องแรกที่พี่น้อง Russo มากำกับหนังของ MCU และอยู่ยาวมาจนถึง Avengers: Endgame (2019) พวกเขาตั้งใจทำหนังเรื่องนี้ให้มีกลิ่นอายเป็นหนังจารชนยุค 70s ถึงอย่างนั้นหนังก็ยังเต็มไปด้วยฉาก CGI อย่างอลังการถึง 2,500 ช็อต

บริษัท Industrial Light and Magic รับผิดชอบงานเอฟเฟกต์หลังราว 900 ช็อต ส่วนที่เหลือก็กระจายไปตามบริษัทอื่น ๆ หนึ่งในเหตุผลของความเยี่ยมเพราะผู้กำกับประกาศชัดว่า CGI จะถูกนำมาใช้เพื่อทำให้หนังสมจริงมากขึ้นเท่านั้น (ไม่ได้จงใจจะใช้ CGI สร้างทุกอย่างในฉากนั้นแต่แรก) เอฟเฟกต์ของหนังจึงดูสมจริงและน่าเชื่อถือ

ชุดต้นฉบับของ Iron Man

แม้ว่าชุดของ Iron Man จะมีมากมายตามจำนวนภาคของหนังที่เพิ่มขึ้น (ทั้งในภาคแยกและหนังรวมฮีโร่) และชุดช่วงหลัง ๆ ก็เต็มไปด้วยเทคโนโลยีและความพิเศษที่ช่วยเสริมการต่อสู้ของ Tony Stark ยิ่ง ๆ ขึ้นไป แต่ชุดสูทซึ่งถูกตกแต่งด้วย CGI ในภาคหลัง ๆ แฟนหนังตาดีก็มักจะจับผิดว่า ทีมสร้างใช้ความละเอียดในการทำน้อยลง ความแนบเนียนดูไม่ได้รับความใส่ใจอย่างชัดเจน ชุดเกราะเล็กดูแบนและขาดมิติมากขึ้นในภาคต่อมา นั่นก็ทำให้แฟน ๆ หวนนึกไปถึงชุดสูทของ Iron Man ในภาคแรกสุดที่ดูสมจริง อาจจะเป็นเพราะทีมงานสร้างยังมีเวลาโฟกัสในรายละเอียดการทำ CGI อยู่ก็เป็นได้

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook