The Trial of the Chicago 7: วิบากกรรมของแกนนำ โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

The Trial of the Chicago 7: วิบากกรรมของแกนนำ โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

The Trial of the Chicago 7: วิบากกรรมของแกนนำ โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทศวรรษที่ 1960 อเมริกาเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง กระแสต่อต้านสงครามเวียดนามระอุขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่รัฐบาลของประธานาธิบดีลิน ดอน จอห์นสัน ยังคงเกณฑ์คนหนุ่มจำนวนมากเข้ากองทัพเพื่อส่งไปรบ และถูกส่งกลับมาในโลงศพเดือนละหลายร้อย ที่ชิคาโกในปี 1968 กลุ่มแกนนำผู้ประท้วงต่อต้านสงครามหลายกลุ่มรวมตัวกันเรียกร้องให้อเมริกายุตินโยบายสงครามและแสวงหาสันติภาพ เกิดการจลาจลขึ้น โดยเชื่อกันว่าตำรวจเป็นผู้เริ่มต้นการทุบตีใช้ความรุนแรง หลายเดือนหลังจากนั้น แกนนำ 7 คน บวกกับหัวหน้ากลุ่ม Black Panther อีกหนึ่งคน โดนอัยการรัฐส่งฟ้องศาลในข้อหาสมคบคิดกันก่อความไม่สงบ นำไปสู่การพิจารณาคดีอันยาวนานและเป็นหนึ่งในคดีสำคัญของการเรียกร้องสิทธิพลเมืองในช่วงเวลาอันแสนวุ่นวายในประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมของอเมริกา

นี่คือแบ็คกราวนด์ของภาพยนตร์ The Trial of the Chicago 7 ที่ออกฉายในอเมริกาไปสัปดาห์ที่แล้ว และลง Netflix ให้คนในประเทศอื่นได้ดูกัน เป็นงานเขียนบทและกำกับของ อารอน ซอร์กิน ชื่อนี้ที่คนดูหนังคุ้นเคย กับสไตล์การเขียนบทที่เข้มข้นด้วยไดอะล็อก การสร้างตัวละครที่เชือดเฉือนในอารมณ์และอุดมการณ์ หนังเรื่องใหม่ของซอร์กิน ออกมาได้จังหวะในอเมริกา เมื่อความขัดแย้งทางอุดมการณ์ โลกทัศน์ และการเรียกร้องให้เกิดการใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม ยังเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่องก่อนหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนหน้า นอกจากนี้หนังยังทำให้คนดูไทยซี้ดปากกันหลายคนพลางร้องว่า เอ้อ นี่มันเข้ากับสถานการณ์แถวๆ นี้ได้เหมาะเจาะเหมือนกัน (ถึงแกนนำฝั่งนี้มักจะถูกขังไว้ก่อนและคงไม่มีการพิจารณาคดีเผ็ดร้อนเหมือนในหนัง)

The Trial of the Chicago 7 ดูสนุกตลอดเรื่อง เพราะหนังผสมประเด็นหนักหนาอย่างที่ว่าไปข้างต้นเข้ากับความบ้าบอและสีสันของตัวละคร เลยไปถึงขั้นชวนหัว น่าสนใจว่าซอร์กินเลือกออกแบบโทนของหนังให้เกิดความเบา-หนัก สลับกันโดยเฉพาะในช่วงชั่วโมงแรก ทั้งนี้อาจจะเพื่อแสดงภาพทศวรรษ 1960 ที่สังคมอเมริกามีทั้งเรื่องการเมืองหนักหน่วงรุนแรงและมีทั้งปรากฏการณ์ฮิปปี้-บุปฝาชนยุคแสวงหาที่พี้กัญชาพลางพูดเรื่องสันติภาพ จะว่าไป โทนทีเล่นทีจริงของหนังในบางช่วงนี่แหละที่ทำให้หนังไม่ไปสุดทาง และเกิดความกระโดกกระเดกในบางขณะ ไม่เหมือนหนังที่สร้างจากบทของซอร์กินตอนเข้าฝักมากๆ อย่าง The Social Network, The West Wing หรือแม้แต่ Jobs ที่ดุเดือดตลอดทาง

หนัง The Trial of the Chicago 7 เป็นเวทีให้นักแสดงหลายคน เอ็ดดี้ เรดเมน แสดงเป็นทอม เฮย์เด้น นักประท้วงสายหล่อ-เรียบร้อยผู้ไม่นิยมการเผชิญหน้า ในการณ์นี้ต้องงัดอีโก้กับซาช่า บารอน โคเฮน ที่แสดงเป็นแอบบี้ ฮอฟแมน นักกิจกรรมเรียกร้องทางสังคมสายดุที่เน้นแทคติกป่วนตำรวจและท้าทายอำนาจ (โคเฮน เป็นนักแสดงที่คนทั่วไปรู้จักจากบท บอรัท ตลกเพี้ยนล้อเลียนการเมือง แต่คราวนี้เปิดโหมดเคร่งขรึม และทำได้ดีขนาดที่ผู้เขียนเดาว่าอาจจะมีสิทธิ์ถึงเข้าชิงออสการ์) ที่เด่นอีกคนคือ มาร์ค ไรแลนซ์ นักแสดงที่เล่นเรื่องไหนหน้าตาไม่เคยเหมือนกันเลยจนจำแทบไม่ได้ คราวนี้เล่นบททนายฝ้ายซ้ายที่ต้องช่วยเหลือผู้ต้องหาทั้ง 7 คน ที่แต่ละคนต่างไม่ลงรอยกันเลย และที่ออกมาแค่สองฉากแต่ขโมยซีนสุดๆ คือ ไมเคิล คีตัน ในบทอดีตอัยการสูงสุดที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม

เช่นกันกับหนังซอร์กินเรื่องอื่นๆ The Trial of the Chicago 7 เดินเรื่องด้วยบทพูด การต่อปากต่อคำของตัวละคร ฉาก “แอ็คชั่น” คือฉากคนเถียงกัน ซึ่งมีเยอะเลยเพราะหนังในศาลย่อมเต็มไปด้วยการถกเถียง และหนังเลือกที่จะไม่เล่าฉากสำคัญด้วยภาพ – เช่นฉากการปะทะของผู้ชมุนุมกับตำรวจ – แต่ใช้วิธีการเล่าผ่านปากคำของพยานหรือผู้ต้องหา บวกกับเทคนิคการเล่าแบบผลย้อนกลับสู่เหตุ ส่งให้คนดูต้องคาดเดาและปะติดปะต่อลำดับเหตุการณ์ ชั้นเชิงแบบนี้ทำให้เราอยู่กับหนังตลอด เป็นชั้นเชิงที่ซอร์กินเชี่ยวชาญและใช้จนเกิดผลมาหลายครั้ง

ท้ายที่สุด The Trial of the Chicago 7 เป็นหนังที่ส่งเสริมแนวคิดก้าวหน้าและเตือนสติว่า ความเท่าเทียม หลักยุติธรรม และระบบการเมืองของอเมริกา ต้องผ่านการต่อสู้ที่อาศัยความกล้าหาญของคนหลายรุ่นกว่าจะมาถึงวันนี้ และการต่อสู้ที่ว่านั้นยังไม่เคยจบสิ้นลง

ชมหนังได้ใน Netflix

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ The Trial of the Chicago 7: วิบากกรรมของแกนนำ โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook