She Dies Tomorrow รู้ยัง ความตายแพร่เชื้อได้!

She Dies Tomorrow รู้ยัง ความตายแพร่เชื้อได้!

She Dies Tomorrow รู้ยัง ความตายแพร่เชื้อได้!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความตายถือเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก และจะน่ากลัวแค่ไหน ถ้าหากความตายสามารถแพร่กระจายไปมาหาสู่กันได้ราวกับโรคระบาด!

 

อย่าดูหนังเรื่องนี้ถ้าหากคุณเป็นคนจิตตกง่าย!

เอมี่หญิงสาวที่เกิดภาวะจิตหลอน และเชื่อว่าตัวเองกำลังจะตายในวันรุ่งขึ้น เมื่อเธอเล่าเรื่องนี้ให้บรรดาคนรอบข้างฟัง ความกลัวได้แพร่พันธุ์ออกไปไม่ต่างจากเชื้อโรคร้าย ส่งผลให้พวกเขาเกิดอุปาทานหมู่ และเชื่อว่าตัวเองกำลังจะตายในวันรุ่งขึ้นด้วยเช่นกัน พวกเขากำลังจะถึงที่ตายจริงหรือไม่ หรือนี่เป็นเพียงฝันร้ายที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเอง ร่วมกันหาบทสรุปใน She Dies Tomorrow

 

นี่คือ Ideological Contagion Movie

She Dies Tomorrow นำเสนอประเด็นหลักคือเรื่องของอาการอุปาทานหมู่ ซึ่งนักวิจารณ์ที่ต่างประเทศนิยามว่าเป็น "ideological contagion" (การแพร่กระจายในเชิงความคิด / โรคระบาดทางความคิด) หากพินิจดูแล้ว She Dies Tomorrow ก็มีองค์ประกอบคล้ายหนังโรคระบาดทั่วไป หากแต่เชื้อที่ระบาดในหนัง กลับเป็นแนวคิด ความคิด เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น เป็นนามธรรม นั้นคือความกลัวตายที่แพร่กระจายออกไปในวงกว้าง ติดต่อจากคนสู่คน

She Dies Tomorrow เป็นหนังที่ถูกพูดถึงมากว่าเป็นภาพสะท้อนของภาวะฟุ้งซ่านจิตตกของคนปี 2020 (ทั้งที่หนังสร้างขึ้นในปี 2019) ในปีที่คนทั้งโลกประสบกับหายนะทั่วทุกมุมโลก เราเสพข่าวต่าง ๆ ผ่านสื่อ แล้วจมปลักกับความกลัวว่าความตายอาจอยู่ใกล้แค่เอื้อม ทั้งภัยธรรมชาติ อาชญากรรมในที่สาธารณะ โรคระบาด ความรุนแรงทางการเมือง ด้วยความที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราจึงเกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิด อุดมคติ จินตนาการ ซึ่งยิ่งช่วยกระพือความกลัวของคนเราไปในวงกว้าง นี่จึงยิ่งทำให้ She Dies Tomorrow คือหนังจิตวิทยาตลกร้ายที่เป็นหมุดหมายสำคัญของปี 2020 ตามคอนเซ็ปที่ว่าความตายเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ไม่มีอะไรน่ากลัวเท่าความคิดเรา

รู้จักเอมี่ ไชมิทต์

เอมี่ ไชมิทต์เธอคือนักแสดงสาวในแวดวงหนังอินดี้ ที่ไม่ได้มีดีแค่เพียงฝีมือการแสดง แต่ยังมีความสามารถด้านการเขียนบท และกำกับภาพยนตร์ โดยภาพยนตร์เรื่องแรกของเธอ Sun Don’t Shine ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากผู้ชม และนักวิจารณ์ในเทศกาลภาพยนตร์ SXSW ปี 2012 และหนึ่งในผลงานที่สร้างชื่อให้เธอในวงกว้างคือ ซีรีส์ขวัญใจนักวิจารณ์อย่าง The Girlfriend Experience ว่าด้วยเรื่องราวของนักศึกษาสาววิชากฎหมายที่ตัดสินใจใช้ชีวิตอีกด้านในฐานะหญิงค้าบริการชั้นสูง โดยมีจุดประสงค์ไม่ใช่เพื่อเติมเต็มความต้องการทางเพศของลูกค้า แต่เพื่อมอบประสบการณ์ดี ๆ ในฐานะแฟนสาวจำลองของลูกค้า (ดัดแปลงจากภาพยนตร์ชื่อเดียวกันปี 2009 ของ Steven Soderbergh) ที่เธอเหมาทั้งตำแหน่งโปรดิวเซอร์ เขียนบท และยังร่วมแสดงสมทบด้วย

ในส่วนของเส้นทางการแสดง เอมี่ เป็นที่รู้จักในฐานะนางเอกหนังอินดี้เรื่องดัง Upstream Color ส่วนผลงานหนังกระแสหลักของเธอก็มี Alien: Covenant และ Pet Sematary ที่เธอได้รับบทนำเป็นครั้งแรกกับการทำงานในสตูดิโอใหญ่ ซึ่งเงินค่าตัวจากหนังเรื่องนี้ก็ได้กลายมาเป็นเงินทุนในการสร้างภาพยนตร์ She Dies Tomorrow นั้นเอง

แรงบันดาลใจที่ทำให้เธอสร้าง She Dies Tomorrow

การทำงานเรื่อง She Dies Tomorrow แต่แรกเริ่มเดิมทีนั้น ผู้กำกับเอมี่ ไชมิทต์ไม่ได้ตั้งใจจะทำเป็นหนังยาว เธอแค่หาอะไรทำฆ่าเวลาจากการเขียนบทโทรทัศน์ ประกอบกับความรู้สึกที่อยากจะลุกขึ้นมากำกับงานสักชิ้น เธอจึงชวน เจย์ ไคเทล ตากล้องและ เคต ลินน์ ชีลนางเอกของเรื่อง (ซึ่งทั้งสองเป็นเพื่อนสนิทของเธอ) มาถ่ายอะไรกัน โดยใช้เวลาเพียงอาทิตย์เดียว โดยมีไอเดียคร่าว ๆ เกี่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังจะตายในวันรุ่งขึ้น ก่อนที่จะเกิดแรงบันดาลใจเขียนบทหนังทั้งเรื่องขึ้นมา หลังจากได้ถ่าย และตัดต่อฉากเหล่านั้นไปแล้ว

ไอเดียของเรื่องมาจากช่วงที่เธอเผชิญภาวะจิตตก หรือรู้สึกหมดอาลัยตายอยากเป็นบางช่วง เมื่อเธอระบายให้คนรอบข้างฟัง กลับกลายเป็นว่ามันทำให้พวกเขารู้สึกร่วมตามกันไป นอกจากนั้นเธอยังจับสภาวะของตัวเองที่เสพสื่อมากเกินไปจนเครียด เอมี่ยังเป็นคนที่ครุ่นคิดเรื่องความตาย เธอผ่านการสูญเสียคนสำคัญในชีวิตมากหลายคน ทั้ง เพื่อน ทั้งพ่อ จนเธอเริ่มชินชา และมองความตายเป็นเรื่องปกติ ไม่มีใครหลีกเลี่ยงความตายได้ เธอให้สัมภาษณ์ในรอบสื่อที่เทศกาลภาพยนตร์ SXSW ว่า โดยส่วนตัวแล้ว เธอคิดว่าหนังแทบทุกประเภทล้วนว่าด้วยความตายทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นหนังดราม่า หนังวัยรุ่นหัวเลี้ยวหัวต่อ หนังวิทยาศาสตร์ หนังสยองขวัญ แม้แต่หนังรัก มันอาจจะฟังดูมืดมน แต่ต้องยอมรับว่าการที่มนุษย์มีชีวิตอยู่อย่างจำกัดนั้น มันทำให้ช่วงเวลาต่าง ๆ มีคุณค่า เพราะหากมนุษย์อยู่เป็นอมตะ เราคงไม่ได้เรียนรู้อะไรจากการเลือกทางเดินชีวิตเลยและการได้สร้างหนังเรื่องนี้ก็เป็นการระบายความรู้สึกเหือดแห้งในใจเธอออกมา เพราะไม่ว่าอย่างไร ทุกคนก็ต้องตาย และเราควรพูดเรื่องความตายกันให้มากขึ้น

 

6 เหตุผลส่งท้ายทำไมคุณถึงต้องไปดูหนังเรื่องนี้

1.นี่ไม่ใช่หนังสยองขวัญแต่เป็นหนังจิตวิทยาตลกร้ายต่างหาก!

2.หากคุณเป็นคนกลัวตายอยู่ลึกๆ นี่อาจจะเป็นหนังที่ถูกจริตกับคุณ

3.หนังโกยคะแนนเฉลี่ยในเว็บไซต์ Rottentomatoes สูงถึง 84% และใน Metacritic สูง 80 คะแนนเต็ม 100 ซึ่งเว็บไซต์ทั้งสองได้รับการยอมรับในฐานะเว็บรวบรวมบทวิจารณ์จากนักวิจารณ์ชั้นนำทั่วโลก

4.ท่ามกลางสถานการณ์โรคโควิดกำลังระบาดอยู่ทั่วโลก She Dies Tomorrow จึงเป็นหนังที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งยังเล่นกับจิตวิทยาความกลัวของผู้คนหมู่มากที่เกิดเป็นอุปทานหมู่

5.นี่คือหนังที่หยิบเอาเรื่องราวของความตายมานำเสนออย่างเรียบง่าย ไม่เน้นความหลอน แต่ทำให้คนดูพึงระลึกได้ว่าความตายนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด เราจึงควรมีสติและทำใจยอมรับเมื่อความตายมาเยือน

6.การดูหนังเรื่องนี้ เป็นการติดตามตัวละครแต่ละครในการรับมือกับความตาย ซึ่งชวนตั้งคำถามย้อนกลับมายังคนดูว่าหากเราต้องตายพรุ่งนี้ เราจะทำอย่างไร บางคนเลือกจะทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ บางคนจมอยู่กับบาปในอดีต บางคนสติแตก บางคนตัดสินใจจบความสัมพันธ์ หนังไม่ได้ตัดสินว่าการกระทำของใครผิดหรือถูก แต่มันคือ กลไกที่เราต่างใช้รับมือกับวาระสุดท้ายของชีวิตตามเจตจำนงอิสระของเรา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook